×

ก๊าซธรรมชาติ อาจเป็นผู้คุมเกม Data Center และ AI ไทยมี ไฟฟ้าสีเขียว พร้อมรองรับแค่ไหน?

08.05.2024
  • LOADING...
ก๊าซธรรมชาติ และ ไฟฟ้าสีเขียว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อนาคตภาคพลังงาน โดยเฉพาะเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ จะมีบทบาทและเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญสำหรับเทคโนโลยี, คลาวด์, Data Center และการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) 

 

เพราะแม้แต่ประเทศมหาอำนาจผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติเองอย่างสหรัฐฯ ก็ยังกังวลว่า การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นจาก AI จะทำให้ดีมานด์ก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ โดยสหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีก 8.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจไม่เพียงพอ

 

รายงานวิเคราะห์จาก Wells Fargo ระบุว่า บริษัทพลังงานสหรัฐฯ ต่างเร่งเตรียมแผนเพิ่มกำลังผลิตไฟสำรองเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ AI และยังไม่นับรวมไปถึงการขยายตัวของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี่ รวมถึงการใช้พลังงานไฟฟ้า สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศ 

 

โดยเฉพาะการใช้ AI โลกยิ่งผลักดันการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้ความต้องการไฟฟ้าเติบโต 20% ภายในปี 2030 เฉพาะการใช้งานเพียงจาก Data Center AI ในอุตสาหกรรมเดียวในสหรัฐฯ คาดว่าจะสูงถึง 323 เทระวัตต์ชั่วโมง 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

น่าสนใจว่าดีมานด์จาก AI เพียงอย่างเดียวนั้นสูงกว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อปีของมหานครนิวยอร์กในปัจจุบันที่ 48 เทระวัตต์ชั่วโมง เรียกได้ว่าสูงถึงกว่า 7 เท่าเลยทีเดียว 

 

ขณะที่ Goldman Sachs คาดการณ์ว่าภายในสิ้นทศวรรษนี้ AI จะทำให้ดีมานด์ไฟฟ้าสูง 8% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา 

 

แน่นอนว่าสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงหลักๆ จากก๊าซธรรมชาติ 60% ของการเติบโตของอุปสงค์พลังงานจาก Data Center และ AI และอีกส่วนที่เหลือเป็นพลังงานหมุนเวียน 40%  

 

ความท้าทายพลังงานหมุนเวียน

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทเทคโนโลยีจะมุ่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนได้ก็จริง แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ‘ที่ไม่เสถียรมากพอ’ จะสร้างความกังวลว่าจะทำให้เกิดกระแสไฟตก หรือติดๆ ดับๆ จึงยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ

 

“ผู้ผลิตพลังงานหลายรายในสหรัฐฯ จึงมองว่าก๊าซธรรมชาติจะเป็นตัวเลือกหลักที่ตอบโจทย์ความต้องการของ AI ที่พุ่งขึ้นในช่วงเวลาที่พลังงานหมุนเวียนขาด และคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 28% ภายในปี 2030” 

 

แต่เมื่อความต้องการพลังงานนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นท่ามกลางกฎกติกาโลกที่มุ่งลดคาร์บอน จึง ‘ท้าทาย’ บรรดาบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ใช้ไฟฟ้ามหาศาล ไม่ว่าจะเป็น Google Meta หรือ Microsoft โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ที่ได้ประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 

 

ไฟฟ้าสีเขียวกับโอกาสดึงดูด Big Tech ลงทุนไทย

 

หากมองมาที่ประเทศไทย แม้มีไฟฟ้าสำรองเพียงพอ แต่โดยทั่วไปแล้วการสร้าง Data Center​ หนึ่งแห่งนั้นอาศัยการใช้ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นพลังงานความเย็นของก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) ไม่น้อย ซึ่งประเทศไทยยังคงนำเข้า LNG เป็นหลัก

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ Microsoft ประกาศปิดดีลลงทุน Data Center ในไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในงาน ‘Microsoft Build: AI Day’ ในตอนหนึ่งว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะจัดหากำลังการผลิต ‘พลังงานสีเขียว’ ใหม่มากกว่า 9 กิกะวัตต์ผ่านระบบ ‘Utility Green Tariff’ (UGT) ภายในปี 2030 ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจมั่นใจได้ว่าการลงทุนในไทยจะสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่ายและในราคาที่เข้าถึงได้ 

 

โดยรัฐบาลพร้อมร่วมกับบริษัทดิจิทัลชั้นนำอย่าง Microsoft สร้าง Sandbox แห่งความยั่งยืนที่มุ่งส่งเสริมนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม 

 

ไฟฟ้าสีเขียวคืออะไร สำคัญกับไทยอย่างไร

 

หากให้นิยามง่ายๆ ของ UGT ก็คือ การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ซึ่งจะมีการออกใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า โดยผู้ที่ต้องการใช้บริการไฟฟ้าสีเขียวสามารถเลือกได้ 2 รูปแบบ คือ

 

  • ไฟฟ้าสีเขียว (UGT1)

 

จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมที่รัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งจะมีค่าบริการส่วนเพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามบิลค่าไฟปกติ พร้อมกับค่าใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียว (REC) ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถสมัครขอรับบริการในปริมาณต่ำกว่า 1 REC ได้ (1 REC = 1,000 หน่วย) และมีระยะเวลาการขอรับบริการสั้น (0-1 ปี) เหมาะกับผู้ใช้ไฟฟ้าในปริมาณน้อย

 

  • ไฟฟ้าสีเขียว (UGT2)

 

กลไกนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำ ซึ่งประเทศไทยอยู่ระหว่างประชาพิจารณ์ เบื้องต้นคาดว่าอยู่ที่ 4.55 บาทต่อหน่วย แพงกว่าราคาค่าไฟปกติเล็กน้อย

 

ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2023 ของตลาด Data Center ที่ใหญ่ที่สุด ของโลกอยู่ที่รัฐเวอร์จิเนียตอนเหนือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกำลังการผลิตมากกว่า 2,500 เมกะวัตต์ รองลงมาคือปักกิ่ง จากจีนเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 โดยมีกำลังการผลิตต่ำกว่าเพียงเล็กน้อยที่ 2,000 เมกะวัตต์

 

อย่างไรก็ตาม การที่ Microsoft เลือกลงทุนในประเทศที่สามารถจัดหาพลังงานเพียงพอ โดยเฉพาะพลังงานสีเขียวได้ สำหรับไทยแล้ว กระทรวงพลังงานระบุว่า ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความพร้อม UGT ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ นั้น นอกจากจะเป็นอาวุธที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ (FDI) ลดการกีดกันภาษีคาร์บอน จะยิ่งสร้างแต้มต่อและโอกาสที่ดีกับไทยในวันนี้และอนาคต ความหวังในการผลักดันให้ไทยเป็น ASEAN Data Center​ Hub จะสำเร็จเร็ววันขึ้นก็เป็นได้?

 

อ้างอิง:  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising