×

แง่งามในเชิงสถาปัตยกรรม และตำแหน่งที่ตั้งอันสะท้อนตำราพิไชยสงคราม

22.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • พระราชวังบวรสถานมงคลมีความพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์ที่กลายมาเป็น ‘สกุลช่างวังหน้า’ ซึ่งหาที่ไหนไม่ได้ในโบราณสถานอื่นๆ ส่วนที่ตั้งของวังหน้าคือ ด่านหน้าในการรับมือกับข้าศึกศัตรูที่มารุกรานบ้านเมือง
  • วังหน้าในยุครัตนโกสินทร์มีพัฒนาการที่สำคัญกว่าในสมัยอยุธยา ซึ่งมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรเรื่องการเริ่มสถาปนาตำแหน่งวังหน้าขึ้นมา โดยยุครุ่งเรืองของวังหน้าอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 4
  • จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การก่อตั้งเมืองโดยมีพระราชวังเป็นศูนย์กลางต้องเป็นไปตาม ตำราพิไชยสงคราม โดยอ้างอิงจากการตั้งทัพหรือแต่งทัพในสงครามที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและนาคนามคือ หนึ่งใน 8 ลักษณะของภูมิประเทศที่เหมาะกับการตั้งเมือง โดยอาศัยแม่น้ำเป็นปราการปกป้องเมือง
  • บทบาทของวังหน้าในบริบทการเมืองการปกครองในปัจจุบันอาจจะเลือนหาย แต่คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ของพระราชวังโบราณแห่งนี้ยังคงยืนหยัดเต็มเปี่ยมเหนือกาลเวลา

 

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

ชาวกรุงและผู้มาเยือนจากทั่วประเทศคงคุ้นเคยกับการสำรวจเกาะรัตนโกสินทร์ และย่านเก่าในละแวกใกล้เคียงทั้งสองฟากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา คนที่ชอบเดินเข้าตรอกนั้นออกย่านนี้คงจะสนุกกับการซอกแซกไปโผล่ในถิ่นแถวที่มรดกทางวัฒนธรรมยังคงประจักษ์ในรูปของอาคารสถาปัตยกรรมโบราณ

 

แน่นอนว่า ณ ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ พระบรมมหาราชวังยังโดดเด่นเป็นสง่า และมีศักยภาพดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเยือนได้ปีละหลายล้านคน แต่ห่างจากวังหลวงอันเป็นโบราณสถานที่เชิดหน้าชูตาของชาติมาไม่ไกล เป็นที่ตั้งของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ที่แม้รูปลักษณ์ภายนอกอาจวิจิตรบรรจงไม่เท่า แต่เปี่ยมด้วยคุณค่าความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

 

ด้วยความที่ตั้งวังหน้าอยู่ไม่ไกลจากวังหลวง ในวันที่แดดร่มลมตก คุณอาจเคยฝ่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งเอเชียและตะวันตกชมความอลังการและประณีตบรรจงของเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมไทยในพระบรมมหาราชวัง แล้วเดินทอดน่องไปเรื่อยๆ โดยมีท้องสนามหลวงอยู่เบื้องขวา ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วมาต่อยอดการข้ามเวลาไปหาอดีตด้วยการเที่ยวชมวังหน้า เพื่อรื้อฟื้นเรื่องราวในการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ไปในคราวเดียว

 

ภูมิสถาปัตยกรรมและเอกลักษณ์แห่งความงามของวังหน้า

“ผมจะมองความโดดเด่นของวังหน้าอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องตำแหน่งที่ตั้ง เป็นจุดที่เป็นตัวปกป้อง เป็นผู้ปกป้องเมือง ส่วนเรื่องตัวสถาปัตยกรรมก็มีความสำคัญ ความโดดเด่นรองจากวังหลวงเท่านั้น” ดร. พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก ประจำสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ให้ความเห็นเกี่ยวกับพระราชวังบวรสถานมงคล

 

ดร. พรธรรม

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

ดร. พรธรรมทำงานเกี่ยวข้องกับภูมิสถาปัตยกรรม และคุ้นเคยกับงานอนุรักษ์หรือการบูรณะที่ต้องคำนึงเรื่องงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมนอกเหนือจากตัวอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร. พรธรรมยังเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานเบื้องหลังโครงการอนุรักษ์วังหน้าของกรมศิลปากรมาก่อน

 

ในเชิงสถาปัตยกรรม พระราชวังบวรสถานมงคลมีความพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์ที่กลายมาเป็น ‘สกุลช่างวังหน้า’ ซึ่งหาที่ไหนไม่ได้ในโบราณสถานอื่นๆ ขณะเดียวกันที่ตั้งของวังหน้าคือ ด่านหน้าในการรับมือกับข้าศึกศัตรูที่มารุกรานบ้านเมือง วังหน้าในอดีตจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นทัพที่ยันข้าศึกให้ประชิดทัพหลวงช้าที่สุด

 

“ความโดดเด่นของเรื่องที่ตั้งก็ถือว่าเป็นนัยสำคัญที่แสดงถึงการเป็นผู้ปกป้องเมือง ถ้าเราจะดูเมืองต่างๆ กรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่ง ถ้าเราดูลึกก็จะเห็นว่า ตำแหน่งวังหน้าเป็นจุดที่สำคัญที่สุดจุดหนึ่งของเมืองหลวงสมัยก่อน ผมว่าถ้าเทียบกับหน้าที่ของชนชั้นปกครอง จะมีกษัตริย์ อุปราช ซึ่งวังหน้าก็คือ พระมหาอุปราช ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการไปรบข้างนอก ทัพของอุปราชก็ต้องนำก่อน หรือเวลาข้าศึกมาตีเมือง อุปราชก็จะต้องปกป้องก่อน อันนี้คือเรื่องของผัง

 

“ส่วนเรื่องตัวสถาปัตยกรรมก็มีความสำคัญและความโดดเด่นรองจากวังหลวง เพราะอย่างความใหญ่โต ขนาด หรือฝีมือ จะเป็นช่างสกุลวังหน้า ซึ่งก็เป็นสกุลช่างที่สมัยก่อนมีชื่อเสียงรองลงมาจากวังหลวง เพราะถือว่าสร้างให้เจ้านาย หรือพระมหาอุปราช ต้องมีความประณีต งดงาม แต่อย่างที่ว่าความอลังการจะไม่เท่ากับวังหลวง เพราะมีฐานานุศักดิ์เป็นตัวกำหนด แต่ถ้าถามว่า ในเชิงสถาปัตยกรรมมีคุณค่า มีความงดงามไหม มีแน่ครับ ก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง” ดร. พรธรรมขยายความเรื่องเอกลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรมของวังหน้า

 

วังหน้า

Photo: หอจดหมายเหตุ ((2)ภ002 หวญ 2-5 (ภาพที่ 1)

 

“ความเป็นวังหน้าที่ปรากฏอยู่ที่ตัวสถาปัตยกรรม ปัจจุบันจะมองไม่ค่อยเห็นมากนัก เพราะถูกปรับเปลี่ยนมาเยอะ แต่สมัยก่อนจะมีการก่อสร้างอะไรบางอย่างที่ปัจจุบันเหลือแค่ฐาน ในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของวังหน้าก็คือ ยุคสร้างกรุงสมัยรัชกาลที่ 1 ที่พระอนุชาของรัชกาลที่ 1 ช่วยกันรบมา ภายหลังรัชกาลที่ 1 ก็ทรงแต่งตั้งเป็นวังหน้าพระองค์แรก ถือเป็นยุคที่รุ่งเรือง”

 

ดร. พรธรรมมองว่า วังหน้าในยุครัตนโกสินทร์มีพัฒนาการที่สำคัญกว่าในสมัยอยุธยา ซึ่งมีหลักฐานของการเริ่มสถาปนาตำแหน่งวังหน้าขึ้นมา โดยนอกจากสมัยรัชกาลที่ 1 แล้ว จะมีอีกยุคหนึ่งที่เจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกัน คือสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นยุคของพระปิ่นเกล้า “ตรงนั้นรุ่งเรืองถึงขนาดว่า เราตั้งวังหน้าให้เป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ซึ่งตรงนี้จะสื่อถึง รูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคนั้น”

 

จากความรุ่งเรืองในอดีต วังหน้ากลายเป็นแหล่งทรงคุณค่าในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน ในการทำงานโครงการอนุรักษ์วังหน้า หรือโครงการโบราณสถานใดๆ ก็ตาม ทีมงานไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ตัวอาคารอย่างเดียวเท่านั้น เปรียบเหมือนการดูแลบ้านที่ต้องพิจารณาพื้นที่โดยรอบในฐานะสภาพแวดล้อมของที่อยู่ด้วย ภูมิสถาปัตยกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญไม่น้อยในจุดนี้

 

“ในฐานะหน้าที่ภูมิสถาปนิกที่ดูเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของวังหน้า จริงๆ คำว่า ภูมิสถาปัตยกรรมของวังหน้ามีตั้งแต่เรื่องผัง เวลาเราศึกษาวังหน้าเราจะศึกษาเปรียบเทียบกับตำแหน่งที่ตั้งที่สัมพันธ์กับเมืองด้วย การที่จะรู้ว่า วังหน้าอยู่ตำแหน่งไหนของเมือง เราจะสามารถรู้ได้ด้วยว่า ปรัชญาในการวางผังของเขา ทำไมเขาถึงวางไว้ตรงนี้ ด้านหน้าทำไมถึงอยู่ตรงนี้ ทางเข้าทำไมถึงอยู่ตรงนี้ มีนัยทั้งหมด ถ้าเราศึกษาดีๆ จะรู้ว่า เมืองในยุคก่อนโน้นที่มีวังหน้า ลักษณะของเมืองเป็นอย่างไร การเข้าถึงเป็นอย่างไร ตรงไหนมีส่วนสำคัญอะไรบ้าง นี่คือลักษณะของตัวภูมิสถาปัตยกรรม เป็นตัวบอกเล่าถึงเรื่องอดีต ดังนั้นการศึกษาในเรื่องภูมิสถาปัตยกรรมก็จะเริ่มตั้งแต่ผัง โดยเป็นผังที่เปรียบเทียบกับเมืองทั้งเมือง

 

แผนผังที่ตั้งวังหน้า

Photo: www.finearts.go.th

 

“ถ้าเราดูในผังโบราณ พื้นที่ของวังหน้ากับวังหลวงเกือบจะใกล้เคียงกันเลยครับ วังหลวงอาจจะใหญ่กว่าหน่อยหนึ่ง แล้วตำแหน่งของวังหลวงจะอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยมากกว่า ถ้าเปรียบเทียบตามหลักฮวงจุ้ย วังหลวงก็จะอยู่ตรงท้อง วังหน้าจะอยู่ตรงหัว ฮวงจุ้ยที่ว่าก็คือ ในเรื่องของนาค เป็นรูปแบบของการตั้งทัพบนพื้นที่ลุ่มที่มีแม่น้ำเป็นหลักในการตั้งพื้นที่” ดร. พรธรรมอ้างอิงถึงหลักการเลือกที่ตั้งวังหลวงและวังรายล้อม ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์โยงใยไปถึง ตำราพิไชยสงคราม ที่ได้รับถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษรมาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา

 

เมื่อเวลาล่วงเลยไป ทั้งตัววังหน้าและตำราโบราณที่เคยใช้เป็นหลักสำคัญในการสร้างบ้านตั้งเมือง ไม่อาจต้านทานกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงได้

 

อ. วโรภาสน์ วงศ์จตุรภัทร หัวหน้ากลุ่มภูมิสถาปัตยกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เสริมเรื่องความสำคัญของวังหน้าที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยว่า “เมื่อก่อนขนาดวังหน้าใหญ่โตมาก พื้นที่เทียบกับวังหลวงก็ใกล้เคียงกันมาก เพราะฉะนั้นวังหน้าสมัยก่อนน่าจะมีความสำคัญมาก สะท้อนให้เห็นถึงตรงนั้นในยุคนั้น ถ้าพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ด้านในมีพื้นที่ประมาณนี้ วังหลวงขนาดนั้น วังหน้าขนาดนี้ ผมว่า รัตนโกสินทร์ชั้นในน่าจะเป็นพื้นที่ที่เกือบจะเป็นเขตพระราชทานของเมืองไปแล้ว คือประชาชนก็เข้ายากแล้ว เป็นเรื่องของสถาบัน ข้ามฝั่งไปด้านกรุงธนบุรีด้วย เพราะกรุงธนบุรีเป็นวังหลัง รูปร่างแบบนั้น ความสัมพันธ์ของผังแบบนั้น สัมพันธ์กับการจราจรทางน้ำ การเข้าออก การเชื่อมต่อ มีคนบอกว่า ตรงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเป็นคลองชั้นใน คูเมืองชั้นใน เขาบอกว่า วังหน้าไม่ได้อยู่แค่ชั้นในนะ มีสะพานเดินเชื่อมไปชั้นกลางด้วย คือแถวๆ บางลำพู พื้นที่บางส่วนเป็นของวังหน้า พื้นที่ของวังหน้าจึงไม่ใช่แค่ที่เห็นในชั้นใน แต่มีชั้นนอกด้วย มีความสัมพันธ์กับเส้นทางการสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ท่าน้ำก็ต้องมี ประตูวัดก็ต้องออกทางด้านนี้ เชื่อมต่อ มีความสัมพันธ์กับคูเมืองชั้นใน

 

“แต่ต่อมาวังหน้าลดความสำคัญลง ตัดถนนราชดำเนินในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำสนามหลวงใหม่เป็นรูปแคปซูลอย่างที่เห็น บีบวังหน้าจนเหลือเล็กนิดเดียว จริงๆ คือเหมือนความเป็นวังหน้าไม่มีเหลือแล้ว พอถนนเริ่มสำคัญ วังหน้าก็หายไป ส่วนที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดก็คือ พอขาดความเป็นวังหน้า ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีแล้วยกเลิกไป อย่างอื่นก็เข้ามาแทนหมด ผังเมืองก็จะปรับเปลี่ยนไป ดังนั้นผมว่า ช่วงแรกที่มีวังหน้า ความสำคัญในช่วงนั้นมีมากพอสมควร แต่พอตอนหลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ความสำคัญก็เลยลดลงไปด้วย”

 

อ. วโรภาสน์

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

บทบาทของวังหน้าในบริบทการเมืองการปกครองในปัจจุบันอาจเลือนหายไป แต่คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ของพระราชวังโบราณแห่งนี้ยังคงยืนหยัดเต็มเปี่ยมเหนือกาลเวลา และท้าทายให้เกิดโครงการอนุรักษ์อยู่เนืองๆ

 

ด้วยความที่งานอนุรักษ์พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มีความซับซ้อนในการดำเนินงาน อาจารย์วโรภาสน์อธิบายกว้างๆ เรื่องงานภูมิสถาปนิกทั่วๆ ไปกับภูมิสถาปนิกในเชิงโบราณคดีว่ามีความต่างกัน

 

“งานภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานที่ทำเกี่ยวกับพื้นที่ พื้นที่ภายนอกอาคาร พื้นที่ภายนอกอาคารมีอะไร ภูมิสถาปนิกต้องรู้ ถ้าไม่รู้ ทำงานออกมาก็ไม่ดี โบราณสถานกับพื้นที่ใหม่ก็ต่างกันอยู่ตรงที่ว่า ในพื้นที่ของโบราณสถาน ก็จะมีโบราณสถานตั้งอยู่ แต่พื้นที่ใหม่ก็จะมีน้อยหรือไม่มี เพราะฉะนั้นสิ่งที่แตกต่างระหว่าง ภูมิสถาปนิกที่เขาทำงานในพื้นที่ใหม่ๆ ทั่วไปคือ เราต้องรู้ว่า ความสำคัญของพื้นที่ มีอะไรอยู่ในพื้นที่บ้าง อะไรที่สำคัญ เช่น ดิน น้ำ ต้นไม้ หรือโบราณสถานก็ต้องดูหมด อันนี้เป็นส่วนที่เหมือนกันของภูมิสถาปนิกทั้ง 2 แบบ แล้วถ้าสิ่งสำคัญเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เป็นโบราณคดี ก็จะต้องมีภูมิสถาปัตยกรรมโบราณแทรกอยู่ในนั้น ก็ต้องศึกษาส่วนนั้นเพิ่ม เป็นความแตกต่างที่ซ้อนทับกันอยู่ มี 2 เรื่อง คือ เรื่องของธรรมชาติ และวัฒนธรรม หรือโบราณสถานนั่นแหละ”

 

แน่นอนว่า กรมศิลปากรและบุคลากรที่ทำงานในกรมฯ ต่างตระหนักดีว่า พื้นที่วังหน้ามีความสำคัญในฐานะมรดกทางสถาปัตยกรรมมากขนาดไหน จากการทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาก่อน จนนำไปสู่การขุดพบใหม่ๆ ที่สะท้อนประวัติศาสตร์ของชาติไทย การขุดพบแต่ละครั้งยิ่งเปิดเผยแง่มุมใหม่ๆ ให้ทีมงานได้เข้าใจพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น ในฐานะโบราณสถานสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของชาติ

 

ย้อนกลับไปยังต้นยุครัตนโกสินทร์ ด้วยความสำคัญในเชิงภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์ ความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมของตัววังหน้ายังบ่งบอกเรื่องฐานานุศักดิ์ของสถานที่ได้เป็นอย่างดี

 

ดร. พรธรรม

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

“จริงๆ แล้วตัวสถาปัตยกรรมของวังหน้าจะเป็นรูปแบบหนึ่ง สถาปัตยกรรมไทยจะมีชั้นวรรณะ จะมีลำดับศักดิ์ ที่สำคัญที่สุดคือ วังหลวง วังหลวงจะมีการตกแต่งประดับประดาที่สมบูรณ์แบบเต็มที่ เป็นจุดสูงสุดของสังคม วังหน้าถือเป็นรองลงมา ดังนั้นรูปแบบสถาปัตยกรรมของวังหน้า การประดับประดา หรือทรงต่างๆ จึงคล้ายกับวังหลวง เพียงแต่มีบางอย่างที่วังหน้าทำไม่ได้ ด้วยฐานานุศักดิ์ เช่น เครื่องยอด พวกปราสาทอะไรข้างบน พวกนั้นจะทำไม่ได้ แล้วการประดับตกแต่งด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมบางอย่างจะถูกกำหนดไว้ว่า ให้ทำได้แค่ไหน อันนี้ก็จะเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรมที่มีความแตกต่าง บ่งบอกถึงฐานานุศักดิ์ของผู้ครอบครองวังว่ามียศแค่ไหน ก็จะมียศมาก แต่ไม่ถึงกับพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นเครื่องตกแต่ง เครื่องประดับประดา ก็จะถูกกำหนดอยู่ในระดับหนึ่ง” ดร. พรธรรมสรุป

 

(สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องนี้โดยเฉพาะ รายละเอียดเรื่องฐานานุศักดิ์ของพระราชบวรสถานมงคล ติดตามได้ในตอน 4)

 

แม่น้ำแลความสำคัญของที่ตั้งวังหน้า

เราทราบกันดีว่า ก่อนที่โครงข่ายถนนหนทางจะอุบัติขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักของผู้คนในปัจจุบัน ผู้คนในยุคก่อนล้วนพึ่งพาแม่น้ำลำคลองเป็นทางสัญจรสำคัญ ด้วยเหตุนี้แม่น้ำจึงมีบทบาทสำคัญในฐานะหนึ่งในปัจจัยหลักในการหาชัยภูมิสำหรับเป็นที่ตั้งของพระราชวังในทุกยุคทุกสมัย

 

การสร้างบ้านเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนทั่วไปฉันใด การสร้างหรือดูแลเมืองนับเป็นพระราชกรณียกิจใหญ่หลวงของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ฉันนั้น

 

ในการสร้างบ้าน นอกจากทำเลที่ตั้งและทิศทางลม เจ้าของส่วนหนึ่งอาจพึ่งพาศาสตร์แห่งฮวงจุ้ยเพิ่มเข้าไปเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องพิจารณาด้วย สำหรับการสร้างเมือง ซึ่งหมายรวมถึงพระราชวังอันเป็นศูนย์บัญชาการเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรในราชอาณาจักร ในยุคสมัยที่การสงครามยังเกิดขึ้นเนืองๆ มีเงื่อนไขหลากประการ ที่ล้วนโยงใยไปสู่ธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณในกาลก่อน รวมทั้งเกี่ยวข้องกับความเชื่อตามตำราพิไชยสงคราม

 

Photo: ตำราพิไชยสงครามของกรมศิลปากร

 

“*ตำราพิไชยสงคราม เป็นตำราสำคัญที่ใช้ในการทำสงครามของไทยซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หลักฐานทางประวัติศาสตร์รวบรวมเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2041โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมขึ้น การกำเนิดขึ้นของ พิไชยสงคราม สันนิษฐานว่า เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตของอาณาจักรอยุธยาที่ขยายอำนาจไปยังดินแดนต่างๆ ถือเป็นการแสดงแสนยานุภาพทางการทหาร การที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกแสดงให้เห็นถึงผู้นำที่มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงศิลปศาสตร์การสงครามให้มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานที่ตายตัว เพื่อที่จะอาศัยเป็นแบบฉบับที่ศึกษาและถ่ายทอดในหมู่แม่ทัพนายกองต่อไป

 

“ต่อมาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปรับปรุงให้เหมาะสม สันนิษฐานว่า ทำขึ้นเมื่อครั้งครองเมืองพิษณุโลก โดยนำ ตำราพิไชยสงคราม ของพม่าและมอญมาใช้ร่วมด้วย และได้ปรากฏแผนที่เมืองพิษณุโลก โดยบอกระยะทางที่ได้สำรวจตั้งแต่เมืองพิษณุโลกไปถึงตำบลและเมืองต่างๆ ที่อยู่โดยรอบ อีกทั้งยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับปืนไฟ ซึ่งไม่ปรากฏใน ตำราพิไชยสงคราม สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 อาจเพราะยังไม่เข้าใจเรื่องปืนไฟ การแก้ไข พิไชยสงคราม หรือเพิ่มเติมไม่ได้ปรากฏอีก แต่อาจไม่มีการจดบันทึก เพราะบ้านเมืองก็มีศึกสงครามเรื่อยมาไม่ได้ขาด และเป็นเรื่องที่ต้องใช้ศึกษาหาความรู้” น.ส.ศิริวรรณ คุ้มโห้ บรรยายไว้ในบทความ พิไชย*สงครามกับการตั้งเมือง (*สะกดตามที่ปรากฏในหนังสือ ตำราพิไชยสงคราม ตำรับไญยในสมัยรัชกาลที่ 3)

 

สรุปโดยย่อ พิไชยสงคราม เป็นคำที่ใช้เรียกหนังสือหรือเอกสารที่มีการรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับกลยุทธ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการรบต่างๆ อาทิ การรุก การตั้งรับ การแปรขบวนทัพ การใช้อุบายทำลายข้าศึก เป็นต้น หนังสือจำพวกนี้ในบางแห่งมักจะมีการใส่เนื้อหาที่เป็นความเชื่อทางด้านโหราศาสตร์เข้ามาประกอบ เช่น การดูฤกษ์ยามในการเคลื่อนทัพ การทำพิธีข่มขวัญข้าศึกและบำรุงขวัญฝ่ายตน ฯลฯ โดยในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตำราดังกล่าวยังมีบทบาทสำคัญในการที่ฝ่ายปกครองใช้เป็นคู่มือในการเลือกทำเลที่ตั้งของเมืองอย่างที่กล่าวไปข้างต้น โดยมีการชำระปรับปรุงอยู่เนืองๆ

 

ครั้นถึง พ.ศ. 2368 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการชำระ ตำราพิไชยสงคราม ให้สมบูรณ์ โดยเชิญ พระตำรับพิไชยสงคราม ฉบับข้างที่ (ฉบับหลวง) มาสอบสวนชำระ 14 เล่มสมุดไทย เมื่อชำระเสร็จแล้วได้คัดลงสมุดไทยจำนวน 2 ชุด รวม 10 เล่มสมุดไทย นับเป็น ตำราพิไชยสงคราม ฉบับสุดท้ายที่ชำระอย่างสมบูรณ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 21)

 

แน่นอนว่า ในยุคก่อร่างสร้างเมืองก่อนที่ดินแดนที่เราอาศัยอยู่จะเปลี่ยนเป็นไทยในทุกวันนี้ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างเส้นทางตลอดมา ครั้นเมื่อสยามปรับรูปแบบกองทัพตามชาติตะวันตก ตำราพิไชยสงคราม แบบโบราณจึงลดความสำคัญลง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งโปรดเกล้าฯ สถาปนาตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารขึ้นมาแทนตำแหน่งวังหน้าอย่างเป็นทางการด้วย

 

ในหมวดยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ตำราพิไชยสงคราม มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งทัพและตั้งเมือง โดยอิงความเชื่อทางโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ โดยเปรียบเทียบการตั้งราชธานีหรือเมืองหลวงของอาณาจักรกับการหาที่ตั้งทัพหลวง โดยต้องอาศัยการหาชัยภูมิที่เหมาะสมตามตำรา เพราะหากปราศจากชัยภูมิที่ตั้งอันเหมาะสมแล้วไซร้ การป้องกันอริราชศัตรูดูเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ในยุคที่ศึกสงครามคือ การรบพุ่งด้วยดาบ พระแสง และศาสตราวุธที่ต้องถือด้วยมือ โดยมีพาหนะอย่างช้าง ม้า สมทบกับไพร่พลเดินเท้า ไม่ใช่การรบด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เครื่องบินทิ้งระเบิด และเรือดำน้ำ หรือการเอาชนะคะคานในสนามการค้า หรือด้วยอิทธิพลทางการเมืองแบบในปัจจุบัน

 

ข้อความส่วนหนึ่งจากบทความ พิไชยสงครามกับการตั้งเมือง ระบุว่า “ชัยภูมิในการตั้งทัพนี่เองเป็นหลักสำคัญที่นำมาใช้ในการตั้งเมือง พระราชวังหลวง และวังต่างๆ รวมถึงป้อมค่ายอีกด้วย

 

“การตั้งเมืองนั้นมิใช่ตั้งบริเวณใด ริมน้ำใดก็ได้ หากแต่ต้องเลือกบริเวณที่เป็นท้องพญานาค หากตามหลักภูมิศาสตร์ก็เป็นบริเวณที่เป็นคุ้งน้ำ เหตุผลสำคัญที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากกระแสน้ำบริเวณคุ้งนี้จะเชี่ยวกว่าบริเวณอื่นๆ หากข้าศึกจะมาจอดเรือเข้าโจมตีก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก…”

 

สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล ระบุไว้ในบทความ การสร้าง “หลักชัย แกนเมือง” เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา ตีพิมพ์ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558 โดยสันนิษฐานเรื่องการเลือกทำเลที่ตั้งของกรุงเทพฯ ว่า

 

“การใช้ ตำราพิไชยสงคราม ในการประกอบการย้ายเมืองหลวง และพิจารณาเพื่อหาพิกัดองค์ประกอบของศูนย์กลางเมือง และให้ตั้งเสาหลักของเมืองนี้ พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 1 ได้ให้มีการย้ายศูนย์กลางเมืองจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งตะวันออก และโปรดให้มีการตั้งหลักเมืองใหม่ด้วยนั้น เป็นการตั้งหลักเมืองตาม ตำราพิไชยสงคราม ทั้งนี้ เนื่องจากรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้านความมั่นคงมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า และมีตำแหน่งเป็น ‘แม่ทัพ’ เมื่อครั้งสมัยกรุงธนบุรี ทำให้ทรงเชี่ยวชาญการศึก และเข้าใจ ตำราพิไชยสงคราม การตั้งหลักเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีการอ้างอิงการตั้งทัพหรือแต่งทัพ ที่สอดคล้องกับภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม โดยพิจารณาลักษณะของการตั้งทัพตามตำราของนามทั้งแปดคือ

 

ครุฑนาม คือสถานที่อันภูมิประเทศมีภูเขาจอมปลวก ต้นไม้ 1 ต้น สูงใหญ่

 

พยัคฆนาม คือตั้งทัพอยู่ริมทางแนวป่า

 

สิงหนาม จะต้องมีต้นไม้ใหญ่ 3 ต้น เรียงกัน มีภูเขาและจอมปลวกใหญ่มาก

 

สุนัขนาม คือตั้งกองทัพใกล้หมู่บ้านหรือหนทางโบราณเรียงรายไปตามทาง

 

นาคนาม กองทัพจะต้องตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ ห้วยน้ำไหล

 

มุสิกนาม คือดินมีโพรงปลวก อันเป็นรูคล้ายกับหนูอยู่

 

อัชนาม ตั้งอยู่กลางทุ่ง เหมือนฝูงเนื้ออยู่

 

คชนาม คือภูมิประเทศมีป่าไม้ มีหนาม และหญ้า อันเป็นอาหารของช้าง

 

“ด้วยรัชกาลที่ 1 เข้าพระราชหฤทัยชัยภูมิของ ‘บางกอก’ ที่มีลักษณะตรงกับการตั้งทัพตามคติ ‘นาคนาม’ กล่าวคือ เป็นบริเวณที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ดังนั้นในการเลือกที่ตั้งศูนย์กลางของเมือง และการตั้ง ‘หลักเมือง’ พระองค์จึงทรงเล็งเห็นประเด็นของ ‘ชัยภูมิ’ เป็นลำดับแรก จากนั้นจึงดูฤกษ์ยาม วัน และเดือน ที่เหมาะสมตามคติ ‘โหราศาสตร์’ ในการลงหลักเมืองตามมาเป็นลำดับ”

 

เมื่อเรามองย้อนกลับไปเมื่อแรกเริ่มก่อร่างสร้างราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ แน่นอนว่า การหาชัยภูมิที่เหมาะจนได้เป็นกรุงเทพมหานครที่เจริญรุดหน้ากลายเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลกแบบทุกวันนี้ เป็นพระราชกรณียกิจสำคัญของรัชกาลที่ 1 ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นตำแหน่งวังหน้าขึ้นมาใหม่เช่นกัน

 

“สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จฯ ปราบดาภิเษกขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าสุรสีห์พิศณวาธิราช เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายหน้า และโปรดฯ ให้ย้ายพระนครจากกรุงธนบุรีมาสร้างกรุงเทพมหานครเป็นพระนครแห่งใหม่ยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้สร้างวังหลวงและวังหน้าขึ้นในเขตกรุงธนบุรีเดิม โดยใช้คลองคูเมืองธนบุรีเป็นคลองคูเมืองชั้นใน และให้ขุดคลองใหม่เป็นคลองคูเมืองของกรุงเทพฯ เรียกว่า คลองรอบกรุง สร้างวังหลวงที่ตอนใต้ของพระนครระหว่างวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร) กับวัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร) และตั้งวังหน้าขึ้นทางตอนเหนือระหว่างวัดสลักกับคลองคูเมืองเดิม กำหนดให้ท้องที่อาณาบริเวณฟากเหนือของพระนคร ตั้งแต่แนวถนนพระจันทร์ นับตั้งแต่ท่าน้ำตรงไปทางตะวันออกจนถึงประตูสำราญราษฎร์ (ถนนบำรุงเมือง) อันเป็นที่ตั้งของวังหน้า เป็นแขวงอำเภอพระราชวังบวร เป็นเขตปกครองของวังหน้า คือปกครองกึ่งพระนคร ตามธรรมเนียมประเพณีสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

 

“วังหน้ามีประวัติการสร้างพร้อมกับวังหลวง โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปีขาล พ.ศ. 2325 แล้วเสร็จเป็นเบื้องต้นเมื่อราว พ.ศ. 2328 จากนั้นได้มีการก่อสร้างอาคารสถาน ตลอดจนการบูรณปฏิสังขรณ์สืบมาเป็นลำดับ วังหน้าเมื่อแรกสร้างสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์คงยึดถือแบบแผนการสร้างวังแต่ครั้งกรุงเก่า กล่าวกันว่า วังหน้าได้รับแบบอย่างมาจากพระราชวังหลวง รวมถึงแบบแผนบางประการจากพระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา  กล่าวคือ แผนที่ตั้งของวังตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวังหลวง และสร้างหันหน้าวังไปทางทิศตะวันออกเช่นเดียวกับพระราชวังจันทรเกษม ส่วนอาคารพระที่นั่งพระราชมณเฑียรสถานบางแห่งวางผังตามแบบพระราชมณเฑียรสถานภายในพระราชหลวงพระนครศรีอยุธยา…” ข้อความจากเอกสาร พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) โดยเด่นดาว ศิลานนท์ เผยแพร่ผ่าน www.finearts.go.th สรุปความอย่างกว้างๆ เรื่องตำแหน่งที่ตั้งของวังหน้าตามธรรมเนียมประเพณีจากสมัยอยุธยา

 

อ. วโรภาสน์

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

อ. วโรภาสน์เสริมเรื่องที่ตั้งและผังของวังหน้าของกรุงรัตนโกสินทร์ว่า “ในแต่ละช่วงแต่ละยุคก็มีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง วังหน้าคือผู้ที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และเป็นที่อยู่ของทัพหน้า หน้าที่จริงๆ ก็คือ คอยปกป้องดูแล เป็นทัพหน้า เพราะฉะนั้นในการวางผังเขาก็จะมีปรัชญาเฉพาะของเขา ในส่วนของผังกรุงเทพฯ ก็เกือบจะลอกผังของอยุธยามาเลย อยุธยา วังหน้าก็คือ วังจันทรเกษม พิพิธภัณฑ์วังจันทรเกษมก็มีถนนเชื่อมต่อกับวังหลวงเข้ามาจนถึงหน้าวัง หน้าวังก็จะมีลานต้อนรับ มีป้อมอะไรอย่างนี้ ที่นี่ก็เช่นเดียวกัน ผมว่า ปรัชญาในการก่อสร้างจะมีลักษณะคล้ายๆ กันคือ พอเข้ากำแพงไปถึงก็จะมีลานต้อนรับ ช่วงแรกๆ จะเป็นเหมือนที่ทรงงาน ข้าราชบริพารหรือใครก็แล้วแต่ที่จะเข้าเฝ้า ก็จะมาอยู่ตรงช่วงนี้ เป็นช่วงหน้า ถัดมาเป็นช่วงที่ประทับจะมีพวกส่วนใน

 

“ส่วนพระราชฐานที่มีชั้นนอกชั้นใน สมัยอยุธยามักจะอยู่ทางทิศตะวันออก ที่นี่จะอยู่ทางทิศเหนือ ซึ่งลักษณะการวางผังพวกนี้ผมว่า ในแต่ละพื้นที่ศัตรูที่จะเข้ามาก็จะตามๆ กัน เพราะฉะนั้นในการวางผังก็จะตามๆ กันไปด้วย เพียงแต่จะประยุกต์ให้แล้วแต่พื้นที่ เผอิญว่าที่นี่แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ผังเลยวางในแนวเหนือ-ใต้ วังหน้าอยู่ทางทิศเหนือ วังหลวงอยู่ทางทิศใต้ ส่วนอยุธยาจะตะวันออก-ตะวันตกครับ โดยภาพรวมตำแหน่งพื้นที่ก็จะเป็นลักษณะนี้”

 

Photo: www.finearts.go.th

 

หากเราพิจารณาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่า ล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีการสร้างพระบรมมหาราชวังและวังต่างๆ สอดคล้องกับการตั้งทัพที่เรียกว่า นาคนาม ที่ตั้งของวังหลวง ตรงกับที่ตั้งของค่ายหลวง ขณะที่ค่ายต่างๆ ที่รายล้อมค่ายหลวงตามยุทธศาสตร์ตรงกับที่ตั้งของวังหน้านี่เอง

 

ข้อความส่วนหนึ่งในหนังสือ กรุงรัตนโกสินทร์-กรุงเทพฯ โดยสุดารา สุจฉายา อธิบายว่า พระบรมมหาราชวังเป็นหัวใจของพระนคร ตั้งอยู่บนคุ้งน้ำหรือท้องนาคตาม ตำราพิไชยสงคราม วังหน้าตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ มีป้อมปราการขนาดใหญ่กว่าป้อมอื่น เพราะเป็นจุดที่ใช้สกัดพม่าในยามที่ยกทัพเข้ามาตีพระนคร เนื่องจากพม่าอยู่ทางตอนเหนือและตะวันตกของสยาม และจะเข้าตีเมืองจากทิศนี้เท่านั้น ทางตะวันตกมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นปราการสำคัญ จุดอื่นๆ มีวังเจ้านายอยู่รายล้อม ขณะที่วังหลัง หรือพระราชวังบวรสถานพิมุข แม้ไม่ได้อยู่ตอนใต้หรือด้านหลังวังหลวงตามตำรา เนื่องจากติดวัดโพธิ์ แต่ก็ตั้งอยู่ฝั่งธนบุรีอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ป้องกันเมืองที่สำคัญ

 

Photo: หนังสือกรุงรัตนโกสินทร์-กรุงเทพฯ

 

ข้อมูลทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่า ทำเลที่ตั้งของวังหน้าเกี่ยวข้องโดยตรงกับยุทธศาสตร์สำคัญในการปกป้องอาณาจักร เพราะชัยภูมิในการตั้งทัพเป็นหลักการสำคัญที่นำมาประยุกต์ใช้ในการก่อตั้งเมือง พระราชวังหลวง วังอื่นๆ และสถานที่สำคัญแวดล้อมต่างๆ วังหน้าคือ ทัพหน้าที่จะเข้าปะทะกับข้าศึกก่อน

 

“ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Protector ล่ะครับ เป็นผู้ปกป้อง คือถ้าดูในผังเมือง ตำแหน่งวังหน้า ถ้ามีข้าศึกมา ซึ่งสมัยก่อนก็คือพม่า จะล่องมาทางคลองหรือแม่น้ำ วังหน้าจะปะทะก่อนครับ” ดร. พรธรรมเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของที่ตั้งวังหน้าอีกครั้ง

 

“เราต้องเข้าใจก่อนว่า ความกลัวของเราที่สุดในการสร้างเมืองหลวงคือ กลัวสงคราม ตอนเพิ่งสร้างเมืองใหม่เราก็เพิ่งเจ็บปวดจากการที่พม่ามาเผาบ้านเราไป (ตอนเสียกรุงครั้งที่ 2) เราถึงถอยลงมาข้างล่างและสร้างเมืองใหม่ เพราะฉะนั้นการสร้างในยุคนั้น การเลือกตำแหน่งที่ตั้งของเมือง ก็มาจาก ตำราพิไชยสงคราม ในเรื่องของน่านน้ำอะไรต่างๆ และตำแหน่งของวังหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ใน ตำราพิไชยสงคราม ถ้าเมืองอยู่ตรงนี้ ตัวป้องกัน ตัวปกป้อง หรือวังหน้า ควรจะอยู่ตรงไหน แต่พอเราอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3 พม่าก็ไม่เคยมาบ้านเราอีกเลย ประกอบกับพม่าก็โดนอังกฤษเข้าไปยึดด้วย ดังนั้นความกลัวในเรื่องของสงครามก็หมดไป

 

“ในขณะเดียวกันมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เมืองเจริญขึ้น ไม่จำเป็นต้องตั้งรับ ต้องเตรียมพร้อมรับสงครามอีกแล้ว เมืองก็พัฒนาไปในเรื่องของการตัดถนน ทำสนามหลวง ตำแหน่งที่เคยเป็นวังหน้า ที่เคยเป็นตำแหน่งในการปกป้อง เลยถูกลดบทบาทไป อย่างสนามหลวงสมัยก่อนเคยเป็นส่วนหนึ่งของวังหน้า แต่ปัจจุบันพอตัดสนามหลวงใหม่เป็นรูปวงรี รูปไข่ วังหน้าเลยถูกลดพื้นที่ลงไปเหลือนิดเดียว พอถึงยุครัชกาลที่ 5 วังหน้าถูกลดบทบาทไปเยอะ ทั้งเรื่องการเมือง การปกครอง ในเรื่องกายภาพของพื้นที่ที่ถูกตัดทอนไป ส่วนหนึ่งกลายเป็นสนามหลวง บางส่วนกลายเป็นถนนราชดำเนิน อีกส่วนหนึ่งกลายเป็นธรรมศาสตร์” ดร. พรธรรมสรุปการเปลี่ยนแปลงของวังหน้า ตั้งแต่การเลือกที่ตั้งจนถึงวันที่ตำแหน่งนี้ไม่มีที่ยืนในการเมืองการปกครองของประเทศไทย

 

ดร. พรธรรม

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

Cover Photo: พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ 45M00016)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X