×

‘เขตห้ามบิน’ คืออะไร ทำไมสหรัฐฯ-NATO เลี่ยงกำหนดน่านฟ้ายูเครน หวั่นเป็นคู่ขัดแย้งกับรัสเซียโดยตรง

06.03.2022
  • LOADING...
เขตห้ามบิน

ช่วงหลายวันที่ผ่านมา การกำหนด ‘เขตห้ามบิน’ ในยูเครน กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง หลังเกิดคำถามขึ้นว่า สหรัฐฯ และ NATO ควรกำหนดเขตห้ามบินในน่านฟ้ายูเครนหรือไม่ เพื่อปกป้องชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในยูเครนจากการตกเป็นเป้าโจมตีทางอากาศของรัสเซีย

 

ขณะที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ออกมาประกาศเตือนว่า ประเทศใดก็ตามที่กำหนดเขตห้ามบินในน่านฟ้ายูเครน จะถือเป็น ‘ผู้มีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางทหาร’ ในวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนทันที

 

หลายคนสงสัยว่า การกำหนดเขตห้ามบินจะดึงประเทศที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนโดยตรงได้อย่างไร สามารถอธิบายได้ดังนี้

 

– เขตห้ามบินคืออะไร?

‘เขตห้ามบิน’ หรือ No-fly Zone หมายถึงน่านฟ้าในดินแดนใดก็ตามที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตที่ไม่อนุญาตให้อากาศยานบินเข้าไป ซึ่งโดยปกติแล้วอาจกำหนดเพื่อปกป้องพื้นที่อ่อนไหว เช่น ที่อยู่ของเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ ทำเนียบผู้นำประเทศ หรือสนามกีฬาที่มีการแข่งขัน หรือสถานที่ที่มีการรวมตัวของฝูงชน

 

ส่วนในบริบททางการทหารนั้น เขตห้ามบินออกแบบมาเพื่อสกัดเครื่องบินไม่ให้บินเข้าน่านฟ้าหวงห้าม ซึ่งจะต้องกำหนดโดยวิธีการทางทหารเท่านั้น และโดยปกติจะใช้ป้องกันการโจมตีหรือการสอดแนมของข้าศึกหรือคู่ขัดแย้ง

 

ด้วยเหตุนี้การจัดตั้งเขตห้ามบินจะเปิดทางให้ฝ่ายที่กำหนดสามารถส่งเครื่องบินบินลาดตระเวน ไปจนถึงการชิงโจมตีระบบป้องกันของฝ่ายศัตรู และการยิงเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามที่ล่วงล้ำเข้ามาในเขตหวงห้าม

 

– ทำไมการกำหนดเขตห้ามบินของ NATO ในยูเครน จึงถือเป็นภัยต่อรัสเซีย

การจัดตั้งเขตห้ามบินในบริบทนี้จะทำให้กองกำลังของ NATO เข้าไปเผชิญหน้ากับเครื่องบินรัสเซียโดยตรง โดย NATO จะสามารถยิงเครื่องบินรัสเซียที่ตรวจพบในน่านฟ้าจนตกได้หากจำเป็น

 

ในอดีต NATO เคยกำหนดเขตห้ามบินในประเทศบอสเนียและลิเบียมาแล้ว ถึงแม้จะไม่มีพันธกรณีในการส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปช่วยสู้รบก็ตาม แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเปรียบเหมือนการที่ชาติ NATO เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุขัดแย้ง ‘แบบถลำเข้าไปครึ่งตัว’

 

แต่ NATO ที่ประกอบด้วยสมาชิก 30 ประเทศนั้นสามารถกำหนดเขตห้ามบินภายในรัฐสมาชิกได้ โดยองค์การพันธมิตรทางทหารนี้มีพันธกรณีตามมาตรา 5 ของสนธิสัญญาว่า การโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่ง ถือเป็นการโจมตีทุกประเทศใน NATO ซึ่งในอดีตเคยมีการใช้มาตรา 5 ของสนธิสัญญา NATO เพียงครั้งเดียวคือในวันที่ 11 กันยายน 2001 หลังเกิดเหตุวินาศกรรมโจมตีสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ได้ประกาศทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้าย

 

– ท่าทีล่าสุดของ NATO และชาติตะวันตกต่อการกำหนดเขตห้ามบิน

แม้มีเสียงเรียกร้องจากประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี และรัฐบาลยูเครน ให้ชาติพันธมิตรกำหนดเขตห้ามบินในยูเครน แต่สหรัฐฯ และ NATO ยืนกรานว่าจะไม่ทำเช่นนั้น เพราะหวั่นเกรงว่าจะทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดและเลวร้ายลง 

 

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO ยืนยันล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4 มีนาคม) ว่า เขตห้ามบินยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ NATO กำลังพิจารณาอยู่ในตอนนี้

 

เช่นเดียวกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็กล่าวในวันเดียวกันว่า การจัดตั้งเขตห้ามบินในยูเครนโดยสหรัฐฯ และพันธมิตร NATO นั้นอาจนำไปสู่ ‘สงครามเต็มรูปแบบ’ ในยุโรป แต่บลิงเคนกล่าวเสริมว่า สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อช่วยให้ยูเครนสามารถป้องกันตนเองจากการถูกรัสเซียรุกราน

 

ขณะที่ปูตินย้ำเตือนเมื่อวันที่ 5 มีนาคมว่า การกำหนดเขตห้ามบินจะเกิดผลร้ายแรงตามมา ไม่เพียงแต่กับยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั้งโลกด้วย

 

ภาพ: Sergei Bobylev / TASS via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X