เกิดเรื่อง ‘ไม่คาดฝัน’ ขึ้นในแวดวงธุรกิจและผู้บริโภคชาวไทย เมื่อ ‘เนสกาแฟ’ แบรนด์กาแฟสำเร็จรูปที่คุ้นเคยกันดี อาจต้องหายไปจากชั้นวางสินค้าและร้านค้าต่างๆ ชั่วคราว
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 เมื่อศาลแพ่งมีนบุรีมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟ ทำการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟเนสกาแฟในประเทศไทย ตามที่ระบุในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของเนสท์เล่เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
คำสั่งดังกล่าวเป็นผลมาจากคดีฟ้องร้องโดย ‘เฉลิมชัย มหากิจศิริ’ หนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่เคยผลิตเนสกาแฟในไทย ภายหลังจากที่เนสท์เล่ได้แจ้งยุติสัญญาการผลิตกับ QCP ซึ่งตามแถลงการณ์ของเนสท์เล่ระบุว่า การยุติสัญญาดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยมีคำตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการสากลรองรับ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างความกังวลในบรรดาร้านค้าต่างๆ THE STANDARD WEALTH ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย ซึ่งต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อร้านค้าและร้านกาแฟที่ใช้ผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเป็นวัตถุดิบ ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับความกังวลที่ระบุในแถลงการณ์ของเนสท์เล่เองด้วย
ทางเนสท์เล่ยืนยันว่าเคารพคำสั่งศาลและได้ปฏิบัติตาม โดยแจ้งหยุดรับคำสั่งซื้อจากร้านค้าปลีกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน พร้อมทั้งกำลังดำเนินการยื่นคัดค้านต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมต่างติดตามความคืบหน้าของคดีความและข้อพิพาททางกฎหมายนี้อย่างใกล้ชิด
แรงกระเพื่อมจากคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราว
มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จ.อุดรธานี ค้าส่งรายใหญ่ของภาคอีสาน เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ผู้จัดการภาคอีสานของเนสท์เล่ได้โทรศัพท์แจ้งข่าวมายังร้านค้าส่งในแต่ละจังหวัด เกี่ยวกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรี ที่ส่งผลให้เนสท์เล่ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์เนสกาแฟในประเทศไทยได้ในขณะนี้
มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์
มิลินทร์ อธิบายว่า ปกติแล้วเนสท์เล่จะจัดส่งสินค้าเข้าร้านค้าทุกเดือน โดยมีรอบการส่งที่ใช้เวลาประมาณ 10-15 วันจึงจะครอบคลุมทุกร้านค้า แต่จากคำสั่งศาลดังกล่าว ทำให้ในวันที่ 4 เมษายน เนสท์เล่ต้องหยุดการส่งสินค้าทั่วประเทศทันที ซึ่งสะท้อนว่ายังมีร้านค้าอีกกว่าครึ่งค่อนประเทศที่ยังไม่ได้รับการเติมสต็อกสินค้าในรอบนั้น
สำหรับร้านตั้งงี่สุนเองนั้น โชคดีที่ได้รับสินค้ารอบล่าสุดไปแล้วประมาณวันที่ 4 เมษายน แต่ก็มีร้านค้าใกล้เคียงหลายแห่งในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับของ ทำให้มีสินค้าคงคลังเหลือน้อยเต็มที
“จนกระทั่งวันที่ 9 เมษายน ผู้จัดการภาคของเนสท์เล่ได้โทรมาแจ้งทางตั้งงี่สุนอีกครั้ง โดยขอความร่วมมือให้ออกหนังสือแสดงความเสียหายทางธุรกิจที่ร้านจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้” มิลินทร์กล่าว
จากข้อมูลที่ได้รับ ในวันที่ 10 เมษายน มีรายงานว่าเนสท์เล่ได้รวบรวมหนังสือแสดงผลกระทบจากร้านค้าทั่วประเทศ เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องของศาล
‘เนสกาแฟ’ สินค้าสำคัญที่ส่งผลต่อยอดขายร้านค้า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเนสกาแฟคือสินค้าหัวหอกสำคัญ หรืออาจเรียกว่าเป็น ‘สินค้าแม่เหล็ก’ ที่ช่วยดึงดูดลูกค้าและสร้างยอดขายให้กับร้านค้าปลีกและค้าส่งทั่วประเทศ มิลินทร์ยอมรับว่า กระบวนการยื่นเอกสารต่อศาลนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร ยิ่งประกอบกับช่วงนี้เป็นเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีวันหยุดยาว
“การขาดสินค้าหลักอย่างเนสกาแฟจากคำสั่งศาลนี้ จะส่งผลกระทบต่อยอดขายของร้านค้า โดยเฉพาะถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อออกไป” มิลินทร์ให้ความเห็น
เมื่อพิจารณาภาพรวมตลาดกาแฟสำเร็จรูปในประเทศไทย (ไม่รวมกาแฟสด) ที่มีมูลค่าสูงถึง 28,000 ล้านบาท เนสกาแฟครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ราว 70% สำหรับตั้งงี่สุนเอง มียอดขายจากกลุ่มกาแฟประมาณ 18-20 ล้านบาทต่อเดือนโดยผลิตภัณฑ์เนสกาแฟถือเป็นตัวขับเคลื่อนยอดขายหลัก ตามมาด้วยแบรนด์มอคโคน่า และกาแฟเขาช่อง
ท่ามกลางสถานการณ์นี้ มิลินทร์สังเกตว่า หลังจากข่าวเริ่มแพร่สะพัด ทั้งร้านค้ารายย่อยและผู้บริโภคทั่วไปต่างเริ่มแสดงความกังวล และมีแนวโน้มที่จะเริ่มซื้อสินค้าเนสกาแฟมากขึ้น ขณะเดียวกัน ทางร้านตั้งงี่สุนก็พยายามบริหารจัดการสต็อกและจัดรายการส่งเสริมการขายให้กับกาแฟแบรนด์อื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
เมื่อถามถึงโอกาสของแบรนด์คู่แข่งในช่วงเวลานี้ มิลินทร์มองว่า “พอมีอยู่บ้าง แต่ด้วยความต้องการของตลาดที่สูงมาก บริษัทคู่แข่งอาจจะไม่ได้มีกำลังการผลิตที่เพียงพอจะคว้าโอกาสนี้ส่งสินค้าเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในตลาดได้ทั้งหมดในทันที”
สต็อกสินค้าจ่อหมดใน 15 วัน
เสียงสะท้อนจากผู้ค้าส่งรายใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ยืนยันภาพสถานการณ์ที่น่ากังวลไปในทิศทางเดียวกัน แหล่งข่าวรายนี้ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ได้รับแจ้งในช่วงเย็นของวันที่ 4 เมษายนเช่นกัน ว่าจะไม่ได้รับสินค้าเนสกาแฟที่สั่งไปก่อนหน้า อันเนื่องมาจากคำสั่งศาล ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อน เพราะปกติแล้วจะเป็นช่วงเตรียมสต็อกสินค้าเพื่อรองรับการจัดส่งในสัปดาห์ถัดไป
“โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ยอดสั่งซื้อมักจะเพิ่มขึ้น 20-30% จากปกติ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น โดยเฉพาะกาแฟกระป๋อง” แหล่งข่าวอธิบาย
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า โดยปกติแล้วยอดขายจากผลิตภัณฑ์เนสกาแฟคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของยอดขายรวมของบริษัท โดยกาแฟผงครองสัดส่วนยอดขายในกลุ่มเนสกาแฟถึง 60-70% ส่วนกาแฟกระป๋องอยู่ที่ประมาณ 50% สะท้อนถึงปริมาณการสั่งซื้อจำนวนมหาศาลจากเนสท์เล่ ซึ่งมีมูลค่าหลักร้อยล้านบาทต่อเดือน
ผลกระทบจากการหยุดส่งสินค้าดังกล่าว ทำให้ผู้ค้าส่งรายนี้ประเมินว่า สินค้าเนสกาแฟที่มีอยู่ในสต็อกขณะนี้ อาจเพียงพอต่อการจำหน่ายได้อีกประมาณ 15 วันเท่านั้น และเมื่อข่าวแพร่ออกไป ผู้บริโภคที่ชื่นชอบเนสกาแฟเป็นประจำ ก็เริ่มเข้ามาซื้อในปริมาณที่มากขึ้น “จากปกติเคยซื้อทีละถุง ตอนนี้ก็ซื้อทีละ 3 ถุง” แหล่งข่าวกล่าว
ห่วงผู้ประกอบการร้านกาแฟมากที่สุด
สถานการณ์นี้ทำให้ทางบริษัทต้องบริหารจัดการสต็อกอย่างรัดกุม โดยขณะนี้สามารถจัดสรรสินค้าเนสกาแฟให้กับลูกค้าได้เพียง 25% ของปริมาณที่สั่งซื้อเข้ามาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทได้พยายามกันสินค้าส่วนหนึ่งไว้สำหรับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการ เช่น คาเฟ่ หรือร้านกาแฟต่างๆ เป็นพิเศษ
“เหตุผลหลักคือเราเข้าใจดีว่า วัตถุดิบอย่างกาแฟมีผลโดยตรงต่อรสชาติที่เป็นหัวใจสำคัญของร้าน หากต้องเปลี่ยนกะทันหัน อาจกระทบต่อความพึงพอใจของลูกค้าปลายทาง และส่งผลให้ยอดขายของร้านเหล่านี้ลดลงได้ เราจึงกังวลกับลูกค้ากลุ่มนี้เป็นพิเศษ” แหล่งข่าวอธิบาย
แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อันที่จริง เนสท์เล่เคยแจ้งเรื่องการยุติสัญญากับผู้ผลิตเดิมมาแล้วเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจน้อยกว่าการประกาศปรับขึ้นราคาสินค้ากาแฟผงราว 8-10% ในช่วงเวลาเดียวกัน (ส่วนกาแฟกระป๋องยังไม่ปรับราคา) ทำให้ ณ เวลานั้น บริษัทและร้านค้าส่วนใหญ่หันไปให้ความสนใจกับการบริหารจัดการต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
“ผลกระทบรอบนี้จึงแตกต่างจากการขึ้นราคาอย่างสิ้นเชิง” แหล่งข่าวเน้นย้ำ “เพราะการขึ้นราคายังพอมีเวลาให้เราเตรียมตัว สั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าได้ แต่การหยุดส่งสินค้าแบบนี้ ไม่มีใครตั้งตัวทัน ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่เนสกาแฟจะขาดตลาดโดยเฉพาะหลังช่วงสงกรานต์เป็นต้นไป”
จับตาราคากาแฟทั้งตลาดอาจปรับขึ้น
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวยังประเมินแนวโน้มตลาดกาแฟโดยรวมว่า ด้วยปัจจัยด้านต้นทุน โดยเฉพาะราคาเมล็ดกาแฟที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้สูงที่ราคากาแฟในประเทศไทย อาจมีการปรับขึ้นอีกในปีนี้
คือในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นฤดูทำนาและมีการบริโภคกาแฟสูง และอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยว
“เราคาดว่าราคาอาจจะปรับเพิ่มอีกราว 5-10% ต่อรอบ” แหล่งข่าวทิ้งท้ายถึงแนวโน้มราคาที่ผู้บริโภคอาจต้องเผชิญในอนาคต
จับตาโชห่วยกระทบหนัก
แหล่งข่าวร้านค้าส่งอีกรายหนึ่ง เปิดเผยมุมมองที่น่าสนใจกับ THE STANDARD WEALTH โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ ทั้งแบบซองและแบบกระป๋อง ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจ คิดเป็นสัดส่วนยอดขายรวมสูงถึง 75% เลยทีเดียว
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ขณะนี้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ หันมาเน้นดูแลการขายในส่วนของร้านค้าปลีกเป็นหลักก่อน ซึ่งคาดว่าแนวทางนี้อาจต้องดำเนินต่อไปอีกประมาณ 3 เดือน
แหล่งข่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการสั่งซื้อสินค้าเนสกาแฟล่วงหน้าไว้จำนวนมาก เนื่องจากคาดการณ์ว่ายอดขายน่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องในช่วงหน้าร้อนนี้ ไปจนถึงฤดูทำนาในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นช่วงที่กาแฟกระป๋องจะขายดีเป็นพิเศษ
แต่การระงับคำสั่งซื้อที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน อาจส่งผลกระทบโดยตรงไปยังกลุ่มร้านค้าปลีกรายย่อย หรือร้านโชห่วย ที่พึ่งพิงการจำหน่ายกาแฟซองเป็นหลักลองแบรนด์ใหม่อาจติดใจเลย
เมื่อมองไปที่พฤติกรรมผู้บริโภคในต่างจังหวัด แหล่งข่าวให้ความเห็นว่า แม้ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ค่อนข้างสูง แต่ปัจจัยด้านราคาก็ยังคงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจไม่น้อย
“หากราคาสินค้าที่ใกล้เคียงกัน แตกต่างกันราว 5 บาท ก็อาจเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในการเลือกซื้อได้” แหล่งข่าวอธิบาย
ในสถานการณ์ที่สินค้าอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ ประกอบกับแนวโน้มการปรับราคาสูงขึ้น แบรนด์อื่นๆ ในตลาดอาจได้รับโอกาสมากขึ้น เพราะผู้บริโภคจะเริ่มมองหาและทดลองสินค้าทดแทน หากได้ลองสินค้าจากแบรนด์ใหม่แล้วพึงพอใจ พฤติกรรมการบริโภคในระยะยาวก็อาจเปลี่ยนแปลงไป
สำหรับทิศทางด้านราคา แหล่งข่าวประเมินว่า ราคาขายปลีกกาแฟกระป๋องมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ประมาณ 15 บาท อาจไปถึงระดับ 20 บาทต่อกระป๋อง เนื่องจากปัจจัยด้านต้นทุนและสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
จากการวิเคราะห์สถานการณ์เนสกาแฟในประเทศไทย เห็นได้ชัดว่านี่ไม่ใช่เพียงข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่เป็นแรงสั่นสะเทือนที่ลามไปถึงระบบนิเวศทางธุรกิจและวิถีชีวิตของผู้บริโภคทั่วประเทศ
เมื่อแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 70% ต้องหยุดจำหน่ายชั่วคราว ผลกระทบย่อมกระจายวงกว้าง ตั้งแต่ร้านโชห่วยในชนบทที่พึ่งพากาแฟซองเป็นสินค้าหลัก ไปจนถึงร้านกาแฟที่ใช้เนสกาแฟเป็นวัตถุดิบประจำ ทุกห่วงโซ่ล้วนได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
ภาวะขาดตลาดครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนของตลาดกาแฟสำเร็จรูปในไทย เปิดโอกาสให้คู่แข่งรายอื่นเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ในใจผู้บริโภค หากช่วงนี้แบรนด์อื่นทำการตลาดและส่งเสริมการขายอย่างชาญฉลาด ความภักดีต่อแบรนด์ที่สร้างมาหลายทศวรรษอาจถูกท้าทายได้ เพราะเมื่อผู้บริโภคถูกบังคับให้เปลี่ยนพฤติกรรม โอกาสที่จะไม่กลับมาสู่ความเคยชินเดิมก็มีอยู่ไม่น้อย
ทั้งนี้ บทเรียนสำคัญของวิกฤตครั้งนี้คือการพึ่งพิงแบรนด์เดียวมากเกินไปย่อมสร้างความเปราะบางให้กับระบบ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าที่พึ่งยอดขายจากสินค้าตัวเดียว หรือผู้บริโภคที่ผูกติดกับรสชาติที่คุ้นเคย วิกฤตเนสกาแฟครั้งนี้อาจเป็นตัวเร่งให้ตลาดปรับตัวสู่ความหลากหลายมากขึ้น และเป็นโอกาสสำหรับผู้เล่นรายใหม่ที่พร้อมจะฉกฉวยช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไปสู่การเติบโตในอนาคต