×

10 เรื่องน่ารู้จากรั้ววังหน้า อดีตพระราชวังที่รุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์

05.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • อาคารในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หนึ่งในอารยธรรมของวังหน้า ยังมีดนตรี ศิลปะ แนวกำแพง และจารีตประเพณีอีกมากมายที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากวังหน้า สืบทอดให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
  • แนวกำแพงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ศาลเจ้าสิงห์โตทองที่คณะเศรษฐศาสตร์, ซากอิฐก่อแถวป้อมพระสุเมรุ, เพลงเชิดจีน, หุ่นเล็ก, ตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร ฯลฯ ล้วนเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวังหน้าทั้งสิ้น

อาคารต่างๆ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ที่สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของวังหน้าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่มากไปกว่านั้น มรดกของอำนาจทางการเมือง คติความเชื่อ จารีตประเพณี ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของวังหน้า ยังคงทิ้งร่องรอยอยู่ในบทเพลง เสียงดนตรี ศิลปะ และสิ่งปลูกสร้างอย่างแนวกำแพงเก่า จนถึงวันนี้

 

THE STANDARD คัดสรรเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับวังหน้า 10 ประการที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อเตรียมผู้อ่านให้พร้อมก่อนจะไปดื่มด่ำประวัติศาสตร์แบบเจาะลึกในนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 10-27 มิถุนายนนี้

 

ซากก่ออิฐถือปูนที่เคยเป็นซุ้มประตูวังพระราชนิเวศน์กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ตรงข้ามป้อมพระสุเมรุ

 

พระราชนิเวศน์เดิมของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

ก่อนหน้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรก จะเสด็จย้ายมาประทับยังวังหน้า พระราชนิเวศน์เดิมของพระองค์นั้นอยู่แถวป้อมพระสุเมรุ เรียกกันว่า ‘วังริมป้อมพระสุเมรุ’ เป็นที่ประทับแรกเมื่อสมัยพระองค์ยังทรงปฏิบัติราชการกรุงธนบุรี ต่อมาพระองค์ได้พระราชทานที่วังริมป้อมพระสุเมรุนี้แด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ซึ่งเป็นสมเด็จพระอนุชา ให้ทรงช่วยกำกับดูแลการรักษาพระนครทางด้านเหนือนี้ต่อไป

 

เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2350 ก็ไม่ปรากฏว่ามีเจ้านายผู้ใดมาประทับอยู่อีก ปล่อยที่ดินบริเวณนี้ไปตามกาลเวลาผ่านมาสองร้อยกว่าปี ทุกวันนี้วังริมป้อมพระสุเมรุเหลือเพียงซากก่ออิฐถือปูนที่เคยเป็นซุ้มประตูวัง ด้านหน้าตั้งศาลพระภูมิไม้แปะป้ายว่า ‘กรมหลวงจักรเจษฎา’ ด้านหลังเป็นร้านทำผมเล็กๆ บนโต๊ะบูชาตั้งธูป เทียน และกล่องรับบริจาคเงินให้อาหารแมว

 

ฐานรากกำแพงพระนครสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งใช้เป็นกำแพงวังหน้าฝั่งริมแม่น้ำด้วย บริเวณโรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  

แนวกำแพงวังหน้าด้านทิศใต้ ถนนพระจันทร์ กลายเป็นกำแพงมหาวิทยาลัย

 

กำแพงวังหน้า

บริเวณโรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ด้านหนึ่งมีกองอิฐที่ก่อเป็นแนวให้เห็นชั้นและเทคนิคการก่อสร้างฐานรากกำแพงพระนคร พร้อมป้ายที่เขียนไว้ว่า ‘กำแพงวังหน้า’ หมายถึงกำแพงวังหน้าฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ร่วมกับกำแพงเมือง มีความกว้าง 5.40 เมตร และสูงถึง 2.53 เมตร

 

พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขุดค้นโบราณสถาน โดยไม่เพียงจะพบแนวกำแพงพระนคร หากยังพบปืนใหญ่พร้อมกระสุน ซากเรือ และอาคารโรงทหารซึ่งเคยเป็นโรงทหารราบที่ 11 ในสมัยรัชกาลที่ 5 มาก่อน แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจไปกว่านั้น เมื่อเดินออกจากคณะศิลปศาสตร์มายังถนนพระจันทร์ จะพบกับแนวกำแพงวังหน้าด้านทิศใต้ของพระราชวังบวรสถานมงคลอายุสองร้อยกว่าปีใต้เงาแมกไม้ที่ยังคงความสมบูรณ์ และยังใช้เป็นกำแพงมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

 

ศาลสิงห์โตทอง ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

ศาลสิงห์โตทอง

บริเวณโต๊ะนั่งเล่นริมแม่น้ำเจ้าพระยาข้างตึกคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีศาลสิงห์โตทองขนาดเล็กตั้งอยู่ โดยมีตำนานของสิงโตที่เล่าสืบต่อกันมาหลายแง่มุม ที่โด่งดังคือ เรื่องเล่าความรักของสิงโตที่ว่า แต่เดิมมีสิงโต 2 ตัว อยู่เป็นคู่มากับเรือสำเภาของพ่อค้าชาวจีนคนหนึ่งที่บรรทุกสินค้าเข้ามาขายในกรุงเทพมหานครในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่เกิดพายุซัดจนทำให้เรือล่ม เมื่อพ้นพายุแล้ว ชาวบ้านได้ช่วยกันกู้ของที่จมขึ้นมา แต่กู้รูปปั้นสิงโตตัวเมียได้เพียงตัวเดียว จึงนำมาตั้งไว้ที่ริมแม่น้ำ และหันหน้าเข้าหาฝั่ง แต่อีกวันกลับพบว่า รูปปั้นได้หันหน้าออกไปทางแม่น้ำเหมือนกับจะหาตัวผู้ที่อยู่ในน้ำ

 

อีกเรื่องหนึ่งคือ รูปปั้นสิงโตมีไว้เพื่อแก้ฮวงจุ้ยของที่ตั้งวังหน้า ซึ่งตรงกับทางแพร่งน้ำ โดยมีผู้กราบทูลกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่า บริเวณที่ตั้งของพระราชมณเฑียรอยู่ตรงข้ามกับแพร่งน้ำปากคลองบางกอกน้อย ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งอัปมงคล ควรแก้เคล็ดด้วยการนำรูปสิงโตคาบกั้นหยั่นไปติดที่ริมแม่น้ำให้หันหน้าไปสู่ปากคลอง เพื่อให้ช่วยต่อสู้กับสิ่งชั่วร้ายที่จะเข้ามา กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพจึงทรงสั่งให้นำสิงโตหินจากเมืองจีน 3 ตัว มาทำพิธีตามธรรมเนียมจีน แล้วนำไปไว้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ต่อมาบริเวณที่ตั้งสิงโตจีนถูกน้ำกัดเซาะจนตลิ่งพัง ทำให้สิงโตหล่นไปอยู่ในน้ำ จากนั้นมีผู้นำสิงโต 1 ใน 2 ตัว ขึ้นมาตั้งไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสร้างศาลให้เป็นที่สักการะบูชา

 

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

 

คำสาปแช่งของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

เมื่อ พ.ศ. 2345 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งดำรงพระยศตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมาถึง 21 พรรษา ทรงประชวรด้วยโรคนิ่ว พระอาการทรุดลงตามลำดับ วันหนึ่งเสด็จประทับบนเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนย ให้มหาดเล็กเชิญเสด็จทอดพระเนตรรอบพระราชมณเฑียรที่ทรงมุมานะสร้างขึ้นตลอดพระชนม์ชีพ และด้วยความโทมนัสก็ตรัสบ่นขึ้นจนเป็นเรื่องที่เล่าขานกันต่อมาว่า

 

“ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้างใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข”

 

จากหนังสือ พระราชพงศาวดาร ได้เล่าถึงความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างวังหน้าและวังหลวงไว้ว่า คราวหนึ่งหลังกรมพระราชวังบวรฯ ได้กราบทูลฝากพระโอรสพระธิดาให้อาศัยอยู่ในวังหน้าต่อไป ทำให้พระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตเข้าพระทัยว่า จะได้รับวังหน้าเป็นมรดก แต่เมื่อการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งสองพระองค์ก็ทรงโกรธแค้นหาทางจะลอบทำร้ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อพระองค์ทรงทราบก็ทรงนึกน้อยพระราชหฤทัยในสมเด็จพระอนุชาธิราชที่ไปตรัสให้ท้ายเด็กเช่นนั้น

 

พ.ศ. 2349 หลังกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตได้ 3 ปี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรทรงได้รับสถาปนาให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ตรัสว่า “ไปอยู่บ้านช่องเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา เขาแช่งเขาชักไว้เป็นนักเป็นหนา” กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์ที่ 2 จึงมิได้เสด็จประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล และในกาลต่อมา ก็แก้เคล็ดคำสาปแช่งนั้นด้วยการให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ได้อภิเษกกับพระธิดาพระองค์หนึ่งของวังหน้า     

 

เพลง เชิดจีน

 

เพลง เชิดจีน

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีครูที่เป็นสุดยอดของวงการดนตรีไทยชื่อ ครูมีแขก ที่ทุกคนจะเข้าไปขอเป็นลูกศิษย์ ซึ่งครูมีแขกเป็นผู้แต่ง เพลง เชิดจีน เพลงชั้นสูงที่นักศึกษาดนตรีไทยใช้เรียนใช้ฝึกดนตรีกันทุกวันนี้

 

ครูมีแขก มีชื่อเต็มว่า พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางค์กูร) เป็นครูสอนดนตรีในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 และได้มาเป็นครูปี่พาทย์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยรับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นหลวงประดิษฐไพเราะ แต่หลังจากที่แต่ง เพลง เชิดจีน ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดปรานยิ่ง ก็โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระประดิษฐไพเราะ

 

ครูมีแขกยังมีผลงานอีกจำนวนมาก เช่น โหมโรงขวัญเมือง การเวกเล็กสามชั้น กำสรวลสุรางค์ สามชั้น แขกบรเทศ สามชั้น แขกมอญ สามชั้น ฯลฯ ซึ่งลองหาฟังได้ในยูทูบ

 

หุ่นวังหน้า

 

หุ่นวังหน้า

วังหน้ามีการประดิษฐ์และเล่นหุ่นเช่นเดียวกับการละเล่นหุ่นหลวงของวังหลวง โดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้าย พระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ ‘หุ่นเล็ก’ ขึ้นมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งเล็กกว่าหุ่นหลวงถึงครึ่งหนึ่ง แบ่งได้ 2 แบบ คือ หุ่นจีน หัวและหน้าเขียนสีต่างๆ สวมเครื่องแต่งกายแบบงิ้ว ใช้เล่นละครจีน เช่น ซวยงัก หรือสามก๊ก และอีกแบบคือ หุ่นไทย มีลักษณะเหมือนหุ่นหลวงทุกประการ ทั้งการแต่งกายและวิธีการชัก ใช้เล่นละคร รามเกียรติ์ แบ่งเป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง

 

ตราประจำวังหน้ารูปพระลักษณ์ทรงหนุมาน

ตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปจุฑามณีและพระขรรค์ประดับบนพานที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

 

ตราประจำวังหน้า

ตราประจำวังหน้าเป็นรูปพระลักษณ์ทรงหนุมาน รวมถึงธงพิไชยยุทธของวังหน้าก็เป็นรูปหนุมาน ส่วนธงวังหลวงเป็นรูปครุฑ ซึ่งมาจากคติความเชื่อในมหากาพย์รามายณะที่ว่า พระนารายณ์ผู้เป็นกษัตริย์ มีครุฑเป็นพาหนะ ส่วนวังหน้าเปรียบได้กับพระลักษณ์ ผู้เป็นน้องของพระมหากษัตริย์ มีหนุมานเป็นพาหนะ

 

ตราพระลักษณ์ทรงหนุมานจะไปปรากฏตามพระราชมณเฑียรที่เป็นฝีมือจากสกุลช่างวังหน้าอยู่หลายที่ เช่น หน้าบันพระมณฑปวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร หรือหน้าบันพระวิหารคต ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งยังคงเห็นได้ทุกวันนี้

 

ยกเว้นวังหน้าในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ตราประจำพระองค์จะเป็นรูปจุฑามณีและพระขรรค์ประดับบนพาน ซึ่งสังเกตเห็นตรานี้ได้ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์เพียงอาคารเดียวในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร

 

ภาพเรียงจากซ้าย: สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

Photo: th.wikipedia.org

 

สยามมกุฎราชกุมาร

พ.ศ. 2428 กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรพระองค์สุดท้ายทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการประกาศพระบรมราชโองการยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็น ‘สยามมกุฎราชกุมาร’ เพื่อใช้ตำแหน่งระบุผู้สืบทอดสันตติวงศ์อย่างชัดเจน แทนวิธีการแต่เดิมที่พระมหากษัตริย์จะเป็น ‘ผู้ยกให้’ สืบราชสมบัติ

 

สยามมกุฎราชกุมารเป็นตำแหน่งที่ได้รับแนวคิดมาจากตะวันตก ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า ‘Crown Prince’ หมายถึงตำแหน่งของผู้ที่จะมาสืบราชสมบัติต่อจากพระมหากษัตริย์ และจะดำรงพระยศนี้จนกว่าพระมหากษัตริย์จะสวรรคตหรือสละราชสมบัติ ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระยศของพระราชโอรสองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีคือ ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ นอกจากนี้ยังรวมถึงการตั้งตำแหน่งกรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง กรมพระ กรมพระยา ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า ‘Prince of’

 

ประเทศไทยมีเจ้านายดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารเพียง 3 พระองค์ และได้สืบราชสมบัติเพียง 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคตก่อนสืบราชสมบัติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10

 

พระตำหนักแดง

 

พระตำหนักแดง

พระตำหนักแดงที่ตั้งอยู่ด้านข้างของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และมีการโยกย้ายไปมาหลายครั้ง ก่อนจะมาอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นการถาวร เพื่อใช้แสดงเครื่องเรือนและเครื่องใช้ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

 

พระตำหนักแดงสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในพระบรมมหาราชวัง ตอนแรกมี 2 หลัง หลังแรกคือ พระตำหนักเขียว เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระเทพสุดาวดี และพระตำหนักแดง เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสุดารักษ์ ในรัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2 และมีการย้ายพระตำหนักแดงเมื่อพระองค์ย้ายไปประทับพระราชวังเดิม ณ กรุงธนบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาก็ได้เป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ จนเมื่อได้รับการบวรราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรฯ แล้ว ก็ทรงโปรดให้ย้ายพระตำหนักแดงมาปลูกในพระราชวังบวรสถานมงคล

 

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ

ตู้พระธรรมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

 

จิตรกรรมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตรตระการตาภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ทุกวันนี้ยังคงเผยให้เห็นฝีมือของสกุลช่างวังหน้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ที่มีอายุยาวนานสองร้อยกว่าปี โดยส่วนบนของอาคารที่เลยกรอบประตูขึ้นไปเป็นภาพเขียนเทพชุมนุม แบ่งตามลำดับภพภูมิเป็น 4 ชั้น มีพระอินทร์เป็นประธาน ส่วน 3 ชั้นล่างคือ ภาพเทพยดา ส่วนล่างตั้งแต่กรอบประตูลงมาเขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติ ตั้งแต่ตอนพระเจ้าสุทโธทนะอภิเษกกับพระนางสิริมหามายา จนถึงภาพพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน และพระมหากัสสปะถวายพระเพลิงพุทธสรีระและแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ นับได้มากถึง 28 ห้อง

 

จิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์สืบทอดแบบจิตรกรรมสมัยอยุธยา หากเอกลักษณ์ของสกุลช่างวังหน้าจะนิยมวาดภาพบุคคลด้วยสีอ่อน และใช้สีเข้มคล้ำเป็นพื้น ส่วนสกุลช่างอยุธยา นิยมเขียนภาพบุคคลด้วยสีเข้ม และใช้สีอ่อนเป็นพื้น นอกจากนี้บริเวณด้านหลังที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ยังมีภาพจิตรกรรมบนตู้พระธรรมสำหรับใส่พระไตรปิฎกตู้ใหญ่ 3 ตู้ ประดับด้วยลายเขียนสีและลายรดน้ำเรื่อง รามเกียรติ์ สันนิษฐานว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เคยใช้เป็นที่เรียนหนังสือของพระสงฆ์ เช่นเดียวกับวังหลวงที่มีการสอนหนังสือพระสงฆ์ในพระมหาปราสาท

 

ยังมีศิลปวัตถุ และอาคารสถานต่างๆ อีกมากมายที่เป็นมรดกตกทอดจากตำนานวังหน้า ไม่ว่าจะเป็นกระโถนค่อม เครื่องถ้วยลายน้ำทองที่นำมาเขียนลวดลายเรื่อง รามเกียรติ์ ในสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า วัดพระแก้ววังหน้า วัดที่มีอาคารสีขาวทรงสูง มีเสาใหญ่รายล้อมรอบด้าน ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ภายในยังมีภาพจิตรกรรมตำนานพระพุทธสิหิงค์ปรากฏอยู่ด้วย หรือตราพระนารายณ์ทรงปืนใหญ่ ที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทุกวันนี้ปรากฏอยู่ที่หน้าบันหอระฆังบวรวงศ์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ผู้ที่สนใจศิลปวัฒนธรรมของวังหน้าควรหาโอกาสไปเยี่ยมชม

 

อ้างอิง

FYI
  • โครงการนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยีโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคลผ่านงานสถาปัตยกรรมและการใช้เทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการกับผู้คน กระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่าย นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising