ใครที่เคยไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อชมนิทรรศการ การจัดแสดงวัตถุโบราณ หรือไปดูราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพิธีพระบรมศพและพระศพของพระมหากษัตริย์ในโรงราชรถกันมาแล้ว ก็จะเห็นว่า มีอาคารต่างๆ ที่ปลูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยหลายรูปแบบ ซึ่งอาคารเหล่านี้ ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือเรียกสั้นๆ ว่า วังหน้า
วังหน้ามีความสำคัญมากในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นพร้อมการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2325 เพื่อใช้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรก หรือพระมหาอุปราช ผู้ทรงเปรียบเสมือนมือขวาของพระเจ้าแผ่นดิน ปฏิบัติราชการร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยมีอำนาจรองลงมาจากพระมหากษัตริย์ มีบทบาทหน้าที่เดียวกับลักษณะการตั้งทัพอย่างโบราณ ที่จะต้องมีทัพหน้า ทัพหลวง และทัพหลัง โดยวังหน้าเป็นผู้นำ ‘ทัพหน้า’ นำหน้ากองทัพหลวงเวลาออกศึกสงคราม และคำว่า ‘หน้า’ นี้ยังรวมถึงเรื่องที่ตั้งของวังหน้า ซึ่งตั้งอยู่ ‘ด้านหน้า’ ของวังหลวงอีกด้วย
ที่ตั้งของวังหน้า ทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศใต้คือ วังหลวงสร้างขึ้นระหว่างวัดโพธิ์กับวัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร) และทางตอนเหนือของวัดสลักคือ วังหน้า ซึ่งอยู่ติดกับคลองคูเมืองเดิม
Photo: www.facebook.com/wangnaproject
วังหน้าใช้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถึง 6 พระองค์ ยาวนานถึง 5 แผ่นดิน ตั้งแต่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเมื่อ พ.ศ. 2325 จนถึงกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเมื่อ พ.ศ. 2428 หลังกรมพระราชวังบวรสถานมงคลองค์สุดท้ายทิวงคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงยกเลิกตำแหน่งนี้ และทรงตั้งตำแหน่ง ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร’ แทน ทำให้พระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง จึงโปรดให้รื้อกำแพงพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อ พ.ศ. 2443 ขอบเขตและความสำคัญของวังหน้าจึงเปลี่ยนไปนับแต่นั้น
ปัจจุบันพื้นที่ของวังหน้าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ และสนามหลวงอีกราวครึ่งสนาม อาคารของวังหน้าที่ยังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เป็นส่วนของพระที่นั่งและพระราชมณเฑียรสถานสำคัญภายในพระราชวังชั้นกลางและชั้นใน ที่ยังคงสืบทอดลักษณะทางสถาปัตยกรรมของการสร้างวังตามฐานันดรศักดิ์ของเจ้าของวัง ซึ่งเรียกกันว่า ฐานานุศักดิ์
ฐานานุศักดิ์ของวังหน้า: ความอลังการของหมู่อาคารที่ไม่เทียมเท่าวังหลวง
วังหน้ามีการสร้างอาคารตามพระราชประเพณีของการสร้างวังคือ ห้ามกระทำการใดๆ ที่เป็นการทำเทียมพระเจ้าแผ่นดิน โดยมี ‘ฐานานุศักดิ์’ เป็นตัวกำหนดลักษณะของการสร้างอาคารให้เหมาะสมกับเจ้าของบ้าน เช่น บ้านสำหรับคนทั่วไปจะทำเป็นหลังคาชั้นเดียว แต่วัง พระราชวัง หรือที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย การทำหลังคาจะมีลักษณะซ้อนกัน 2-3 ชั้น
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
Photo: Shutterstock
ลักษณะอาคารที่ถือว่ามีฐานานุศักดิ์สูงสุด สงวนไว้ใช้เป็นอาคารของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นคือ อาคารเครื่องยอดปราสาท หลังคามีลักษณะเป็นทรงสูงยอดแหลม ตั้งอยู่บนหลังคาจั่ว หรือประดับฉัตร เช่น หลังคาของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
ส่วนอาคารของวังหน้า ซึ่งมีฐานานุศักดิ์ต่ำกว่าวังหลวง การสร้างและตกแต่งอาคารจึงมิอาจทำให้อลังการเทียบเท่าวังหลวง หรือนำอาคารทรงปราสาทมาใช้กับวังหน้าได้ ซึ่งในคราวแรกสร้างวังหน้าก็ถึงกับมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าพระองค์แรก จะทรงสร้างพระราชมณเฑียรทรงปราสาทเช่นเดียวกับพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ สมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่า วันหนึ่งใน พ.ศ. 2346 เกิดมีผู้ลักลอบเข้าวังหน้า 2 คน เพื่อหวังจะทำร้ายพระองค์ แต่มีผู้พบและฆ่าตายได้เสียก่อนที่บริเวณจะทรงสร้างปราสาทพอดี พระองค์จึงมีพระดำริว่า การสร้างที่ประทับทรงปราสาทเห็นจะเกินวาสนา ก็โปรดให้ระงับเสีย
และอีกคราวหนึ่งในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ในรัชกาลที่ 3 โปรดให้มีการบูรณะอาคารในวังหน้าที่กำลังอยู่ในสภาพทรุดโทรมทั้งหมด และทรงสร้างวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือพระแก้ววังหน้าขึ้น โดยมีพระดำริจะสร้างเป็นหลังคาทรงยอดปราสาท แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงห้ามปรามไว้ เพราะไม่มีธรรมเนียมการสร้างปราสาทในพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์จึงทรงเปลี่ยนเป็นหลังคาทรงจัตุรมุขแทน
รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนธรรมเนียมวังหน้า เมื่อพระมหาอุปราชมีฐานะเทียบเท่าพระมหากษัตริย์
“ถ้าฉันไม่ให้เธอเป็นพระเจ้าแผ่นดินคู่กับฉัน เธอนั้นก็น่าจะต้องได้เป็นเพียงพระองค์เดียวโดยแน่แท้”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จาก นิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาในพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยมีพระอิสริยยศเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดิน ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์
หนังสือ นิทานโบราณคดี ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่า ดวงพระชะตาของสมเด็จพระอนุชานั้นแรงกล้า ทรงมีวาสนาจะได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง และหากพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติแต่เพียงผู้เดียวจะเกิดอัปมงคลด้วยไปกีดพระบารมีพระราชอนุชา จะทรงครองอยู่มิได้นาน
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการแก้ไขธรรมเนียมประเพณีของฝ่ายวังหน้าหลายประการ เพื่อแสดงถึงพระอิสริยยศของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สูงกว่าวังหน้าพระองค์ก่อนๆ อาทิ การเปลี่ยนนามพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นพระบวรราชวัง หรือเปลี่ยนคำราชาศัพท์ โดยให้ใช้คำว่าบวร เช่น พระบวรราชโองการ พระราชพิธีบวรราชาภิเษก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนธรรมเนียมสถาปัตยกรรมของวังหน้าใหม่ โดยโปรดให้สร้างอาคารที่สงวนไว้ใช้เฉพาะสำหรับวังหลวงเท่านั้นมาสร้างในวังหน้า เพื่อประกอบฐานานุศักดิ์ของผู้ครองวังที่เทียบเท่าวังหลวง โดยสร้างอาคารทรงปราสาทขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในวังหน้าคือ พระที่นั่งคชกรรมประเวศ และอาคารที่พระเจ้าแผ่นดินไว้ใช้เวลาปฏิบัติราชการอย่างพลับพลาสูงขึ้น
พระที่นั่งคชกรรมประเวศ
Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-26
ไอยคุปต์ ธนบัตร และบัณฑิต ลิ่วชัยชาญ นักวิชาการสำนักวรรณกรรม กรมศิลปากร
ไอยคุปต์ ธนบัตร และบัณฑิต ลิ่วชัยชาญ นักวิชาการสำนักวรรณกรรม กรมศิลปากร อธิบายถึงการสร้างพระที่นั่งคชกรรมประเวศว่า “การสร้างเมืองจะมีสิ่งที่แสดงถึงความเป็นมงคล ความเป็นพระมหากษัตริย์ก็คือ วัด พระที่นั่งสำคัญ ศาสนสถานสำคัญ พระที่นั่งคชกรรมประเวศก็เป็นหนึ่งในอาคารที่จะเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์อย่างหนึ่งในสมัยก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเล็งเห็นว่า ในเมื่อทรงสถาปนาสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แล้ว และเมื่อก่อนก็ไม่มีพระที่นั่งทรงปราสาทในนี้เลย ครั้งนี้ก็น่าจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า พระองค์ทรงยอมรับสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ทรงเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง” ไอยคุปต์กล่าว
พระที่นั่งคชกรรมประเวศตั้งเป็นอาคารเครื่องไม้ทรงปราสาท เครื่องยอด 5 ชั้น อยู่บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ขนาดและรูปสัณฐานคล้ายพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ด้านหน้าอาคารมีเกยสำหรับทรงช้าง แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระที่นั่งคชกรรมประเวศได้ถูกรื้อออกไป เพราะมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เหลือเพียงฐานกับเกยช้างที่ยังเหลือให้เห็นอยู่หน้าชานชาลาของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เท่านั้น
พลับพลาสูงตั้งอยู่บนแนวกำแพงด้านทิศตะวันออกของพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกับพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทในพระบรมมหาราชวัง
Photo: www.facebook.com/wangnaproject
แผนที่พื้นที่วังหน้าเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมปัจจุบัน แสดงตำแหน่งที่ตั้งของพลับพลาสูง
Photo: www.facebook.com/wangnaproject
พลับพลาสูง เป็นอีกอาคารหนึ่งของวังหลวงที่นำมาสร้างในวังหน้า โดยนำรูปแบบสถาปัตยกรรมและลักษณะการใช้งานมาจากพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง มีการใช้เครื่องประดับตกแต่งหลังคา หรือเรียกว่า เครื่องลำยอง แบบนาคสะดุ้งงวงไอยรา และลดชั้นหลังคาเป็น 4 ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะการตกแต่งหลังคาของวังหลวงมาใช้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
“การใช้ประโยชน์ของมันก็คือ มันอยู่ริมรั้ว เอาไว้ประทับ เพื่อทอดพระเนตรชมการซ้อมรบ การฝึกทหาร มีทหารมาฝึกกลยุทธ์แบบตะวันตกให้ดู หรือกิจกรรมกระบวนแห่ต่างๆ” ไอยคุปต์กล่าว
อย่างไรก็ตาม พลับพลาสูงก็มีชะตาเช่นเดียวกับพระที่นั่งคชกรรมประเวศ เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปรับเปลี่ยนผังเมือง ขยายพื้นที่ และตัดถนนรอบสนามหลวง โดยรื้อแนวกำแพงด้านทิศตะวันออกของพระราชวังบวรสถานมงคลออก ทำให้พื้นที่ด้านหน้าของพระราชวังบวรสถานมงคลลดลง พลับพลาสูงจึงถูกรื้อไปพร้อมๆ กับแนวกำแพงชั้นนอกด้านทิศตะวันออกของวังหน้า อาคารทั้งสองจึงหายไปจากความทรงจำของผู้คนในปัจจุบัน กระนั้น ร่องรอยการมีอยู่ของพระที่นั่งคชกรรมประเวศและพลับพลาสูงก็ได้จารึกประวัติศาสตร์ของวังหน้าไว้ว่า ยุคหนึ่งวังหน้าเคยมีความสำคัญและความยิ่งใหญ่มากเคียงคู่กับวังหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สกุลช่างวังหน้า ศิลปะการสร้างอาคารที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
อาคารต่างๆ ของวังหน้าที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ได้สืบทอดลักษณะทางศิลปกรรมที่เรียกว่า สกุลช่างวังหน้า ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงเน้นระเบียบในการสร้างตามฐานานุศักดิ์ที่ไม่ทำเทียมวังหลวง ทำให้ลักษณะทางศิลปกรรมทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรมของวังหน้ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และกลายเป็นต้นแบบในการสร้างต่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลองค์ต่อๆ มา ยกตัวอย่างลักษณะของหลังคาและเครื่องลำยองของสกุลช่างวังหน้าที่แสดงออกถึงฐานานุศักดิ์ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งสังเกตเห็นได้ในปัจจุบัน คือ
1. อาคารสถาปัตยกรรมวังหน้าไม่มีอาคารทรงปราสาทเลย แต่ทำเป็นหลังคาทรงจั่ว ไม่มีมุขลด หรือลดมุขด้านหน้าและด้านหลังเพียง 2 ชั้น และมุงด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ขณะที่วังหลวงนิยมใช้กระเบื้องทำด้วยดีบุก หรือกระเบื้องเคลือบสีตัดกันหลายสี
2. ลักษณะหน้าบันของอาคารในวังหน้าส่วนใหญ่เป็นไม้แกะสลักรูปเทวดา ขณะที่หน้าบันของวังหลวงนิยมแกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ แสดงออกว่า เป็นที่ประทับของพระเจ้า
3. ช่อฟ้า คือส่วนหนึ่งของเครื่องลำยอง นิยมทำช่อฟ้าแบบปากปลา มีจะงอยปากแหลมขึ้น ขณะที่วังหลวงจะทำช่อฟ้าปากครุฑ มีจะงอยงุ้มลง
4. ตัวลำยอง คือส่วนหนึ่งของเครื่องลำยอง เป็นไม้ปิดปลายระแนงที่เหมือนลำตัวพญานาค จะทำเป็นตัวตรง ขณะที่วังหลวงจะทำตัวลำยองแบบโค้งและหยักไปมาเหมือนพญานาคกำลังเลื้อย เรียกว่า นาคสะดุ้ง
5. หางหงส์ คือส่วนหนึ่งของเครื่องลำยองอยู่ตรงส่วนปลาย ทำเป็นนาคเบือนคล้ายเศียรนาค 3 เศียร เอี้ยวมาทางหน้าจั่ว
6. คันทวย ทำหน้าที่ค้ำยันชายคา ระเบียง หรือหลังคา จะทำเฉพาะลายนาคเท่านั้น
ต่อมาแบบสถาปัตยกรรมจะมีความเคลื่อนคล้อยไปตามความนิยมของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแต่ละพระองค์ ซึ่งทั้งได้อิทธิพลจากสกุลช่างวังหลวงมา เพราะกรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็ล้วนเป็นเจ้านายฝ่ายวังหลวงที่ได้รับการสถาปนาอุปราชาภิเษกขึ้น และได้รับอิทธิพลทั้งทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากต่างประเทศไปตามความเจริญของสังคมที่พัฒนาขึ้นตามลำดับ
“ศิลปะสกุลช่างวังหน้าในแต่ละสมัยจะมีความต่างกัน อย่างในสมัยรัชกาลที่ 1 จะมีความเป็นไทยดั้งเดิมหน่อย รัชกาลที่ 3 มีความเป็นจีน รัชกาลที่ 4 มีความเป็นฝรั่งเข้ามา กลายเป็นจีนผสมกับตะวันตก สกุลช่างวังหน้าจึงมีความหลากหลายมาก” ไอยคุปต์และบัณฑิตกล่าว
ยกตัวอย่างอาคารสำคัญที่แสดงถึงลักษณะสกุลช่างวังหน้าในแต่ละยุคสมัยคือ
พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
สร้างขึ้นในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อ พ.ศ. 2325 ใช้เป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกขุนนาง และบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ โดยขนาดและตำแหน่งที่ตั้งถ่ายแบบมาจากพระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวง พระนครศรีอยุธยา สร้างด้วยเครื่องไม้เป็นท้องพระโรงโถงไม่มีฝา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี และไม่มีเครื่องยอดปราสาท ครั้นสมัยรัชกาลที่ 3 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพโปรดให้ปฏิสังขรณ์ขยายขนาดและสร้างใหม่เป็นเครื่องก่ออิฐถือปูน
ต่อมามีการต่อเติม แก้ไขทำผนัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อคราวปรับเปลี่ยนวังหน้าเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับพระนคร พ.ศ. 2430 โดยทำมุขขึ้นด้านหน้า ทำหลังคาเป็นชั้นลด 3 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผา ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันด้านหน้าจำหลักพระนารายณ์ทรงครุฑ หน้าบันด้านหลังจำหลักลายพระพรหมทรงหงส์ ปัจจุบันเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
คอสองประดับด้วยลายปูนปั้นเป็นลายเฟื่องอุบะระย้าประดับริบบิ้นแบบศิลปะยุโรป
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
สร้างในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ใช้เป็นหอพระของวังหน้า ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่ เมื่อคราวพระองค์เสด็จนำทัพไปไล่กองทัพพม่าที่มาปิดล้อมเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2338 และได้อัญเชิญพระพุทธรูปมายังพระนคร
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นอาคารตึกก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ยกพื้นสูง ส่วนพื้น ประตู หน้าต่าง เพดาน และโครงหลังคาประกอบด้วยไม้ ส่วนหลังคาเป็นหน้าจั่วทรงสูง เครื่องลำยองทำด้วยไม้ หน้าบันสลักรูปพระพรหมสถิตในพระวิมาน 3 หลัง ล้อมด้วยกนกเทพนมเครือเถา ลองสังเกตใต้ชายคาจะเห็นคันทวยทำเป็นรูปนาคพันเกี่ยวด้วยเถาพันธุ์พฤกษาอย่างงดงาม เป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1
ด้านในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีจิตรกรรมฝาผนังที่สืบเนื่องจากสมัยอยุธยาคือ นิยมเขียนภาพเทพชุมนุมเหนือกรอบประตูหน้าต่าง และผนังส่วนล่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ ซึ่งเอกลักษณ์ของสกุลช่างวังหน้าในสมัยนี้จะนิยมใช้สีเข้มคล้ำเป็นพื้น และเขียนภาพบุคคลด้วยสีอ่อนนวล ขณะที่จิตรกรรมสมัยอยุธยามักนิยมใช้สีอ่อนเป็นพื้น และเขียนภาพบุคคลด้วยสีเข้ม
ในสมัยรัชกาลที่ 3 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงซ่อมพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เพิ่มเติม ซึ่งเห็นได้ในปัจจุบันคือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูง ด้านนอกมีเสาเฉลียงลอยรูปสี่เหลี่ยมลบมุม 36 ต้น ส่วนคอสองประดับด้วยลายปูนปั้นเป็นลายเฟื่องอุบะระย้าประดับริบบิ้นแบบศิลปะยุโรป ด้านหน้าทำเป็นลานกว้าง มีฐานและเกยขึ้นช้างของพระที่นั่งคชกรรมประเวศตั้งอยู่
หมู่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในอดีต
Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-34
หมู่พระวิมาน
หมู่พระวิมาน คือกลุ่มพระที่นั่งซึ่งสร้างขึ้นให้เป็นพระวิมานที่ประทับในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท คราวเดียวกับการสร้างหอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปัจจุบันหมู่พระวิมานได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมด คงเหลือแต่เพียงพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพที่ใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
หมู่พระวิมานสะท้อนถึงคติของการสร้างปราสาทเป็นที่ประทับ 3 ฤดูของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสร้างคล้ายกับหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งสร้างติดกัน 3 หลัง แต่หมู่พระวิมานของวังหน้าจะสร้างห่างกัน 3 หลัง มีชานชาลาคั่น และตั้งชื่อให้คล้องกันตามฤดูคือ วสันตพิมาน วายุสถานอมเรศ พรหมเมศธาดา (ชื่อเดิม พรหเมศรังสรรค์) และสร้างมุขออกไปทั้งด้านหน้าและหลัง โดยมีหลังคาเชื่อมต่อกันรวมเป็นหมู่พระที่นั่ง 11 องค์
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังเขียนกล่าวชมไว้ในตำนานวังหน้าว่า “เป็นสำคัญยิ่งกว่าพระราชมณเฑียรองค์อื่นๆ ทั้งสิ้น เพราะใหญ่โต รวมพระที่นั่งอยู่ในหมู่เดียวกันถึง 11 องค์ ฝีมือที่สร้างก็ประณีต บรรจง ลวดลายและฝีมือแกะไม้ที่พนักกับหูช้างกรอบพระบัญชร ยังเป็นความพิศวงอยู่จนทุกวันนี้ ด้วยยักเยื้องแบบอย่างต่างๆ เกือบไม่มีซ้ำกันสักช่องหนึ่ง…”
พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-34
พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
เดิมพื้นที่ของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนั้นเป็นมุขเด็จพระวิมานสำหรับสมเด็จพระมหาอุปราชเสด็จออกรับแขกเมือง เบื้องหน้าเป็นชานชาลากว้าง ล้อมรอบด้วยทิมคด 3 ด้าน เรียกว่า ทิมมหาวงศ์ ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 หมู่พระวิมานชำรุดทรุดโทรมมาก ต้องรื้อและปฏิสังขรณ์ใหม่หมด กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพจึงโปรดให้สร้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นท้องพระโรงต่อออกไปด้านหน้า โดยถ่ายแบบจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นที่เสด็จออกรับแขกเมืองและบำเพ็ญราชกุศลเช่นเดียวกัน ปัจจุบันพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยใช้เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ลักษณะอาคารแสดงถึงพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวขนาด 10 ห้อง ฝากั้นทึบทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้ามีระเบียง เสาระเบียง และเสาภายในอาคารก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยมลบมุมขนาดใหญ่ มีพระทวารด้านหน้า 3 บาน บานพระแกลและบานพระทวารเขียนลายรดน้ำเป็นลายกอดอกไม้ประกอบด้วยนกและแมลง ภาพเสือขย้ำโค และลายนกคู่ หลังคาชั้นลดประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันจำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกเป็นลายเทพนมอยู่บนช่อกนก
วัดบวรสถานสุทธาวาสหรือวัดพระแก้ววังหน้า
Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ 009-010
วัดบวรสถานสุทธาวาส
วัดบวรสถานสุทธาวาสมีอีกชื่อหนึ่งว่า วัดพระแก้ววังหน้า เป็นวัดเช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวังจึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แต่เดิมตั้งอยู่ในเขตอุทยานชั้นนอกด้านทิศเหนือของวังหน้า ปัจจุบันตั้งอยู่ในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ใช้เป็นที่ประกอบพิธีไหว้ครู และพิธีมงคลต่างๆ ของนาฏศิลปิน ดุริยางคศิลปิน และกรมศิลปากร
การสร้างวัดพระแก้ววังหน้าแสดงถึงการล้อผังเมืองของวังหลวงที่จะต้องมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในอาณาจักรของตนเอง “รัชกาลที่ 1 มีวัดพระแก้ว วังหน้าก็ล้อตามให้มี เป็นวัดพระแก้ววังหน้า วัดพระแก้วมีพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ วังหน้าก็มีพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์” บัณฑิตกล่าว
กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพโปรดให้สร้างหลังคาให้เป็นทรงจัตุรมุขแทนทรงปราสาท เป็นหลังคาลด 2 ชั้น หน้าจั่วประดับด้วยช่อฟ้าแบบปากปลาปลายจะงอยขึ้น ส่วนใบระกาทำเป็น 2 แบบ คือส่วนบนที่ต่อจากช่อฟ้าครึ่งหนึ่งเป็นไม้ตรง ส่วนล่างทำเป็นตัวลำยองแบบนาคสะดุ้งต่อกับไม้ตรง หางหงส์ทำเป็นนาคเศียรแบบนาคปัก อาคารเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีมุขยื่นออกทั้ง 4 ด้าน ตั้งอยู่บนฐานไพทีขนาดใหญ่ เสาระเบียงขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมลบมุม 5 ด้าน
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ อาคารที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
เป็นอาคารซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างตามพระราชนิยมในวัฒนธรรมตะวันตกของพระองค์เอง ถือเป็นอาคารฝรั่งแห่งแรกในวังหน้า ใช้เป็นที่ประทับจนกระทั่งสวรรคต และเป็นที่รับรองแขกต่างบ้านต่างเมือง เช่น ต้อนรับเซอร์จอห์น เบาว์ริง อัครราชทูตอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2398 ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงเครื่องเรือนแบบยุโรปและจีนตามลักษณะการใช้งานพระที่นั่งมาแต่เดิม ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย โดยเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น มีอัฒจันทร์เป็นทางขึ้นพระที่นั่งจากภายนอกไปสู่เฉลียงหรือพาไลหน้าตามแบบอาคารตะวันตกรุ่นแรกที่สร้างในกรุงเทพฯ หลังคาทรงจั่วชั้นเดียวไม่มีมุขลด หน้าจั่วทั้งสองด้านปั้นปูนประดับเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์คือ รูปปิ่นประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าอยู่ภายในช่อมาลาประกอบลายพันธุ์พฤกษา
ชั้นบนของพระที่นั่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในแบ่งเป็น 5 ห้อง มีห้องเสวยอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยห้องรับแขกและห้องบรรทม ปลายสุดทางทิศเหนือเป็นห้องทรงพระอักษรและห้องสมุด ปลายสุดทางทิศใต้เป็นห้องแต่งพระองค์
การสร้างอาคารของวังหน้าตลอด 5 รัชกาล แสดงให้เห็นถึงลักษณะร่วมคือ การรักษาธรรมเนียมการสร้างตามฐานานุศักดิ์ของเจ้าของบ้านอย่างเคร่งครัด ผสานไปกับพระราชนิยมของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในแต่ละยุค “มรดกวัฒนธรรมของวังหน้าที่เห็นได้ชัดคือ ตัวอาคารที่ยังอยู่ทุกวันนี้มันสะท้อนถึงศิลปะ ถึงยุคสมัยของมัน ถึงเรื่องราวของคนสร้าง” ไอยคุปต์กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง
- โกสินทร์ รตนประเสริฐ. 2558. วังหน้า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ยิปซี.
- สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, กรมศิลปากร. 2545. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลกับงานศิลปกรรมแบบพระราชนิยม (ศิลปกรรมสกุลช่างวังหน้า สมัยรัตนโกสินทร์). กรุงเทพฯ: เอ.พี.กราฟิค ดีไซน์ และการพิมพ์.
- www.khaosod.co.th/amulets/news_61828
- ejournals.swu.ac.th/index.php/hm/article/view/774/786
- www.finearts.go.th/promotion/files/266/WangNa-Knowledge.pdf
- suebpong.rmutl.ac.th/conweb/wat2.htm
- www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_5943
- โครงการนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยีโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคลผ่านงานสถาปัตยกรรมและการใช้เทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการกับผู้คน กระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่าย นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม