×

ย้อนอดีต ‘วังหน้า’ หนึ่งในพระราชวังที่รุ่งเรืองและสำคัญที่สุดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์​

10.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

20 Mins. Read
  • วังหน้า หรือพระราชวังบวรสถานมงคล ก่อตั้งพร้อมการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อปี พ.ศ. 2325 ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระบรมมหาราชวัง
  • เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช ผู้ทรงมีพระราชอำนาจรองจากพระมหากษัตริย์รับหน้าที่ปกป้องและค้ำชูให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น มีส่วนสำคัญที่ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
  • ครึ่งหนึ่งของสนามหลวงและเกือบทั้งหมดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือพื้นที่เดิมของวังหน้า อาณาเขตที่ใหญ่โตสะท้อนถึงอำนาจอย่างมีนัยสำคัญ
  • การสถาปนาเจ้านายดำรงตำแหน่งวังหน้า เป็นพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น
  • พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 และทรงได้รับการเฉลิมพระเกียรติเทียบเท่าพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 
  • ตำแหน่งวังหน้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่สืบทอดนานกว่าร้อยปีสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีตำแหน่ง ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร’ มาแทน

ต้นปีที่ผ่านมา ข่าวคราวเกี่ยวกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กลับมาอยู่ในการรับรู้ของผู้คนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ‘พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน’ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าสุดปรับเปลี่ยนบทบาทครั้งใหญ่ จากเดิมที่เป็นส่วนจัดแสดงถาวรเกี่ยวกับโบราณวัตถุชิ้นสำคัญๆ ของไทยก็ได้กลายมาเป็นพื้นที่ส่วนจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนจากพิพิธภัณฑ์ชั้นนำต่างๆ ในโลก ตามอย่างที่มาตรฐานพิพิธภัณฑ์ระดับสากลพึงจะเป็น สิ่งที่ตามมาโดยทันทีคือจำนวนผู้เข้าชมที่เพิ่มมากขึ้น เพราะความรู้ในพิพิธภัณฑ์เริ่มเคลื่อนไหว ไม่ดูเหมือนหยุดนิ่งอย่างที่อาจจะรู้สึกกันมานาน

 

แต่ที่มากกว่านั้น เมื่อถอยจากวัตถุจัดแสดงล้ำค่าออกมามองอาคารที่ให้ร่มเงาแก่ผู้เข้าชม รวมถึงพื้นที่โดยรอบของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ก็ตระหนักว่าเราอาจไม่ทันคิดเลยว่าพื้นที่ที่เหยียบยืนอยู่นี้ แท้จริงคือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและต้องการการต่อลมหายใจไม่แพ้ชิ้นงานในห้องจัดแสดง

 

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

ดูแต่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน แม้บทบาทและลักษณะอาคารจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย หากนัยทางประวัติศาสตร์ไม่เคยจางหาย สถานที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘วังหน้า’ หรือ ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ ที่ประทับของ ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ พระมหาอุปราชผู้ทรงมีพระราชอำนาจรองจากพระมหากษัตริย์ มีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างความมั่นคงให้กรุงรัตนโกสินทร์  

 

THE STANDARD รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับวังหน้าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์​ ทั้งพัฒนาการในเชิงตำแหน่งทางการเมืองและในเชิงพื้นที่ ซึ่งปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีโอกาสได้สนทนากับนักวิชาการจากกรมศิลปากรเกี่ยวกับอดีตที่รุ่งเรืองของวังหน้าที่จะทำให้เข้าใจ ‘ความเป็นเรา’ ในปัจจุบันได้ดีขึ้น      

 

แผ่นดินที่ 1: ปกปักและปกป้อง

 

พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

บริเวณด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์เป็นที่ประดิษฐานของ ‘พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ คนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในย่านนั้นอาจจะเดินผ่านวันหนึ่งๆ หลายรอบ โดยไม่ทันจะนึกว่าพระองค์เป็นใครและสำคัญต่อเราอย่างไร  

 

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งตั้งราชธานีใหม่ในปี พ.ศ.​ 2325 เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ผู้เป็นสมเด็จพระอนุชา ขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระนามว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามกรมพระราชวังบวรฯ ทุกพระองค์เพิ่มเติมเป็น ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้า’ และออกพระยศอย่างเป็นทางการเช่นนั้นเรื่อยมาจนปัจจุบัน)

 

พระนามเดิมของพระองค์คือ บุญมา ประสูติแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี รับราชการในตำแหน่งนายสุดจินดาหุ้มแพร สังกัดกรมมหาดเล็ก และมีอายุได้ 24 ปี เมื่อเสียกรุงแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 ครานั้นทรงหนีภัยสงครามไปสมทบกับรัชกาลที่ 1 ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ต่อมาเสด็จไปร่วมทัพกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กอบกู้บ้านเมืองจนเป็นเอกราช และตลอดรัชสมัยกรุงธนบุรี พระองค์ทรงเป็นนักรบที่สามารถ ช่วยราชการสงคราม ได้รับการปูนบำเหน็จอวยยศเรื่อยมาจนถึงตำแหน่งเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ซึ่งเป็นตำแหน่งท้ายสุดก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งวังหน้า

 

ประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อกรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี-กรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีการนำมาเล่าใหม่ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งสารคดีหรือบันเทิงคดี หลายๆ เรื่องมักจะฉายภาพกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทว่าเป็นคนดุ เฉียบขาด น่ายำเกรง ต่อข้อสงสัยนี้ อาจารย์ไอยคุปต์ ธนบัตร นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ให้ความเห็นว่า “ใช่ครับ ดุ เด็ดขาด ทรงเป็นนักรบ เป็นแม่ทัพ ท่านต้องเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจะคุมคนไม่ได้ แล้วก็เพราะทรงเป็นวังหน้าด้วย ต้องไปคอยรบ คอยตี แต่ที่จริงมันก็คือหน้าที่ เป็นบุคลิกที่ต้องเป็นอย่างนั้น”

 

 

อาจารย์ไอยคุปต์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า รัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงเป็นคู่พระเชษฐา-พระอนุชาที่ร่วมรบสร้างบ้านสร้างเมืองด้วยกันมา ทรงพระราชอำนาจใกล้เคียงจนเกือบจะเท่าเทียม

 

“สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงกับเรียกกันว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็คือวังหลวงพระองค์หนึ่ง วังหน้าอีกพระองค์หนึ่ง หลายๆ อย่างทรงทำคู่กันมา พระชันษาก็ไล่เลี่ยกัน การแบ่งเมืองนั้น ถ้าเทียบระหว่างวังหลวงกับวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ถือว่าครึ่งๆ พื้นที่วังหน้าเดิมนั้นใหญ่โตมาก กินเข้าไปในครึ่งหนึ่งของสนามหลวงตอนนี้ ธรรมศาสตร์เกือบทั้งหมดก็เป็นพื้นที่ของวังหน้า และภายในวังหน้าก็มีเขตพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน แบบเดียวกับวังหลวง”

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในอดีต

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (2) ภ 002 หวญ 3/1

 

ภาพถ่ายทางอากาศ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ WH 2-41

 

กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2325 พระราชภารกิจแรกของรัชกาลที่ 1 เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์คือทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาข้ามฟากมายังฝั่งตะวันออก เพราะทำเลทางยุทธศาสตร์ดีกว่า และมีพื้นที่ให้ขยับขยายพัฒนาเมืองได้อีกมาก

 

เมื่อแรกสร้างในปี พ.ศ.​ 2325 เป็นการกระทำอย่างเร่งรัดสำหรับทำพิธีปราบดาภิเษกก่อน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ล้วนใช้ไม้เป็นหลัก มีเพียงป้อมปราการป้องกันเมืองเท่านั้นที่ก่ออิฐถือปูนเพื่อความคงทนแข็งแรง โดยอิฐที่ใช้ก็รื้อเอามาจากกำแพงกรุงเก่าที่อยุธยา

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเคยรับราชการในราชสำนักอยุธยา เมื่อทรงสร้างเมืองใหม่จึงยึดราชสำนักอยุธยาเป็นแบบอย่าง สืบทอดทั้งคติความเชื่อ รวมไปถึงรูปแบบสถาปัตยกรรม ตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ

 

รัชกาลที่ 1 พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือของวัดสลัก หรือปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ขึ้นไปจนถึงคูเมืองหรือคลองหลอดในปัจจุบันเพื่อสร้างวังหน้า และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็ทรงขอพื้นที่บางส่วนของวัดมหาธาตุฯ มาผนวกเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังอีกด้วย การก่อสร้างดำเนินไป 3 ปีจึงแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ​2328 ได้ทำพิธีสมโภชพระนครพร้อมกับพระบรมมหาราชวัง

 

เหตุใดวังหน้าจึงต้องตั้งอยู่ข้างหน้า บางข้อสันนิษฐานระบุว่าตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังนั้นสอดคล้องกับรูปแบบการแต่งทัพไปรบกับข้าศึก อันประกอบด้วย ทัพหน้า ทัพหลวง และทัพหลัง ทัพหน้าเป็นด่านแรกที่ปะทะกับข้าศึก จำจะต้องชำนาญการต่อตีแข็งแกร่งยิ่งกว่าใครๆ ไม่ปล่อยให้ข้าศึกจู่โจมเข้ามาถึงทัพหลวงได้โดยง่าย วังหน้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ด้านหน้าของพระราชวังหลวง หากมีข้าศึกบุกเมืองก็มองเห็นก่อนใคร ป้องกันได้รวดเร็วทันท่วงที เช่นนี้เองบทบาทของเจ้าผู้ครองวังหน้าจึงย่ิงใหญ่สำคัญอย่างยิ่ง และสะท้อนผ่านพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างในขอบเขตอย่างมีนัยสำคัญ

 

อาจารย์ไอยคุปต์อธิบายเพิ่มเติมถึงอำนาจของเจ้าวังหน้าว่า “คำว่าวังหน้า จริงๆ ตีความได้หลายอย่าง วังหน้าคือวังที่ตั้งอยู่หน้าวังก็ได้ วังหน้าคือทัพที่ต้องไปอยู่ข้างหน้าเวลามีสงครามก็ได้ ในสมัยโบราณไม่ได้เรียกว่าวังหน้าหรอก เขาก็จะเรียก อุปราชบ้าง พระมหาอุปราชบ้าง เหมือนเป็นผู้ที่รอขึ้นสืบทอดเป็นพระมหากษัตริย์โดยนัย

 

“ความหมายโดยนัยเป็นการตีความของคนที่มาทีหลัง หมายความว่าตัวเรามองกลับไปว่านี่คือตำแหน่งสืบทอดลงมา เป็นตำแหน่งเตรียมพร้อมเพื่อขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แต่จริงๆ แล้วในสมัยนั้นเขาอาจจะไม่ได้คิดในเชิงรัชทายาทสืบทอดอำนาจ เขาอาจจะคิดแค่ว่าเป็นตำแหน่งผู้ช่วย มือขวา สั่งปุ๊บก็ทำได้ ควบคุมกำลังให้ไปรบทัพจับศึก ผู้ที่ครองตำแหน่งก็อาจจะไม่ใช่ลูก อาจจะเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นลุง เป็นอา คือเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจใกล้ชิดจากพระมหากษัตริย์”

 

ช่วงไม่กี่ขวบปีแรกที่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองยังไม่เป็นปึกแผ่นเท่าใดนัก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงเป็นกำลังสำคัญควบคุมไพร่พลเป็นทัพหน้าออกไปทำศึกป้องกันบ้านเมืองทุกครั้ง สงครามใหญ่ๆ เช่น สงครามเก้าทัพ ก็เกิดในปี พ.ศ.​ 2328 หลังงานสมโภชพระนครเพียงไม่นาน และแม้ไทยจะมีไพร่พลน้อยกว่าพม่ามาก แต่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็ทรงนำกองทัพไปต่อตีนำชัยชนะมาจนได้  

 

สิ่งปลูกสร้างต่างๆ เมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ใช้เครื่องไม้เป็นหลัก ด้วยเหตุนี้พระราชมณเฑียรที่ประทับหรืออาคารต่างๆ ที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างขึ้นจึงหักพังหรือถูกรื้อปรับเปลี่ยนจนไม่อาจบอกรูปพรรณสัณฐานเดิมได้ ทำได้เพียงสันนิษฐานว่าสถานที่ราชการดังที่วังหลวงมีก็คงมีในวังหน้าเช่นกัน

 

แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในวังหน้าคือไม่มีอาคารทรงปราสาทเลย เพราะธรรมเนียมการสร้างอาคารทรงปราสาทนั้นถือเป็นลักษณะฐานานุศักดิ์ของสถาปัตยกรรมเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือมีเพียงพระมหากษัตริย์ผู้เปรียบเหมือนสมมติเทพเท่านั้นที่จะสร้างอาคารทรงปราสาทเหมือนเทพยดาบนสวรรค์ได้

 

เหตุที่ถือกันเคร่งครัดมาเช่นนี้เป็นได้ว่าเพราะในสมัยก่อสร้างวังหน้าช่วงแรก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดให้สร้างพระที่นั่งทรงปราสาทเหมือนกับพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ที่กรุงศรีอยุธยา หากสร้างยังไม่ทันเสร็จก็เกิดเหตุขึ้นในปี พ.ศ. 2336 เมื่อมีคนคิดกบฏลอบเข้าไปในวังหน้า หวังจะทำร้ายกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท แต่โดนเจ้าพนักงานจับได้คนหนึ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งโดนไล่ฟันจนไปตายอยู่บริเวณที่กำลังสร้างพระที่นั่งทรงปราสาท

 

พระองค์จึงทรงดำริว่าวังหน้าสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ไม่มีอาคารทรงปราสาท ทว่าพระองค์กลับมาสร้าง เห็นจะเป็นสิ่งเกินวาสนาจึงทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้น จึงทรงระงับการก่อสร้างนั้นเสีย

 

อาคารสำคัญอีกแห่งในวังหน้าซึ่งยังคงอยู่ในพื้นที่เดิมมาจนปัจจุบันคือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์สำคัญตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงเชิญเสด็จมาจากเชียงใหม่เมื่อครั้งพระองค์เสด็จไปทำศึกที่นั่นเมื่อ พ.ศ. 2330 จึงโปรดให้สร้างพระวิมานถวายด้านหน้าหมู่พระราชมณเฑียรทางตะวันออก โดยทรงขนานพระนามว่า ‘พระที่นั่งสุทธาสวรรย์’ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามใหม่ว่า ‘พระที่นั่งพุทไธสวรรย์’ เมื่อ พ.ศ. 2396

 

ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

เรื่องเล่าสำคัญอีกประการที่ตกทอดจากกาลเวลาคือความที่บอกว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลอย่างประณีตที่สุด ด้วยทรงตั้งพระทัยว่าเมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคต และพระองค์จะขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแทนก็จะทรงประทับอยู่ที่นี่ต่อไป ไม่ย้ายเข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวัง ทว่าการณ์กลับไม่เป็นดังที่ทรงคาดไว้ โดยหลังจากดำรงพระยศมา 21 พรรษาก็ทรงประชวรเป็นโรคนิ่วเมื่อ พ.ศ. 2345 พระอาการมีแต่ทรงกับทรุดเรื่อยมา และเสด็จสวรรคตในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346 พระชนมายุ 60 พรรษา

 

เหตุการณ์ช่วงก่อนที่จะเสด็จสวรรคตนี่เองกลายเป็นตำนานวังหน้าที่เล่าสืบกันมา โดยมีปรากฏความอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารบ้าง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 บ้าง เนื้อเรื่องตรงกันส่วนหนึ่งว่าเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงเริ่มประชวรหนักขึ้นเรื่อยๆ จนปลงพระทัยว่าอย่างไรเสียจะต้องสวรรคตแน่ๆ ทรงเศร้าหมอง กำลังพระราชหฤทัยใดๆ ก็ไม่มี อยู่มาวันหนึ่งมีรับสั่งว่าพระองค์ทรงสร้างพระราชวังบวรฯ ไว้ใหญ่โตงดงามวิจิตร แต่เพราะประชวรมานานจึงไม่ได้ทอดพระเนตรอย่างถี่ถ้วน ทรงใคร่อยากชมพระราชวังบวรฯ ให้สบายพระทัย จึงโปรดให้เชิญพระองค์ขึ้นเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนย เชิญเสด็จรอบพระราชมณเฑียร

 

ระหว่างเสด็จประพาสพระราชมณเฑียร ทรงมีกระแสรับสั่งบางอย่างที่ถูกเล่าต่อมาจนปัจจุบันและเล่าออกไปอยู่หลายทาง บางข้อมูลระบุว่าทรงบ่นว่า “ของกูนี้อุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนานๆ ก็ครั้งนี้จะไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นวันนี้เป็นที่สุด ต่อไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น”

 

มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของวังหน้าที่ยังหลงเหลือในปัจจุบัน

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

ที่เล่ากันอีกอย่างซึ่งความยิ่งกว่านี้คือทรงรับสั่งว่า “ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข”

 

เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตก็เท่ากับบ้านขาดเจ้าของ เหย้าเรือนที่เคยโอ่อ่ามีชีวิตชีวาก็ย่อมซบเซาลงเป็นธรรมดา แม้จะยังมีพระญาติฝ่ายในอาศัยอยู่ก็ตาม รัชกาลที่ 1 เองก็มิได้ทรงตั้งผู้ใดดำรงตำแหน่งวังหน้าแทน จนกระทั่ง 3 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.​ 2349 จึงทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์ที่ 2 ซึ่งนับเป็นกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์เดียวที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ที่วังหน้า และเป็นพระมหาอุปราชเพียงพระองค์เดียวอีกเช่นกันที่ภายหลังได้สืบราชบัลลังก์ต่อเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

 

แผ่นดินที่ 2: ล้างคำแช่งด้วยการอภิเษกร่วมวงศ์วังหน้า

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

Photo: shutterstock

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เป็นกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระมหาอุปราชในแผ่นดินที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงมีพระราชดำริว่าควรย้ายไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยเป็นพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราช สร้างใหญ่โตให้เป็นสถานที่สำคัญของแผ่นดิน แต่กลับทิ้งร้าง ไม่มีเจ้าบ้านครองมานานถึง 7 ปีแล้ว

 

ทว่าก็มีผู้แย้งกล่าวไปถึงคำแช่งของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ดีที่มีผู้คิดแก้ได้ว่า หากเกี่ยวดองกับเจ้านายในพระวงศ์ของกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์แรกก็น่าจะพ้นคำแช่งนั้นได้ สุดท้ายกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ก็ทรงอภิเษกกับพระธิดาพระองค์หนึ่งของวังหน้าพระองค์แรกนั่นเอง

 

บรรยากาศและสภาพการณ์ต่างๆ ระหว่างวังหลวงและวังหน้าในแผ่นดินที่ 2 กล่าวได้ว่าราบเรียบและราบรื่น ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงเป็นเจ้าพี่เจ้าน้องที่สนิทเสน่หากันมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แม้เมื่อทรงดำรงตำแหน่งวังหน้าแล้วก็ยังเสด็จเข้าวังหลวง ทรงปฏิบัติข้อราชการและเข้าเฝ้า​ฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไม่ได้ขาด

 

แม้การเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ภายในวังหน้าก็นับว่าน้อย ด้วยของที่มีแต่เดิมครั้งแผ่นดินแรกก็ยังไม่ได้ชำรุดทรุดโทรมหนักหนา หากจะมีบ้างก็เป็นเพียงการซ่อมแซมเท่านั้น

 

กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ดำรงพระยศอยู่ 8 ปี ก็เกิดมีพระอาการประชวรขึ้น และประชวรอยู่เพียงเดือนเศษเท่านั้นก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.​ 2360 มีพระชนมายุเพียง 44 พรรษา

 

หลังการเสด็จสวรรคตของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ รัชกาลที่ 2 ไม่ทรงสถาปนาผู้ใดขึ้นมาดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชอีก

 

แผ่นดินที่ 3: ทำนุบำรุงปรุงสร้าง    

หลังจากวังหน้าแผ่นดินที่ 2 เสด็จสวรรคต พระราชวังบวรสถานมงคลก็ว่างเว้นเจ้าของบ้านมาอีก 7 ปี จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2367 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นศักดิพลเสพ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 และมีศักดิ์เป็นสมเด็จอา ได้ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 3 ครองวังหน้าต่อไป

 

สำหรับคำสาปแช่งที่หวาดๆ กันนั้นไม่เป็นปัญหาต่อกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่ ด้วยทรงอภิเษกกับพระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทอยู่ก่อนแล้ว

 

วังหน้าในแผ่นดินที่ 3 นี้เองเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายในพระราชวังบวรสถานมงคล อาคารที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ก็ถึงเวลาทรุดโทรมลงไป กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงซ่อมแซมพระวิมานทั้ง 3 หลัง และทรงสร้างพระที่นั่งเป็นท้องพระโรงใหม่อีก 1 องค์ ถ่ายแบบอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระราชวังหลวง ทรงขนานนามว่า ‘พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย’ ปัจจุบันกลายเป็นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

หมู่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในอดีต

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-34

พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ปัจจุบันเป็นพื้นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

แม้กระทั่งพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนอยู่ในเวลานี้ก็เป็นฝีมือของช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพโปรดให้รื้อของเดิมออกแล้วทำใหม่ทั้งหลัง สันนิษฐานว่าของเดิมน่าจะเล็กกว่านี้มาก และสร้างด้วยเครื่องไม้

 

พระที่นั่งศิวโมกขพิมานในอดีต

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-12

 

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ก็เช่นกัน ของเดิมที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งซุ้มพระแกล เครื่องบน เฉลียงเสาลอยโดยรอบ ก็ปรับปรุงขึ้นใหม่ในสมัยนี้เอง

 

รูปหล่อสำริดพระนารายณ์ทรงธนูศร ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

 

แต่สิ่งสำคัญที่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพโปรดให้สร้างขึ้นใหม่และดำรงอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มาจนทุกวันนี้คือ วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘วัดพระแก้ววังหน้า’ แบบเดียวกับที่ในพระบรมมหาราชวังมีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว อีกทั้งยังไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเหมือนกันอีกด้วย  

 

วัดบวรสถานสุทธาวาส

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ.รฟท. 9/10

 

ปัจจุบันวัดบวรสถานสุทธาวาสตั้งอยู่ในเขตวิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งในอดีตก็คือพื้นที่ของวังหน้านั่นเอง หากมองจากปากประตูเข้าไปจะเห็นตัวอาคารของวัดบวรสถานสุทธาวาสยืนสง่า มีบันไดทอดสูงขึ้นไปถึงปากประตูทางเข้า

 

สาเหตุที่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างวัดพระแก้ววังหน้าขึ้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ด้วยมีข้อสันนิษฐานแยกเป็นหลายทาง บ้างก็บอกว่าทรงสร้างเพื่อแก้บนครั้งที่เสด็จไปปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันทน์ บ้างก็เล่าว่าแต่เดิมจะทรงสร้างเป็นยอดปราสาท แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบจึงมีรับสั่งให้ระงับเสีย เพราะในพระราชวังบวรฯ ไม่มีธรรมเนียมสร้างอาคารยอดปราสาท

 

กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ 3 ดำรงพระยศได้เพียง 8 ปี ก็เสด็จสวรรคตในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.​ 2375 และนับจากปีนั้นเป็นต้นมา วังหน้าก็ว่างร้างลง คราวนี้นานถึง 18 ปี

 

แผ่นดินที่ 4: “เออ อยู่ดีๆ ก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง”

กล่าวได้ว่าพระราชวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ค่อนข้างแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับวังหน้าในสมัยใดๆ

 

เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ​2394 ได้โปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สมเด็จพระอนุชาธิราช ร่วมสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนีเดียวกัน​ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช โดยทรงยกให้มีพระเกียรติยศอย่างพระเจ้าแผ่นดิน

 

เพื่อแสดงถึงอิสริยยศที่แตกต่างและสูงกว่ากรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ก่อนๆ จึงมีการแก้ไขธรรมเนียมของวังหน้าในหลายประการ เช่น การเปลี่ยนพระนาม ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ มาเป็น ‘พระบวรราชวัง’ พระราชพิธีอุปราชาภิเษกก็เปลี่ยนให้เรียกว่า ‘พระราชพิธีบวรราชาภิเษก’ พระนามที่เคยจารึกแบบเดิมว่า ‘พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ก็กลายเป็นพระราชทานพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดินว่า ‘สมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’

 

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์  

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

อีกทั้งยังมีการสร้างสถาปัตยกรรมที่มีเครื่องยอดทรงปราสาทในวังหน้า ทั้งที่แต่ก่อนแต่ไรถือเป็นเรื่องผิดธรรมเนียมหนักหนา โดยสิ่งที่สร้างเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เล่ากันว่ารัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริขึ้นทั้งนั้น ทรงโปรดให้สร้างพระที่นั่งด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เรียกนามว่า ‘พระที่นั่งคชกรรมประเวศ’ มีเครื่องยอดทรงปราสาท ด้านหน้ามีเกยสำหรับขึ้นช้าง ปัจจุบันเหลือเพียงฐานและเกยให้เห็น ​  

 

พระที่นั่งคชกรรมประเวศเป็นอาคารเครื่องไม้ทรงปราสาท​

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-26

พระที่นั่งคชกรรมประเวศเป็นอาคารเครื่องไม้ทรงปราสาท​

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-32

 

 

ส่วนเหตุผลที่รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์​ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์​ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ระบุว่าเพราะทรงรอบรู้เรื่องการต่างประเทศ โดยเฉพาะการทหาร ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับบ้านเมือง ในขณะที่เหตุผลอีกประการระบุไว้ในนิทานโบราณคดีของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าดวงพระชะตาของสมเด็จพระอนุชานั้นแรงนัก ทรงมีวาสนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งได้

 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับที่วังหน้าซึ่งถูกทิ้งร้างนานเกือบ 20 ปี อีกทั้งหากบวกเวลานับแต่แรกสร้างกรุงก็ล่วงเลยมาเกือบ 7 ทศวรรษ อาคารต่างๆ จึงรกร้างหักพังทรุดโทรมเป็นอันมาก จนถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า “เออ อยู่ดีดีก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง” (พระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อแรกเสด็จมาประทับที่วังหน้าจาก ตำนานวังหน้า พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์อาคารต่างๆ ในวังหน้า รวมถึงโปรดให้สร้างพระที่นั่งเก๋งจีนและพระที่นั่งตึกฝรั่งสูง 2 ชั้น รู้จักกันในปัจจุบันว่า ‘พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์’

 

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์​

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-35

 

ทั้งการตกแต่งและการใช้สอยห้องและส่วนต่างๆ ของพระที่นั่งตึกฝรั่งนี้เป็นแบบตะวันตกทั้งสิ้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงประทับที่นี่ตลอดมาจนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.​ 2408 ปัจจุบันเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ ภายในจัดของส่วนพระองค์หลายอย่าง อาทิ พระแท่นราชบัลลังก์เศวตฉัตรมีตราพระราชลัญจกรของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่  ​

 

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์​

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

ไม่เพียงวังหน้าสมัยรัชกาลที่ 4 จะแปลกไปจากสมัยที่ผ่านมาเท่านั้น หากบริบทบ้านเมืองขณะนั้นก็เปลี่ยนไปจากสมัยตั้งกรุงเมื่อเกือบ 70 ปีก่อน ศัตรูที่ต้องคอยพึงระวังป้องปรามก็เปลี่ยนจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ไกล กลายเป็นภัยจากมหาอำนาจจากอีกซีกโลก

 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเชี่ยวชาญการทหาร ทรงรับผิดชอบงานด้านการทหารมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดศึกษาวิทยาการต่างๆ ทรงมีความรู้เรื่องการต่อเรือเป็นอย่างดี อีกทั้งยังทรงรับผิดชอบในงานการต่างประเทศ ด้วยทรงสามารถพูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ทรงมีบทบาทสำคัญในการเจรจาทางการค้ากับต่างชาติ เช่น เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ราชทูตจากอังกฤษ พระองค์ทรงรับหน้าที่เจรจาทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในฐานะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 ร่วมกับรัชกาลที่ 4 นำการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่มาสู่ประเทศในทุกด้าน พระปรีชาสามารถของพระองค์ช่วยส่งเสริมให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง โดยเฉพาะในห้วงเวลาเปราะบางจากการคุกคามของลัทธิจักรวรรดินิยม

 

แผ่นดินที่ 5: วิกฤตการณ์วังหน้าและการสิ้นสุดอำนาจ  

หากจะกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของวังหน้าครั้งใดผันผวนมากที่สุดก็คงจะเป็นในรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 นี่เอง และลมที่เปลี่ยนทิศในคร้ังนี้ก็มิอาจพัดหวนกลับได้ตลอดกาล ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ประกาศยกเลิกตำแหน่งวังหน้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาตำแหน่ง ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร’ ขึ้นเป็นตำแหน่งรัชทายาทที่จะขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อไป

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ 6M00015

 

ย้อนกลับไปก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2411 เวลานั้นยังทรงพระเยาว์มาก พระชนมายุเพียง 15 พรรษา จึงต้องทรงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นขุนนางที่มีอำนาจใหญ่โต ควบคุมกิจการงานเมืองของราชอาณาจักร

 

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภอ 001 หวญ 29/92

 

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้การสนับสนุนในที่ประชุมเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ตั้ง ‘พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ’​ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งวังหน้า มีพระราชอิสริยยศว่า ‘กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ’ ทั้งที่ผิดธรรมเนียมโบราณมาก เพราะการแต่งตั้งพระมหาอุปราชถือเป็นพระราชอำนาจส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น

 

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 001 หวญ18-17/8

 

ความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้าเริ่มก่อตัวและพอกพูนขึ้นเรื่อยมา ก่อนเริ่มมีทีท่ารุนแรงช่วงปลายปี พ.ศ. 2417 ถึงต้นปี พ.ศ. ​2418 เพียง 1 ปีหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. ​2416 และทรงบริหารประเทศด้วยพระองค์เอง ทรงมีพระราชประสงค์จะปรับปรุงการบริหารประเทศหลายด้าน ซึ่งย่อมไปกระทบกับกลุ่มอำนาจเก่าที่เป็นขุนนางผู้มีอำนาจทั้งหลาย ในขณะเดียวกัน กลุ่มขุนนางหัวใหม่ก็กังขาการขึ้นดำรงตำแหน่งของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญว่าเป็นไปโดยไม่เหมาะสม

 

กรมพระราชวังบวรฯ​ เองก็ไม่สบายพระทัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของพระองค์เอง ด้วยมีข่าวลือว่าจะมีการลอบปลงพระชนม์ จึงทรงเรียกระดมพลราว 600 นายมาที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน กองทหารปืนใหญ่ในสังกัดวังหน้าก็ทรงประสิทธิภาพสูง อีกทั้งไพร่ในสังกัดของวังหน้ายังมีมากพอๆ กับวังหลวง คือมากกว่า 80,000 นาย ในขณะที่ไพร่สังกัดวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเพียง 1,000 เศษเท่านั้น ความพร้อมรบของวังหน้านี้ทำให้เชื่อได้ว่าหากต้องสู้กับวังหลวงจริงๆ ก็สามารถทำได้อย่างไม่ยากเย็น

 

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 001 หวญ 18-15/1

 

หนำซ้ำยังเกิดอีกเหตุการณ์หนึ่งระหว่างวันที่ 28-29 ธันวาคม พ.ศ.​ 2417 มาสำทับให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีก อาจารย์ไอยคุปต์ย้อนความหลังว่า “เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้วังหลวง แล้ววังหน้าจะเข้าไปช่วยดับไฟ ก็มีการถืออาวุธเข้าไป ปรากฏว่าทหารวังหลวงไม่ให้เข้า เกิดการพูดเหมือนกับว่ามีการซ่องสุมกำลังในวังหน้า เกิดความไม่ไว้วางใจสูง”

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เรียกทหารเข้ามาประจำการรักษาพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งรับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ มาเจรจากับกรมพระราชวังบวรฯ ในสภาวการณ์ตึงเครียดเช่นนั้น กรมพระราชวังบวรฯ​ กลับเลือกที่จะเสด็จหนีไปอยู่ที่สถานกงสุลอังกฤษ กลายเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงเรื่องภายในราชอาณาจักร เพราะทั้งกงสุลอังกฤษและกงสุลฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ต่างส่งหนังสือไปยังข้าหลวงของประเทศตน ซึ่งประจำการอยู่ที่สิงคโปร์และไซ่ง่อนให้ส่งเรือรบเข้ามายังราชอาณาจักรไทย เพราะพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงเตรียมทหารจะรบกับวังหน้า ส่อเค้าว่าอาจเกิดสงครามกลางเมืองได้

 

โชคดีที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงข้าหลวงอังกฤษประจำสิงคโปร์ ทรงชี้แจงถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้ฝ่ายอังกฤษระงับการส่งเรือรบเข้ามายังสยาม แม้รัชกาลที่ 5 จะทรงพยายามคลี่คลายปัญหามากเพียงใดก็ตาม แต่กรมพระราชวังบวรฯ ก็ทรงปฏิเสธที่จะเจรจาปรองดองด้วย ซ้ำยังทรงยื่นข้อเสนอที่ล่วงพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ข้อตกลงใดๆ ก็ตามต้องได้รับการลงนามจากกงสุลอังกฤษและฝรั่งเศส

 

ความขัดแย้งยังไม่คลี่คลายแม้ล่วงเข้ากลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418 ซึ่งข้าหลวงอังกฤษต้องเดินทางจากสิงคโปร์มายังสยามในที่สุด และเชิญกงสุลประเทศต่างๆ ที่ประจำสยามมาประชุมชี้แจงว่าต้องการให้วังหลวงกับวังหน้าประนีประนอมกัน และยืนยันว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของสยาม จนในที่สุดวิกฤตครั้งนี้ก็สิ้นสุดลงในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418 หลังจากดำเนินมายาวนานถึง 2 เดือน โดยตกลงว่าวังหน้าจะมีทหารประจำการได้มากที่สุดเพียง 200 คน

 

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชต่อมาอีก 10 ปี ก็ประชวรด้วยพระโรคพระวักกะพิการ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 พระชนมายุได้ 48 พรรษา

 

หลังจากนั้นไม่นาน รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2428 และโปรดเกล้าฯ สถาปนาตำแหน่ง ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร’ ขึ้น ระบุรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ต่อไป

 

พระราชวังหน้าที่เคยโอ่อ่าจึงค่อยๆ ลดทอนความสำคัญลง พื้นที่ส่วนหนึ่งถูกนำมายังประโยชน์อื่นๆ ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ด้วยทรงไม่ปรารถนาให้กลายเป็นที่ร้างไปเปล่าๆ เช่น โปรดให้เขตวังชั้นนอกเป็นโรงทหารรักษาพระองค์ วังชั้นกลางโปรดให้จัดเป็นพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถาน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ส่วนวังชั้นในซึ่งยังมีเจ้านายฝ่ายใน พระธิดาของวังหน้าพระองค์ก่อนๆ ประทับอยู่ ก็โปรดให้จัดเป็นพระราชวังต่อไป และมีเจ้าพนักงานดูแลอยู่เช่นเดิม

 

วังหน้าที่เคยทรงอำนาจมานานถึง 103 ปีก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากการรับรู้และความทรงจำของผู้คนตามกฎอันเป็นธรรมชาติของกาลเวลา แม้การเปลี่ยนแปลงจะเป็นสิ่งอันเป็นนิรันดร์ แต่การจดจำช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ส่งผลถึงกรุงรัตนโกสินทร์​ในปีที่ 236 นี้ก็น่าจะทำให้เราเข้าใจปัจจุบันได้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

FYI
  • โครงการนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยีโดยสำนักสถาปัตยกรรมกรมศิลปากร นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคลผ่านงานสถาปัตยกรรมและการใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการกับผู้คน กระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่าย นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายน 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising