×

‘สภาพัฒน์’ ชี้ กระตุ้นบริโภคช่วยเศรษฐกิจได้เพียงช่วงสั้นๆ ไม่ยั่งยืน แนะรัฐบาลสร้าง Policy Space เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต

20.11.2023
  • LOADING...
ดนุชา พิชยนันท์

สภาพัฒน์ปัดประเมินผลกระทบโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันรอคำวินิจฉัยจากกฤษฎีกา ชี้มาตรการกระตุ้นการบริโภคหนุนเศรษฐกิจได้เพียงระยะสั้น ไม่ยั่งยืน แนะรัฐบาลสร้างพื้นที่ทางการคลัง (Policy Space) เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต

 

วันนี้ (20 พฤศจิกายน) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยืนยันว่า ประมาณการ GDP ไทยปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 3.2% ยังไม่ได้รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป เนื่องจากยังไม่แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วจะใช้วงเงินงบประมาณเท่าไร และยังต้องรอคำวินิจฉัยจากกฤษฎีกาก่อน

 

กระนั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ยังยืนยันผลการศึกษามาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศในช่วงที่ผ่านมา เช่น โครงการคนละครึ่ง สร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจประมาณ 0.4 รอบ สะท้อนว่าการกระตุ้นการบริโภคหนุนเศรษฐกิจได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น ไม่ยั่งยืน

 

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและยั่งยืน ดนุชาระบุว่า ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนและการเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิตและการส่งออกมากกว่า

 

“ควรให้ความสำคัญกับภาคการผลิตและภาคการส่งออกมากกว่าภาคการบริโภค เนื่องจากจะเห็นได้ว่า ภาคการบริโภคเมื่อใช้จ่าย (Spend) ออกไปก็ไม่ได้หมุนอะไรมาก แป๊บเดียวก็จะหมดแรงส่งแล้ว โดยจะเห็นได้ว่า ในช่วงโควิดรัฐบาลต้องออกมาตรการมากระตุ้นการบริโภคเป็นช่วงๆ เพื่อต้องการรักษาโมเมนตัมให้เศรษฐกิจขยายตัวไปเรื่อยๆ”

 

เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุอีกว่า เหตุผลที่ควรเน้นการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ก่อนวิกฤตเมื่อปี 2540 ภาคเอกชนเคยลงทุนมากกว่าภาครัฐ แต่พอหลังปี 2540 ภาคเอกชนก็เริ่มลงทุนลดลง สะท้อนว่าภาคเอกชนไม่ได้มีการลงทุนเพื่อปรับตัวเองไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่เป็นการ Replace แทน เช่น เปลี่ยนเครื่องจักรเก่าเป็นเครื่องจักรใหม่ ขณะที่ภาครัฐกลับต้องอัดใหม่การลงทุนเข้าไปเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนเริ่มจะเท่ากันแล้ว

 

ในการแถลงข่าว GDP ไตรมาส 3 ปี 2566 สภาพัฒน์แนะว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) ให้มีความเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป 

 

รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) โดยการจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดเก็บรายได้ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลัง และเตรียมพื้นที่ทางการคลังไว้รองรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็นท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

 

โดยการสร้างพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ และการจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายของภาครัฐ

 

“ถ้าย้อนกลับไป ตอนประสบปัญหาโควิดทำให้ต้องมีการกู้เงินเพื่อพยุงและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ Policy Space หายไปค่อนข้างเร็ว ดังนั้น ทางสำนักงานจึงเห็นว่าน่าจะต้องมีการสร้าง Policy Space ให้เพียงพอ เพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในช่วงถัดไปที่อาจจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางขณะนี้

 

“ถ้าความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่ขยายวงก็ดีไป แต่ถ้าขยายวงแล้วมีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เราก็ต้องมี Policy Space ที่เพียงพอในการรองรับวิกฤต” ดนุชากล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising