×

ป.ป.ช. ชี้แนวทางรอด ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ปัญหา หลังดัชนีรับรู้ทุจริต​ปี 62 ไทยได้​คะแนนเท่าเดิม

24.01.2020
  • LOADING...

วันนี้ (24 มกราคม) วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2562 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ได้อันดับที่ 1 ด้วยคะแนนสูงสุด 87 คะแนน ส่วนประเทศไทยได้ 36 คะแนน เป็นอันดับที่ 101 และอยู่ในอันดับที่ 6 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศสิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุดคือ 85 คะแนน

 

แม้ว่าค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยในปี 2562 เท่ากับคะแนนในปี 2561 แต่เพิ่มขึ้น 2 อันดับ ซึ่งพบว่าจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง ไทยได้คะแนนสูงขึ้น 3 แหล่ง คะแนนเท่าเดิม 4 แหล่ง คะแนนลดลง 2 แหล่ง ดังนี้ 

 

1. แหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนสูงกว่าปี 2561 มี 3 แหล่งข้อมูลคือ


1.1 แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ปี 2562 ได้ 45 คะแนน ปี 2561 ได้ 41 คะแนน (เพิ่มขึ้น 4 คะแนน) IMD สำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย 4 ด้านคือ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยสอบถามความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทยว่ามีการติดสินบนและคอร์รัปชันหรือไม่ ด้วยคะแนน 45 และเพิ่มขึ้นถึง 4 คะแนน น่าจะเกิดจากการรับรู้ถึงความจริงจังของภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริตที่มีมากขึ้น

 

1.2 แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ปี 2562 ได้ 38 คะแนน ปี 2561 ได้ 37 คะแนน (เพิ่มขึ้น 1 คะแนน) PERC สำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคม 2562 จากนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศ โดยให้ประเมินระดับปัญหาการทุจริตในประเทศหรือในธุรกิจ คะแนนการรับรู้ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่านักลงทุนยังคงเห็นว่าปัญหาการทุจริตในประเทศไทยยังเป็นความเสี่ยงสูงต่อการประกอบธุรกิจ

 

1.3 แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF) ปี 2562 ได้ 43 คะแนน ปี 2561 ได้ 42 คะแนน (เพิ่มขึ้น 1 คะแนน) WEF สำรวจประมาณเดือนมกราคมถึงมิถุนายนของทุกปี ในมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุดในการทำธุรกิจ 5 ด้านคือ การคอร์รัปชัน ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โดยถามเกี่ยวกับการจ่ายสินบน เช่น การนำสินค้าเข้าหรือส่งออก การทำสัญญาและออกใบอนุญาต และการจ่ายโอนเงินงบประมาณของรัฐไปสู่นิติบุคคล กลุ่มบุคคล หรือบุคคล คะแนนการรับรู้ดังกล่าว สะท้อนถึงอุปสรรคการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยลดน้อยลง ซึ่งอาจจะสืบเนื่องจากการประกาศให้พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้และกำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูล

 

2. แหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนเท่ากับปี 2561 มี 4 แหล่งข้อมูลคือ Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF-TI) ได้ 37 คะแนน, Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) ได้ 37 คะแนน, Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้ 35 คะแนน และ PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน PRS คะแนนเท่าเดิม ซึ่งทั้ง 4 แหล่งข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการให้สินบน การตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ และความโปร่งใสที่เป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศยังมีสถานการณ์ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา

 

3. แหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนลดลงจากปีก่อน มี 2 แหล่งข้อมูลคือ

 

3.1 แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) ปี 2562 ได้ 38 คะแนน ปี 2561 ได้ 40 คะแนน (ลดลง 2 คะแนน) WJP รวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน 2562 ประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้ 8 หลักเกณฑ์ เน้นเรื่องหลักนิติธรรม แต่ปีที่ผ่านมาองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) นำเกณฑ์ด้านการปราศจากคอร์รัปชันและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากการใช้ทรัพย์สินของข้าราชการสายบริหาร ตุลาการ ตำรวจ ทหาร และสภานิติบัญญัติ โดย 38 คะแนนที่ลดลงเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชนมองว่ากลุ่มข้าราชการยังคงใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน และมีแนวโน้มว่าจะใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตนมากขึ้น

 

3.2 แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) ปี 2562 ได้ 20 คะแนน ปี 2561 ได้ 21 คะแนน โดย V-DEM วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ด้วยคำถามที่ว่าการทุจริตทางการเมืองเป็นที่แพร่หลายมากน้อยเพียงใดใน 4 กลุ่มคือ ภาครัฐ ผู้บริหารระดับสูง ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ คะแนน 20 คะแนน และลดลงไปอีกจากปี 2561 เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญมองว่าแม้เพิ่งผ่านการเลือกตั้งใหม่แล้ว แต่สภาพพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ในการเรียกรับผลประโยชน์หรือสินบน หรือการเบียดบังเงินงบประมาณและทรัพยากรภาครัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องยังคงมีอยู่

 

ดังนั้นในการดำเนินการเพื่อเพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตและการลดปัญหาการทุจริต จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกันสร้างสังคมที่ไม่ทนกับการทุจริต โดยรัฐบาลต้องมีเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ภาครัฐต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ภาคเอกชนต้องไม่ให้ความร่วมมือในการให้สินบนทุกรูปแบบ และมีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ ภาคประชาสังคมต้องมีความตื่นตัว ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉยต่อการทุจริตทุกรูปแบบ โดยร่วมกันเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งนี้เพื่อสร้างค่านิยมสุจริต ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ‘ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต’

 

สำหรับในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากปริมาณคดีเข้าและที่ดำเนินการแล้วเสร็จ

 

​จากผลคะแนนการรับรู้การทุจริตเป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญที่ภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และพลเมืองไทยทั้งประเทศจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง เนื่องจากการทุจริตนับเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ ดังนั้นเพื่อให้สังคมไทยก้าวข้ามสภาวะความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันอย่างมีประสิทธิผล คือการที่ทุกภาคส่วนจะต้องแสดงความจริงใจ และปรับฐานความคิดในการไม่เพิกเฉยกับการทุจริตในทุกระดับ  

 

​ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561-2580) จะมีการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันทุกภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งภารกิจด้านการป้องกันการทุจริต ภารกิจด้านการปราบปรามการทุจริต และภารกิจด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำแผนงาน/โครงการในการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X