×

รุ่งเรือง-แปรเปลี่ยน-สูญสิ้น และอดีตในปัจจุบันของ ‘วังหน้า’

31.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 Mins. Read
  • วังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นทั้งตำแหน่งทางการเมืองและสถานที่ซึ่งรุ่งเรืองด้วยอำนาจ เป็นรองก็เพียงพระมหากษัตริย์เท่านั้น
  • อำนาจของเจ้าวังหน้าในอดีตสามารถเป็นทั้งอำนาจที่เกื้อหนุน และท้าทายพระเจ้าแผ่นดินได้ในคราวเดียวกัน   
  • วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงอิสริยยศเทียบเท่าพระมหากษัตริย์
  • ตำแหน่งวังหน้าสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 5 อาณาเขตของวังหน้าแปรเปลี่ยนไปตามการใช้งานนับจากนั้น
  • พื้นที่ร้อยละ 80 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบันคือ พื้นที่ในอดีตของวังหน้า
  • กำแพงโบราณส่วนยอดประดับใบเสมาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งถนนท่าพระจันทร์คือกำแพงวังหน้าที่มีอายุกว่าสองร้อยปี  

 

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

พัฒนาการและอำนาจ

พัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับวังหน้า ซึ่งก่อตั้งพร้อมการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. ​2325 ทั้งในฐานะ ‘ตำแหน่งทางการเมือง’ และในฐานะ ‘สถานที่’ เปลี่ยนแปลงเพิ่มลดเป็นไปโดยสัมพันธ์กับอำนาจทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

 

ตั้งแต่สมัยอยุธยาต่อเนื่องถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โครงสร้างอำนาจการเมืองไทยกล่าวได้ว่า เป็นแบบจารีตคือ ถึงแม้พระมหากษัตริย์จะเป็นศูนย์รวมของอำนาจ แต่ก็ยังมีอำนาจใหญ่น้อยอื่นๆ กระจัดกระจายอยู่รอบๆ เช่น อำนาจของเชื้อพระวงศ์ อำนาจของขุนนาง อำนาจของเจ้าประเทศราช และถึงแม้ในทางทฤษฎี พระมหากษัตริย์จะถือครองอำนาจสูงสุด แต่ระบบการควบคุมกำลังคนที่แบ่งไพร่หลวงขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ไพร่สมขึ้นตรงต่อมูลนาย ก็ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อาจเรียกใช้ไพร่ที่มิได้สังกัดขึ้นตรงเป็นไพร่หลวงได้ เป็นช่องโหว่ให้อำนาจอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ กษัตริย์ลุกขึ้นมาท้าทายผู้ครองแผ่นดินได้

 

ตำแหน่ง ‘วังหน้า’ หรือ ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของอำนาจแบบจารีต ที่อาจเป็นได้ทั้งกำลังหนุน หรืออำนาจที่ท้าทายพระเจ้าแผ่นดิน

 

ในบางสมัยอำนาจของเจ้าผู้ครองวังหน้าแผ่ไพศาลเกือบจะทัดเทียมวังหลวง เช่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระเชษฐา พระอนุชา ร่วมรบกู้ชาติสร้างเมืองด้วยกันมา ชาวบ้านร้านถิ่น ในบางครั้งยังถึงกับเรียกว่า พระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อบริบทของโลกมีผลต่อความเป็นไปในสยาม โดยเฉพาะเมื่อภัยใหม่มาในรูปของการรุกคืบโดยจักรวรรดินิยมตะวันตก ดังนั้นรอยแยกใดๆ ที่เคยมีอยู่ภายในก็ถึงเวลาต้องลบเลือนให้หมดสิ้น ตำแหน่งการสืบทอดอำนาจที่เคยคลุมเครือจนอาจนำไปสู่การขัดแย้ง และเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงก็ถึงเวลาจบลง เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หรือวังหน้าพระองค์สุดท้ายเสด็จทิวงคตใน พ.ศ. 2428 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และทรงแต่งตั้งตำแหน่ง ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร’ ขึ้นมาแทน

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ 6M00116

 

พระราชวังบวรสถานมงคลที่เคยรุ่งเรือง และถึงพร้อมด้วยกำลังพลมากมายต้องปิดฉากลง และพื้นที่ของวังหน้าก็ถูกปรับสำหรับยังประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต่อไป หากก่อนที่การเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงนั้นจะเกิดขึ้น ก็ใช่ว่าในห้วงเวลากว่าร้อยปีที่พระราชวังบวรสถานมงคลดำรงอยู่ จะไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ เกิดขึ้นเลย ตรงกันข้าม พระราชวังหน้าแห่งนี้มีเรื่องราวและสีสันผันแปรตามเจ้านายพระองค์ต่างๆ ผู้ทรงครองเป็นเจ้าของวังผลัดเปลี่ยนไปตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5

 

อาณาเขตโอ่อ่าคือวังหน้าในอดีต

คนยุคปัจจุบันอาจนึกไม่ออกเมื่อได้รับการบอกเล่าว่า วังหน้าในอดีตนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด ด้วยรูปรอยที่เหลืออยู่ทุกวันนี้คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่มองอย่างไรก็ดูคล้ายจะมีพื้นที่จำกัด แต่หากยกสถานที่ในปัจจุบันที่ครอบครองพื้นที่เดิมของวังหน้าอยู่ ก็คงจะทำให้เห็นภาพได้ง่ายดาย

 

“พื้นที่วังหน้า ณ ปัจจุบันประกอบด้วย โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนทางด้านหลังที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันก็คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เพราะฉะนั้นมี 3 หน่วยงานในความดูแลของกรมศิลปากรที่ใช้พื้นที่ของวังหน้าอยู่ แต่พื้นที่ของวังหน้าก็ยังมีอีกคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกือบทั้งหมด”

 

อ. วโรภาสน์ วงศ์จตุรภัทร หัวหน้ากลุ่มภูมิสถาปัตยกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร

Photo: สลัก แก้วเชื้อ

 

อ. วโรภาสน์ วงศ์จตุรภัทร หัวหน้ากลุ่มภูมิสถาปัตยกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร อธิบายถึงพื้นที่เดิมของวังหน้าในอดีต

 

ไม่เพียงเท่านั้น แต่สนามหลวงที่เราเห็นกันจนชินตาในปัจจุบัน หากย้อนเวลากลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ครึ่งหนึ่งของสนามรูปวงรีที่กว้างใหญ่ ก็เป็นพื้นที่ของวังหน้าอีกเช่นกัน

 

พื้นที่ภายในวังหน้าแบ่งเป็นพระราชฐานชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ไม่ผิดไปจากวังหลวง วังพระองค์เจ้าต่างๆ ที่เป็นพระโอรสของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ก็กระจายสร้างด้านตะวันออกของวัง ส่วนทิศตะวันตกที่ติดริมแม่น้ำก็มีประตูวังลงท่าทำเป็นประตูยอดปรางค์เรียกว่า ประตูฉนวน มีแพจอดประจำท่าเรียกว่า ตำหนักแพ เหมือนอย่างวังหลวง ข้างใต้ท่าพระฉนวนเป็นโรงเรือและศรีสำราญหรือเว็จของสาวชาววังนั่นเอง  

 

ถนนหน้าพระธาตุในอดีต

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-5(6ใน8)

 

ภายในวังหน้ามีถนนสามสายทอดตัวจากทิศเหนือไปทิศใต้ หนึ่งในสามของถนนโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 คือ ถนนหน้าพระธาตุที่พวกเรายังใช้มาจนปัจจุบัน ในอดีตถนนเส้นนี้เป็นเส้นทางเสด็จฯ จากพระราชวังบวรฯ​ สู่พระบรมมหาราชวัง และที่เรียกว่าถนนหน้าพระธาตุก็เพราะลากผ่านวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์นั่นเอง

 

วังหน้ามีกำแพงพระราชวังล้อมรอบแบบเดียวกับวังหลวง และมีลักษณะเฉพาะของวังพระมหาอุปราชคือ กำแพงส่วนบนเป็นรูปใบเสมา อีกทั้งยังมีป้อมปราการรอบพระราชวังมากถึง 10 ป้อม สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ทั้งสิ้น โดยป้อม 4 มุมวังก่อเป็นรูปแปดเหลี่ยม หลังคาทรงกระโจม ส่วนป้อมตามแนวกำแพงวังทำเป็นรูปหอรบ โดยในบรรดาป้อมรอบวัง มีหนึ่งแห่งที่เกิดเป็นความกันใหญ่โตในสมัยรัชกาลที่ 1

 

ป้อมนั้นมีนามว่า ‘ป้อมไพฑูรย์’ อยู่ทางทิศใต้ ทางปืนพุ่งตรงไปที่พระราชวังหลวง ราวกับถูกสร้างขึ้นเพื่อยิงไปทิศนั้นโดยเฉพาะ ครั้งหนึ่งป้อมแห่งนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อพิพาท ระหว่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทใน พ.ศ. 2339 ถึงกับต่างฝ่ายต่างเอาปืนขึ้นป้อมของตนจะรบกัน แต่ความทราบไปถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระพี่นางเสียก่อน ทั้งสองพระองค์จึงทรงรุดไปเฝ้าฯ สมเด็จพระอนุชาธิราชที่วังหน้า ปลอบประโลมต่างๆ และพาพระองค์มาเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่วังหลวงเป็นผลสำเร็จ ความที่เคืองกันจึงระงับลงได้

 

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

พร้อมๆ กับการสถาปนาวังหน้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ​ ให้ปฏิสังขรณ์วัดสลัก ซึ่งเป็นวัดโบราณมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ด้านใต้ของวังหน้า ทรงขนานนามใหม่ว่า ‘วัดนิพพานาราม’ และทรงเปลี่ยนอีกครั้งใน พ.ศ. ​2331 เมื่อจะทรงสังคายนาพระไตรปิฎกเป็น ‘วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์’ และเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคต ชื่อวัดจึงถูกเปลี่ยนอีกครั้งเป็น ‘วัดมหาธาตุ’ ส่วนคำว่า ยุวราชรังสฤษฎิ์ มาเติมในสมัยรัชกาลที่ 5

 

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-5(5ใน8)

 

ร่องรอยความรุ่งเรืองของวังหน้าในอดีตหลงเหลือให้เห็นอยู่มากในวัดมหาธาตุ ที่โดยมากทุกวันนี้ผู้คนมักเข้าไปอาศัยพื้นที่วัดเป็นที่จอดรถ ยามเมื่อมาทำธุระปะปังในบริเวณใกล้เคียง แต่หากเดินเลยพื้นที่รอบนอกเข้าสู่ภายใน ชั่วพริบตาเดียวบรรยากาศเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง

 

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

พระมณฑปที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระอุโบสถนั้น ภายในประดิษฐานพระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ นับเป็นแบบฉบับของเจดีย์สมัยรัตนโกสินทร์ยุคแรก และที่หน้าบันของพระมณฑปยังประดับตราประจำวังหน้าคือ รูปพระลักษณ์ทรงหนุมาน สง่างามและเคร่งขรึมผ่านกาลเวลากว่าสองร้อยปี  

 

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

รังสรรค์สมัยในแผ่นดินที่ 3

หากจะกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างวังหลวงและวังหน้าในแผ่นดินใดราบรื่นกลมเกลียวมากที่สุด โดยอำนาจของวังหน้าเป็นไปในลักษณะเกื้อกูลหนุนนำวังหลวงเป็นอย่างดี ก็น่าจะเป็นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์​เป็นกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรฯ เพียงพระองค์เดียวที่ทรงร่วมทำราชการแผ่นดินกับพระเจ้าแผ่นดินในทุกด้านๆ

 

วังหน้าในแผ่นดินที่สองแทบไม่ปรากฏว่าสร้างสิ่งใดขึ้นใหม่ ด้วยของที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ยังอยู่ในสภาพดีอยู่มาก มีแต่เพียงซ่อมแซม หรือโปรดให้รื้อของเก่าออก

 

ต่อแผ่นดินที่ 3 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี่เอง ที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในเชิงสถานที่ของวังหน้าจึงเกิดขึ้นมาก และหลายอย่างยังคงรูปเหลือรอยมาจนปัจจุบัน

 

ไอยคุปต์ ธนบัตร และบัณฑิต ลิ่วชัยชาญ นักวิชาการ กรมศิลปากร

Photo: ปฏิพล รัชตอาภา

 

ไอยคุปต์ ธนบัตร และบัณฑิต ลิ่วชัยชาญ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ สำนักวรรณกรรม กรมศิลปากร อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของวังหน้าในสมัยของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพว่า “รัชกาลที่ 3 โปรดสร้างวัด โดยศิลปะต่างๆ ก็ได้รับอิทธิพลจากจีนเยอะ เพราะเป็นประเทศที่สยามติดต่อค้าขายด้วยมากในสมัยนั้น เรียกได้ว่าเป็นพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการก่ออิฐ ต่อเรือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เดิมอาจจะมีอยู่แล้ว แต่ความสวยงาม ความเป็นศิลปะก็อาจจะมากขึ้นในสมัยนี้ ส่วนใหญ่เป็นการปรับหมู่พระมณเฑียร แต่บางอย่างก็สร้างใหม่อย่างวัดบวรสถานสุทธาวาสหรือวัดพระแก้ววังหน้า”

 

วัดบวรสถานสุทธาวาส

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ.รฟท. 9/10

 

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างพระที่นั่งเป็นท้องพระโรงขึ้นใหม่ 1 องค์ ด้านหน้าท้องพระโรงต่อถึงพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งยังคงลักษณะเดิมมาจนเดี๋ยวนี้ นั่นคือ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ส่วนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่เห็นงามมาจนปัจจุบันก็คือ ผลจากการซ่อมสร้างในสมัยนี้ เช่น ซ่อมเครื่องบนของพระที่นั่งใหม่ ต่อเฉลียงเสาลอยรอบ ด้านบนทำเป็นคอสอง ซึ่งหมายถึงส่วนของอาคารที่ต่อจากสุดหัวเสาขึ้นไปอีกหนึ่งชั้น มีลวดลายปูนปั้นอ่อนช้อยสวยงามปรากฏมาจนเดี๋ยวนี้ เป็นต้น

 

คอสองของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ประดับลวดลายปูนปั้นสวยงาม

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์​ ณ อยุธยา

 

นอกจากนี้ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตู้พระธรรมสำหรับใส่พระไตรปิฎกขึ้น 3 ตู้ ตั้งไว้ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และยังตั้งอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ในบางวันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ ว่างวายด้วยนักท่องเที่ยว ตู้พระธรรมทั้งสามที่ดูเหมือนหลบอยู่ในเงามืด ยิ่งก่อความรู้สึกขรึมขลัง ชีวิตจิตใจ ความเชื่อ ค่านิยม อารมณ์ของยุคสมัยที่ผ่านพ้นไปแล้วมากกว่าร้อยปี ปรากฏชัดผ่านลวดลายประณีตบนตู้นั่นเอง

 

จิตรกรรมที่ตู้พระธรรมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา

 

พระมหากษัตริย์พระองค์ที่สองทรงครองวังหน้า  

รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ​ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช และยกให้มีพระเกียรติยศอย่างพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานพระนามว่า ‘สมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’

 

ไอยคุปต์และบัณฑิตกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ถ้ามองในแง่การมอบอำนาจ แน่นอนมันคือการเกื้อกูล และสามารถมองในแง่ของนโยบายทางการเมือง หรือการสร้างความประนีประนอมของรัชกาลที่ 4 ได้ เพราะก่อนจะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็ทรงเป็นหนึ่งในตัวเลือกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เหมือนกัน”

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ 5M00030

 

“ภาพของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กับรัชกาลที่ 4 ตรงกันข้ามเลย พระปิ่นเป็นความทันสมัย พูดภาษาอังกฤษ ต่อเรือได้ ส่วนรัชกาลที่ 4 จะดูเป็นผู้ทรงศีล เป็นนักวิชาการ ในช่วงคาบเกี่ยวที่จะผลัดแผ่นดิน คนก็มองว่า คู่อำนาจนี้พระองค์ไหนจะได้ขึ้น และพระปิ่นเองยังเคยรับสั่งทำนองว่า ถ้าพี่ไม่เอาก็บอก” (“พี่เถรจะเอาสมบัติหรือไม่เอา ถ้าเอาก็รีบสึกไปเถิด ถ้าไม่เอาหม่อมฉันจะได้เอา” – พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่รับสั่งต่อสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ พระบรมเชษฐาธิราช ซึ่งอยู่ในเพศบรรพชิต ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรใกล้จะเสด็จสวรรคต)

 

“ถ้าท่านจะทรงขึ้นครองราชสมบัติก็คงทำได้ แต่ท่านทรงให้เกียรติพี่ท่าน พอรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์แล้ว ท่านก็มีพระราชดำริว่า น้องก็มีอำนาจ มีบารมี มีดวงจะได้เป็นกษัตริย์อีกพระองค์ จึงทรงยกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์คู่กัน”

 

เมื่อพระอิสริยยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน การใดไม่เคยมีในวังหน้าก็ได้มีขึ้นในสมัยนี้ โดยเฉพาะการสร้างสถาปัตยกรรมที่สะท้อนฐานานุศักดิ์เดียวกับพระมหากษัตริย์ นั่นคือ ‘พระที่นั่งคชกรรมประเวศ’ สร้างอยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งองค์นี้สร้างด้วยไม้ เป็นอาคารแรกและอาคารเดียวในวังหน้าที่มีเครื่องยอดทรงปราสาทแบบเดียวกับในพระบรมมหาราชวัง ด้านหน้ามีเกยสำหรับขึ้นช้าง ปัจจุบันเหลือเพียงฐานและเกยให้เห็น

 

พระที่นั่งคชกรรมประเวศ

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-26

 

วังหน้าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทรงสร้างสถานที่เพิ่มเติมขึ้นในวังหน้า เช่น โรงปืนใหญ่ โรงทหาร คลังสรรพยุทธ ตึกดิน และโรงทหารเรือที่ริมแม่น้ำข้างใต้ตำหนักแพ ด้วยทรงโปรดวิชาการทั้งทหารบกและทหารเรือ ทรงสามารถสร้างเรือกลไฟขึ้นได้ในเมืองไทยเป็นคร้ังแรกคือ เรือยงยศอโยชฌิยาใน พ.ศ. ​2406 เพื่อใช้เป็นเรือรบของวังหน้า และได้นำไปแล่นที่ประเทศสิงคโปร์ด้วย  

 

เรือยงยศอโยชฌิยาจำลอง จัดแสดงที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์​

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา

 

อีกทั้งทรงสร้างที่ประทับขึ้นใหม่ โดยพระที่นั่งองค์นี้เป็นตึกฝรั่งสูง 2 ชั้น รู้จักกันในปัจจุบันว่า ‘พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์’ หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นตราประจำพระองค์ เป็นรูปจุฑามณีและพระขรรค์ประดับบนพาน 2 ชั้น มีช่อมาลาล้อมรอบ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงประทับที่นี่ตราบจนสวรรคต

 

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์​ ณ อยุธยา

 

ถึงกาลสิ้นสุด

 

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 001 หวญ 18-17/8

 

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ คือวังหน้าพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระโอรสองค์โตในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นสู่ตำแหน่งพระมหาอุปราชได้ เพราะทรงได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนรัชกาลที่ 5 และเป็นขุนนางที่มีอำนาจมาก  ทั้งที่การแต่งตั้งพระมหาอุปราชเป็นพระราชอำนาจส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ความสัมพันธ์ระหว่างวังหลวงและวังหน้าในแผ่นดินนี้ จึงเป็นไปในลักษณะวางเฉยต่อกัน โดยมีความระแวงแคลงใจเป็นคลื่นใต้น้ำเรื่อยมา

 

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงเป็นวังหน้าพระองค์เดียวที่มีไพร่ในสังกัดมากล้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวังหลวง ถือเป็นอำนาจขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้อำนาจหลักของพระเจ้าแผ่นดินอย่างไม่น่าไว้ใจ ความกินแหนงแคลงใจระหว่างกันนำไปสู่วิกฤตความขัดแย้งครั้งใหญ่ ที่หวิดจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่เปิดโอกาสให้ชาติตะวันตกยื่นจมูกเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ โชคดีที่ในที่สุดเหตุทั้งปวงก็ยุติลงได้โดยสงบ  และอำนาจทางการเมืองแบบจารีตก็ค่อยๆ สลายลงไปพร้อมๆ กับการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428

 

หลังรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าลง ก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดเขตวังชั้นนอกเป็นโรงทหารรักษาพระองค์ ปัจจุบันคือ พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนวังชั้นกลางให้จัดเป็นพิพิธภัณฑสถานที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ โดยเรียกรวมว่า ‘โรงมูเสียม’ หรือ ‘มูเสียมของหลวงที่วังหน้า’ เรียกทับศัพท์จากคำว่า Museum ในภาษาอังกฤษ ส่วนวังชั้นในยังมีเจ้านายสตรี เสด็จฯ ประทับอยู่เป็นจำนวนมาก จึงโปรดให้เป็นพระราชวังมีเจ้าพนักงานดูแลอยู่เช่นเดิม

 

หลายปีผ่านไปหลังการสิ้นสุดของวังหน้า สถานที่และป้อมปราการต่างๆ ที่ซ่อมแซมล่าสุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถึงคราวชำรุด รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่า เห็นควรรักษาไว้เฉพาะที่สำคัญเท่านั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อป้อมปราการสถานที่ต่างๆ ออก ส่วนชั้นนอกด้านทิศตะวันออกลงไปให้เปิดพื้นที่เป็นท้องสนามหลวงแทน

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ 6M00002

 

ต่อมา พ.ศ. 2440 เมื่อเสด็จฯ กลับจากประพาสยุโรปครั้งแรก ทรงมีพระราชประสงค์จะปรับปรุงตกแต่งพระนครให้งามพร้อมขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อป้อมปราการสถานลงอีก ฝั่งตะวันออกทำถนนราชดำเนินใน ขยายพื้นที่ท้องสนามหลวงขึ้นไปทางเหนือ คงไว้แต่วัดบวรสถานสุทธาวาส สร้างตึกขึ้นใหม่สำหรับเป็นสถานที่ทำราชการ สร้างโรงไว้พระมหาพิชัยราชรถทางด้านใต้ ส่วนฝั่งตะวันตกที่ติดริมน้ำก็รื้อของเดิมออก สร้างโรงทหารราบที่ 11 ขึ้น

 

กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เจ้านายฝ่ายในสมัครพระทัยจะเสด็จฯ ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ก็ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต อีกทั้งยังทรงมีพระราชดำริว่า พระราชมณเฑียรสถานในพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของกรมพระราชวังบวรฯ ในอดีต บัดนี้ทรุดโทรมไม่สมพระเกียรติ จึงโปรดให้เชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯ อีก 4 พระองค์ มาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. ​2460

 

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พ.ศ. ​2469 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคล จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ขึ้นอยู่กับราชบัณฑิตยสภาในแผนกโบราณคดี พระที่นั่งศิวโมกขพิมานกลายเป็นที่จัดแสดงศิลาจารึก สมุดไทย คัมภีร์ใบลาน ให้ชื่อว่า ‘หอสมุดวชิรญาณ’

 

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (2) ภ 002 หวญ 3/2  

 

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ​2475 รัฐบาลตั้งกรมศิลปากรขึ้น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครเปลี่ยนมาสังกัดกองโบราณคดี กรมศิลปากร และเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถัดมาอีกสองปี พ.ศ. ​2477 วันที่ 27 มิถุนายน มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถือกำเนิดขึ้น

 

ที่ดินเขตวังหน้าบริเวณที่เคยเป็นโรงทหาร คลังแสง กว่าหมื่นตารางเมตร ที่เดิมอยู่ในความดูแลของกระทรวงกลาโหม ถูกโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อมา พ.ศ. 2478 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้รับพื้นที่เพิ่มอีกรวมกว่าสี่หมื่นตารางเมตร หรือราว 25 ไร่ เพื่อขยายกิจการของมหาวิทยาลัย นับจากนั้นพื้นที่ของวังหน้าและสิ่งปลูกสร้างเดิม ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างไม่มีอะไรมาฉุดรั้งได้อีก

 

อดีตในปัจจุบัน  

วันเวลาของวังหน้าซ้อนทับอยู่ในปัจจุบันโดยที่เราอาจไม่ทันได้สังเกต หากเดินออกจากประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝั่งคณะศิลปศาสตร์ แล้วเลี้ยวซ้ายทันที เราจะเข้าสู่ถนนพระจันทร์ที่ร่มครึ้ม และพบกับ ‘กำแพงชรา’ กำแพงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เก่าแก่ มีอายุไล่เลี่ยกับกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเดิมเป็นกำแพงด้านทิศใต้ของพระราชวังบวรสถานฯ ปัจจุบันเป็นกำแพงโบราณเพียงด้านเดียวที่ยังเหลืออยู่ และยังใช้งานได้จริง

 

Photo : วรรษมน ไตรยศักดา

 

กำแพงนี้ทอดขนานตลอดความยาวของถนนพระจันทร์​ ก่ออิฐฉาบปูนสีขาว ด้านบนประดับด้วยใบเสมาตลอดแนว หนึ่งในลักษณะสถาปัตยกรรมไทยที่บ่งบอกถึงฐานันดรของเจ้าของสถานที่ว่า จะต้องมีพระอิสริยยศระดับเจ้าฟ้าขึ้นไป

 

Photo : วรรษมน ไตรยศักดา

 

อดีตของวังหน้าทั้งที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุถูกพบในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง ยามที่ทางมหาวิทยาลัยตระเตรียมพื้นที่เพื่อสร้างอาคารใหม่ๆ อย่างในคราวสร้างประตูป้อมที่สุดปลายกำแพงชราของถนนพระจันทร์เมื่อ พ.ศ. 2527 ก็ขุดพบปืนใหญ่ 9 กระบอก ฝังอยู่ สันนิษฐานว่า เป็นปืนใหญ่ของวังหน้าที่ซื้อจากอังกฤษ กระบอกเก่าสุดคาดว่ามีอายุราว 300 ปี ระบุได้ดังนั้นก็เพราะที่ตัวกระบอกปรากฏตรามงกุฎเหนือดอกกุหลาบ หรือที่เรียกกันว่า ปืนใหญ่แบบคราวน์แอนด์โรส (Crown and Rose Pattern) ซึ่งเป็นพระลัญจกรของสมเด็จพระราชินีแอนด์แห่งอังกฤษ ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2203-2257

 

สันนิษฐานว่า เมื่อปืนเหล่านี้หมดความสำคัญหรือล้าสมัยลง จึงถูกนำมาฝังกลบใต้รากกำแพงที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นวิธีพลิกแพลงของนายช่างสมัยโบราณ ที่นำวัสดุที่แข็งแรงมาวางเป็นฐานรากก่อนจะก่อสร้าง  

 

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นราว พ.ศ. 2518 ก็มีการขุดพบปืนใหญ่บริเวณเกือบกลางท้องสนามหลวงราว 10 กระบอก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไร เพราะในอดีตพื้นที่ตรงนี้คือ พื้นที่วังหน้า และเป็นที่ตั้งของป้อมไพฑูรย์

 

ปืนหามแล่น พบระหว่างการขุดแต่งทางโบราณคดี บริเวณสนามด้านข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556 สันนิษฐานว่า พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นโรงทหารในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์​

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา

 

ในคราวเตรียมพื้นที่จะก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ 2 หรืออาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี ก็ขุดพบฐานรากกำแพงพระนครที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นกำแพงด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาของวังหน้าด้วย ปัจจุบันมีการจำลองแบบกำแพงโบราณขึ้นในพื้นที่ที่ขุดพบ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นวิธีก่อสร้างอย่างโบราณ นอกจากนั้นยังขุดพบซากเรือที่โครงสร้างประกอบด้วยแผ่นทองเหลือง เหล็ก และไม้สัก คาดว่าเป็นเรือที่ใช้งานในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือในสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ว่า บริเวณนี้ในอดีตเป็นที่ตั้งของอู่ต่อเรือของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือสมัยใหม่ มีขึ้นในยุคที่คนสยามยังไม่เชื่อว่าเหล็กจะลอยน้ำได้

 

ฐานรากกำแพงพระนครสมัยรัชกาลที่ 1 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา

 

อ. วโรภาสน์กล่าวทิ้งท้ายถึงความโดดเด่นในการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวังหน้าในเชิงโบราณคดีว่า “แม้วังหน้าจะมีอายุไม่มาก คือประมาณ 100 ปี แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตลอดช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 เพราะฉะนั้นมีการใช้งานที่ซ้อนทับ จึงสามารถสืบค้นในเรื่องของโบราณคดีให้เห็นประจักษ์แก่ตาได้ ขุดลงไปปุ๊บก็จะเห็นชั้นแรก เห็นว่า บรรพบุรุษของเราเป็นคนสร้างอยู่ตรงนี้ วัสดุนี้ ฝีมือแบบนี้ เป็นของยุคนี้ นี่คือความโดดเด่นในด้านโบราณคดี อัตลักษณ์ชัดเจน หาดูได้ที่แหล่งนี้ที่เดียวเท่านั้นในประเทศไทย”    

 

Fact Box

โครงการนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยีโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคลผ่านงานสถาปัตยกรรมและการใช้เทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการกับผู้คน กระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่าย นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม

 

อ้างอิง

  • กรมศิลปากร. 2556. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.
  • สถาบันไทยคดีศึกษา. 2555. ประวัติศาสต์บนพื้นที่วังหน้า-ธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • โกสินทร์ รตนประเสริฐ. 2558. วังหน้า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ยิปซี.
  • ดำรงราชานุภาพม, สมเด็จกรมพระยา. 2461. ตำนานวังน่า. พระนคร: สำนักพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
  • www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_5943
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising