×
SCB Omnibus Fund 2024

ค่าโง่ 600 ล้านบาท? บทเรียนราคาแพงของ ‘กสทช.-กกท.’ กับ ฟุตบอลโลก World Cup 2022 ที่เสียงเป่านกหวีดกำลังดังขึ้น

19.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ดูเหมือนว่าผู้ชนะในรายการดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น และคล้ายจะเพิ่งเริ่มต้น เพราะมหากาพย์การต่อสู้ระหว่าง ‘บอร์ดกสทช.’ และ ‘กกท.’ ดูเหมือนว่าเสียงเป่านกหวีดกำลังดังขึ้น
  • บอร์ด กสทช. ได้จัดประชุมวาระพิเศษ 9 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งมีมติเสียงข้างมาก อนุมัติเงินกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท เทียบเคียงกับค่าลิขสิทธิ์เมื่อ 4 ปีก่อนที่ กสทช. และสนับสนุนและเทียบอัตราลิขสิทธิกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงได้อนุมัติให้ กกท. ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายให้คนไทยได้ดูผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม 
  • แต่แล้วความโกลาหลก็เริ่มขึ้นตั้งแต่นัดเปิดสนามยังไม่เตะ เมื่อมีข่าวว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรวมตัวกันร้องเรียนมายัง กสทช. ว่า กกท. ได้ขายลิขสิทธิ์ต่อไปยัง ‘True’ และให้เอกชนรายดังกล่าวถือเอ็กซ์คลูซีฟในแพลตฟอร์ม OTT และ IPTV อีกทั้งยังได้เลือกถ่ายทอดก่อน 32 แมตช์ 
  • ท้ายที่สุดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ปิดฉากลง ก็ดำเนินไปพร้อมกับผู้ให้บริการ IPTV ไม่สามารถถ่ายทอดบอลโลกได้ และเมื่อบอร์ด กสทช. ได้มีมติเรียกเงินคืนจาก กกท. ไปแล้ว บทสรุปของเรื่องนี้อาจจะเหมือนที่หลายคนคาดการณ์กันเอาไว้ว่าต้องไปจบที่ศาลอย่างแน่นอน

การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022 ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2565 ที่ประเทศกาตาร์ ปิดฉากลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยการที่ ‘อาร์เจนตินา’ เป็นแชมป์ในครั้งนี้ 

 

 

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ดูเหมือนว่าผู้ชนะในรายการดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น และคล้ายจะเพิ่งเริ่มต้น เพราะมหากาพย์การต่อสู้ระหว่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ ‘บอร์ด กสทช.’ และ ‘กกท.’ หรือการกีฬาแห่งประเทศไทย ดูเหมือนว่าเสียงเป่านกหวีดกำลังดังขึ้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

หากเราย้อนไทม์ไลน์กลับไปสู่ปฐมบทของเรื่องดังกล่าวนั้น จะพบว่าถูกจุดประเด็นจากพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่ออกมาประกาศเสียงดังฟังชัดว่า คนไทยจะต้องได้ดูฟุตบอลในครั้งนี้ แม้ตอนนั้นจะยังไม่มีเอกชนรายใดเสนอตัวเป็นโต้โผในการถ่ายทอดสด แต่รัฐบาลได้มอบหมายให้ สำนักงาน กสทช. ต้องเอางบประมาณมาสนับสนุนให้คนไทยได้ดูบอลโลกอย่างทั่วถึง โดยมูลค่าลิขสิทธิ์ ณ วันนั้น ได้รับแจ้งจากเอเยนต์ว่า พร้อมขายให้ไทยในมูลค่า 1,600 ล้านบาท

 

ดึงเงินกองทุน กทปส. ถ่ายทอด

เมื่อเจ้าภาพถูกเปลี่ยนมือมาเป็น กสทช. คำถามคือ แล้ว กสทช. จะเอาเงินจากไหนมาซื้อลิขสิทธิ์ดังกล่าว ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ เอาเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) 

 

โดยบอร์ด กสทช. ได้จัดประชุมวาระพิเศษ 9 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งมีมติเสียงข้างมาก อนุมัติเงินกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท เทียบเคียงกับค่าลิขสิทธิ์เมื่อ 4 ปีก่อนที่ กสทช. สนับสนุน และเทียบอัตราลิขสิทธิกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงได้อนุมัติให้ กกท. ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายให้คนไทยได้ดูผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม 

 

หากพิจารณาถึงเนื้อหาใจความแล้วในเจตนารมณ์ของกองทุน กทปส. ที่ระบุว่า เป็นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตามมาตรา 52 (1) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ตามมาตรา 36 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

 

ดังนั้น กสทช. สามารถดำเนินการได้ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

 

อีกทั้งการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายเป็น 1 ใน 7 รายการที่ กสทช. กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have) จำนวน 7 รายการ และฟุตบอลโลกก็รวมอยู่ในกฎดังกล่าว ทำให้คนไทยได้ดูฟรีทุกแพลตฟอร์ม จากนั้น จึงได้มีการลงนาม MOU ระหว่าง กสทช. และ กกท.

 

 

IPTV จอดำ-ทีวีดิจิทัลป่วน

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวในวันเซ็น MOU กับ กกท. เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมาว่า หลังจากที่ประชุมบอร์ด กสทช. โดยหากเราพิจารณาในรายละเอียดตามข้อตกลงความร่วมมือระบุให้ กกท. ดำเนินการร่วมกับกองทัพบกและโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) 

 

ทั้งนี้ การสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ และการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงาน รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเข้าร่วมทุนการซื้อลิขสิทธิ์ เพื่อเป็นการสนับสนุนการรับชมรายการกีฬาที่สำคัญเพื่อประโยชน์สาธารณะ 

 

แต่แล้วความโกลาหลก็เริ่มขึ้นตั้งแต่นัดเปิดสนามยังไม่เตะ เมื่อมีข่าวว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรวมตัวกันร้องเรียนมายัง กสทช. ว่า กกท. ได้ขายลิขสิทธิ์ต่อไปยัง ‘True’ และให้เอกชนรายดังกล่าวถือเอ็กซ์คลูซีฟในแพลตฟอร์ม OTT และ IPTV อีกทั้งยังได้เลือกถ่ายทอดก่อน 32 แมตช์ 

 

แต่ต่อมาก็มีการเพิ่มให้ทีวีดิจิทัลอื่นได้ถ่ายทอดแบบคู่ขนานกันไป ตามที่ True ได้สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์เพิ่มให้ กกท. อีก 300 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถถ่ายทอดได้เลยคือ ผู้ให้บริการกล่อง IPTV ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานอยู่ราว 1 ล้านราย โดยมี AIS PLAYBOX เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ผ่านกล่อง AIS PLAY 

 

ซึ่งแม้ว่า AIS ถือเป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ก็ตาม ซึ่งต้องได้รับสิทธิถ่ายทอดตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. และตาม MOU ที่ กสทช. ทำไว้กับ กกท. หลังจากนั้น จึงมีการร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาโดยทาง True ได้ยื่นฟ้องห้ามไม่ให้ AIS ถ่ายทอดฟุตบอล ทำให้ลูกค้าที่ดูผ่านแพลตฟอร์มต้องจอดำไปโดยปริยาย

 

มติเอกฉันท์เรียกเงินคืน 600 ล้านบาท

ถึงฟุตบอลครั้งนี้จะมีม้ามืด และทีมเต็งพลิกล็อกตกรอบไปหลายราย แต่การฟ้องร้องต่อสู้กันของ กสทช., กกท. และเอกชนค่ายมือถือรายใหญ่ 2 รายก็ขับเคี่ยวดำเนินไปไม่แพ้กัน 

 

เมื่อโดนเสียงประณามและคำครหาจากสังคมไม่ไหว บอร์ด กสทช. ก็มีการจัดประชุมวาระพิเศษอีกครั้ง โดยมีมติเอกฉันท์ 6 ต่อ 0 เสียง ให้เรียกเงินคืนจาก กกท. จำนวน 600 ล้านบาทภายใน 15 วัน เพราะความผิดได้ปรากฏแล้วว่า กกท. ได้ทำผิด MOU กับ กสทช. และตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งไม่สามารถดำเนินการออกอากาศได้ครอบคลุม 

 

และการถ่ายทอดได้กระทบต่อสิทธิหรือการดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. และจากการพิจารณาแล้วเห็นว่า การบริหารจัดการสิทธิของ กกท. ในลักษณะที่มีการมอบสิทธิแต่เพียงผู้เดียวให้เอกชนบางรายดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก อันเป็นเหตุให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ให้บริการแก่ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. ไม่สามารถนำพาสัญญาณรายการดังกล่าวไปเผยแพร่ Must Have ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปนั้น จึงให้ กกท. ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่ กสทช.

 

 

แก้เก้อยินดีให้ถ่ายขอแค่แจ้ง

หลังจากนั้น กกท. ได้ส่งหนังสือยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด MOU แต่อย่างไร และได้เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการ IPTV สามารถร่วมถ่ายฟุตบอลโลกนัดที่เหลือ 4 แมชต์สุดท้ายไปจนถึงนัดชิงชนะเลิศ แต่ขอให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายมาให้ กกท. จำนวน 22 ล้านบาท 

 

แต่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา True ได้ออกแถลงการณ์ยินดีร่วมมือกับผู้ให้บริการระบบ IPTV ทุกรายถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2 แมตซ์สุดท้าย ทั้งคู่ชิงชนะเลิศ ระหว่างฝรั่งเศส-อาร์เจนตินา และคู่ชิงที่ 3 ระหว่าง โมร็อกโก-โครเอเชีย ผ่านกล่อง IPTV โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าตอบแทน เพื่อให้คนไทยทั่วประเทศได้รับชมโดยไม่มีข้อจำกัด แต่ดูเหมือนเรื่องยังไม่จบ เพราะผู้ประกอบการ IPTV ไม่สามารถถ่ายทอดสดได้ตามที่ True กล่าวอ้าง

 

เนื่องจากในวันเดียวกัน บริษัท ซุปเปอร์บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ SBN ผู้ให้บริการ IPTV ผ่านกล่อง AIS PLAYBOX สวนกลับทันควันว่า บริษัทยืนยันต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล ยังไม่สามารถถ่ายทอดบอลโลกได้ เนื่องจาก SBN ได้ส่งหนังสือสอบถาม ถามไปยัง 3 หน่วยงาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญา, True และ กกท. หลังจากที่ True ประกาศให้ IPTV ฉายบอลโลกได้แบบมีเงื่อนไข 

 

ตามเอกสารระบุว่า ถึงขณะนี้ SBN เองก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากศาลทรัพย์สินทางปัญญา, กกท. และกลุ่มทรู แต่อย่างใด ดังนั้น บริษัทฯ จึงยังไม่สามารถดำเนินการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ได้

 

ดังนั้น การปิดฉากฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ปิดฉากลง ก็ดำเนินไปพร้อมกับผู้ให้บริการ IPTV ไม่สามารถถ่ายทอดบอลโลกได้ และเมื่อบอร์ด กสทช. ได้มีมติเรียกเงินคืนจาก กกท. ไปแล้ว บทสรุปของเรื่องนี้อาจจะเหมือนที่หลายคนคาดการณ์กันเอาไว้ว่าต้องไปจบที่ศาลอย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising