×

สิ่งที่พ่อไม่ได้บอกและก้าวที่ไกลกว่าของ ‘เก็ท ณัฐนัย’ ผู้บริหารอินเตอร์ลิ้งค์

06.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ลูกชายคนเดียวของครอบครัวที่รับช่วงต่อธุรกิจพันล้านในวัย 24 ปี กับความท้าทายในการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นด้วยตัวเองใน 5 ปี
  • ต่อยอดธุรกิจจากกำไร 80 ล้านบาท เติบโตเป็น 260 ล้านบาท ด้วยการตลาดและบริหารจัดการ
  • THE STANDARD รวบรวมสิ่งที่เขาได้รับถ่ายทอดจากพ่อ และสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตนเอง รวมถึงความคาดหวังที่มีต่อลูกในอนาคต

ถ้าลองนึกภาพตัวเองในวัย 29 ปี จะเป็นอดีตหรืออนาคตของใครก็ตามที เราเห็นอะไรบ้าง? เราทำอะไรอยู่? คนจำนวนมากเติบโตในหน้าที่การงาน เป็นผู้จัดการ เป็นหัวหน้าทีม บางคนก็เริ่มทำธุรกิจของตนเองมาได้สักพัก รุ่งบ้าง ร่วงบ้าง

 

ในวัยเดียวกัน เก็ท-ณัฐนัย อนันตรัมพร นำบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL เข้าตลาดหลักทรัพย์สำเร็จ และยังคงเป็นซีอีโอที่อายุน้อยที่สุดที่ทำได้ในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยจนถึงทุกวันนี้

 

เพราะเขาเป็นลูกคนรวย? เพราะเขามีโอกาสมากกว่าคนอื่น? เพราะเขามีพ่อผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจเป็นผู้ผลักดัน? สิ่งเหล่านี้เป็นทัศนะจากกรอบความคิดเล็กๆ ที่เลือกมองสำหรับคนที่ไม่รู้จักเขาดีพอ และอาจไม่รู้ว่าเขาเป็นผู้เปลี่ยนโฉมหน้ากิจการครอบครัวสู่ธุรกิจหลายพันล้านด้วยตัวเขาเอง เก็ทถ่ายทอดเรื่องราวของตนเองผ่านสื่อมาพอสมควร และเขาเล่า ‘สิ่งที่พ่อไม่ได้บอก’ ให้กับสำนักข่าว THE STANDARD ฟัง

 

 

เดินออกจากรอยเท้าของพ่อไปสู่จุดที่ไกลกว่า

สิ่งที่ชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับเรื่องนี้ในฐานะลูกชายคนเดียวของครอบครัวคนจีนอย่างเก็ท ณัฐนัย มองออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือตัวเลขผลประกอบการ ซึ่งวันที่เขาเข้ามาช่วยธุรกิจของพ่อด้วยวัย 24 ปีนั้น บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณรายใหญ่ ก่อตั้งโดยคุณพ่อคือ สมบัติ อนันตรัมพร อดีตเด็กต่างจังหวัดชาวพิจิตรที่สร้างเนื้อสร้างตัวจากเงินทุนไม่กี่แสนบาทจนรายได้เติบโตเป็นพันล้านบาท

 

แต่เก็ทมองไปไกลกว่าสิ่งที่พ่อทำ เมื่อเขาเริ่มเข้ามาช่วยกิจการครอบครัวเมื่อบริษัทมีกำไรที่ 80 ล้านบาทต่อปี และไม่มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีก เขาจึงใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดและบริหารจัดการธุรกิจเข้ามายกระดับองค์กร ลุยเอง ทำเองจนสามารถเพิ่มกำไรเป็น 260 ล้านบาทได้ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเติบโตต่อเนื่องถึง 30% สิ่งที่วัดฝีมือคือการก่อตั้งบริษัทลูกคือ บริษัท อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาด้วยตัวเอง และทุ่มเทสร้างธุรกิจจนสามารถนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งกระบวนการนี้ผู้ที่ติดตามประเด็นธุรกิจและการลงทุนจะเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และใช้เวลานานทีเดียว ล่าสุดคาดการณ์ว่ากำไรในปี 2560 ของอินเตอร์ลิ้งค์จะแตะ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถของเขาเองล้วนๆ

 

“ถ้าเราคิดจะหลอกลูกค้า เราจะหลอกได้ครั้งเดียวเท่านั้น ความจริงใจเป็นเรื่องสำคัญ อย่าทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าโดนเอาเปรียบ เวลาคุยก็บอกดีลที่ดีที่สุดไปเลย เรารู้ต้นทุนของเราอยู่แล้ว และรู้ว่าเราต้องการกำไรเท่าไรจึงจะเหมาะสม” นี่คือสิ่งที่พ่อสอนเขามาโดยตลอด

 

แม้ตัวเลขผลประกอบการจะสะท้อนว่าเขาทำธุรกิจได้ไกลกว่าที่พ่อทำ แต่เขาก็ยอมรับว่ายังมีเรื่องที่ทำไม่ได้แบบที่พ่อทำเหมือนกัน

 

“ถ้าย้อนเวลาให้ผมเริ่มธุรกิจแบบที่พ่อทำเมื่อหลายสิบปีก่อนผมก็คงลำบาก เพราะผมไม่เก่งในการหาของ ทำไม่ได้เหมือนพ่อ ยุคนั้นการหาและเข้าถึงวัตถุดิบเพื่อทำตลาดเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ใครหาได้ก่อนหรือหาได้มากกว่าก็จะผูกขาดหรือมีอำนาจต่อรองมากกว่า แต่ยุคของผม ของพวกนั้นจะหาที่ไหนก็ได้ มีข้อมูลเต็มไปหมด สำคัญคือการอ่านเกมธุรกิจ มองจังหวะให้ถูก และจับคู่ให้เกิดดีลที่ดีที่สุด”

 

สมดุลชีวิตส่วนของครอบครัวและการช่วยเหลือสังคมก็เป็นสิ่งที่เขายังสู้พ่อไม่ได้เลย ทุกวันนี้พ่อของเขายังให้เวลากับลูก ขับรถส่งน้องสาวไปโรงเรียนทุกวัน และยังออกไปทำกิจกรรมการกุศลเดือนละ 1-2 ครั้ง ขณะที่เขามัวแต่ยุ่งกับงานจนแทบจะไม่ได้ทำเรื่องอื่นๆ นอกจากการดูแลตนเอง

 

“ผมไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมปีละ 1-2 ครั้งเองมั้ง”

 

เขาและพ่อเชื่อเหมือนกันว่าความสำเร็จของคนคนหนึ่งนั้นดูได้จาก 3 ส่วนคือ ชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และธุรกิจที่ทำ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายที่จะต้องสมดุล 3 สิ่งนี้ให้ดี จะขาดส่วนไหนไปไม่ได้

 

 

สิ่งที่พ่อไม่ได้สอน สิ่งที่เขารู้ และสิ่งที่จะสอนลูก

มี 3 เรื่องที่เขาค้นพบจากการทำงานด้วยตัวเอง เรื่องแรกคือการเลี้ยงดูลูกน้องแบบคนในครอบครัว ซึ่งเขามองว่าคนเป็นเจ้าของบริษัทต้องให้ความอบอุ่นกับคนในองค์กร ไม่ใช่แค่จ่ายเงินเดือน บ่อยครั้งที่เขาใช้วิธีให้วันหยุดเพิ่มแทนการจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาหรือโอที เพราะมองว่าวันหยุดสำหรับการใช้ชีวิตกับครอบครัวของพนักงานมีค่ามากกว่าเงิน

 

เรื่องที่สองคือเขาจะไม่ทำงานบนหอคอยงาช้าง ซึ่งตัวเขากล้าลุย กล้าลงพื้นที่ ลำบากไปกับลูกน้องมากกว่าที่พ่อเคยทำเสียอีก

 

“ผมเคยไปไหว้ขอร้องยามที่ห้างแห่งหนึ่งตอนห้าทุ่มเพื่อช่วยให้ลูกน้องเดินสายเคเบิลเข้าไปได้ หรือตอนทำโปรเจกต์ต่างประเทศผมก็ออกหน้าไปให้เจ้าหน้าที่เขาด่าเอง ผมรับเอง ลูกน้องไม่ต้อง”

 

ส่วนเรื่องสุดท้าย เขาใช้ประโยชน์จากเครือข่ายคนทำธุรกิจนัดพบปะ กินข้าวกับลูกค้าและคู่ค้า สร้างความสัมพันธ์กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ

 

“เครือข่ายของคนรุ่นเราเชื่อมโยงกันง่ายขึ้น สมัยพ่อผมต้องเป็นคนพื้นที่เดียวกันถึงจะคุยกันง่าย สมัยนี้จบโรงเรียนเดียวกัน อยู่สังคมที่สนใจเรื่องเดียวกัน หรือเป็นเพื่อนของเพื่อนที่รู้จักก็สามารถคุยธุรกิจกันได้แล้ว ต่างจากเมื่อก่อน”

 

จากมุมของลูกสู่มุมของว่าที่คุณพ่อเก็ท ณัฐนัย ซึ่งแต่งงานแล้วและวางแผนที่จะมีลูกในปี 2561 นี้ เขายอมรับว่าสุดท้ายคนเป็นพ่อก็มักจะคาดหวังให้ลูกเป็นในสิ่งที่เขาอยากให้เป็นแบบเดียวกับที่พ่อคาดหวังในตัวเขา สิ่งสำคัญคือการไม่ทำให้ลูกเสียคน ลูกต้องได้เรียนรู้ชีวิต หากลูกไม่ได้เกิดมาเพื่อทำธุรกิจ แต่ถนัดในงานด้านอื่น เขาก็จะไม่บังคับให้ลูกมารับช่วงต่อ โดยจะให้มืออาชีพที่เหมาะสมกับงานมาบริหารแทน นี่คือมุมของคนเป็นลูกและว่าที่คุณพ่อในเวลาเดียวกัน

 

“สำหรับผม พ่อเป็นโค้ช โค้ชที่ดีจะไม่เข้ามาก้าวก่าย ปล่อยให้เราทำ แต่จะยืนอยู่เคียงข้าง พ่อเลยบอกว่าจะให้เราทำเต็มที่ ถ้าธุรกิจมันไม่ล้มไปเสียก่อน แต่ถ้าล้มจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี ผมจะได้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร”

 

พ่อในมุมของแต่ละคนทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นโค้ชให้ลูกได้ ขณะที่หลายคนก็ทำได้ดีกว่านั้น นี่คือพ่อในมุมของ ‘เก็ท ณัฐนัย’ ที่เลือกวางบทบาทของซีอีโอหนุ่มคนดังของวงการธุรกิจและเล่าเรื่องในมุมของลูกคนหนึ่งผ่านสำนักข่าว THE STANDARD ในวันพ่อแห่งชาติ

 

หลายเรื่องพ่อสอน บางเรื่องพ่อไม่ได้สอน

แต่ทุกๆ เรื่องทำให้เราได้คิดและรู้ว่าพ่อรักเราแค่ไหน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X