×

คุยกับภัณฑารักษ์ผู้ออกแบบนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ เล่าประวัติศาสตร์ด้วยการนำอดีตมาสู่ปัจจุบัน

18.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • จิตติและกิตติธร เกษมกิจวัฒนา สองพี่น้องภัณฑารักษ์ผู้ออกแบบ นิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ นิทรรศการประวัติศาสตร์ที่นำเสนอเชิงนามธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้ไม่บ่อยนักในวงการนิทรรศการเมืองไทย
  • แปลงข้อมูลออกเป็นภาษาภาพ (Visual Language) ให้รับบทนำมากกว่าการเล่าเรื่องด้วยตัวอักษร
  • นำเสนอแนวคิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงสถาปัตยกรรม และพื้นที่ของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องรัชกาลที่ 5 สะท้อนถึงความเป็นอนิจจังของสิ่งต่างๆ เช่น อาคารสิ่งปลูกสร้างใดๆ ที่แม้ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน แต่คติความเชื่อที่แฝงอยู่ภายในยังคงมีความหมายผ่านกาลเวลา
  • สีแดงชาด ตัวอักษรจากลายมือหมอบรัดเลย์ ระยะห่างระหว่างช่วงเสาในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย คุณลักษณะเด่นของวังหน้าสะท้อนในทุกรายละเอียดของนิทรรศการ
  • ภัณฑารักษ์ไม่เคยได้ทำงานบนแคนวาสสีขาว หมายถึงการออกแบบนิทรรศการได้อย่างมีอิสระทุกมิติ แต่ต้องบริหารจัดการงานบนข้อแม้และเงื่อนไขที่กำกับอยู่

หลังเตรียมงานกันมานานร่วมปี นิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ ก็ได้ฤกษ์เปิดให้เข้าเยี่ยมชมแล้ว ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

ประวัติศาสตร์บางช่วงตอนของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ที่ประทับของพระมหาอุปราช หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งทรงอำนาจทางการเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้น พร้อมการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. ​2325 และสิ้นสุดลงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2428 ได้รับการถ่ายทอดในมุมแห่งการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 5 ในรูปแบบที่การเล่าเรื่องด้วยภาพ โดยใช้เทคโนโลยีสื่อความหมาย รับบทนำมากกว่าตัวอักษรและวัตถุจัดแสดง

 

THE STANDARD สนทนากับ โจ-จิตติ เกษมกิจวัฒนา ภัณฑารักษ์ผู้ออกแบบ นิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ พร้อมด้วย กิ๊ฟ-กิตติธร เกษมกิจวัฒนา น้องสาว ที่พ่วงตำแหน่งผู้ช่วยภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้ ถึงแนวคิดการออกแบบนิทรรศการประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดในเชิงนามธรรม การกระตุ้นให้เรียนรู้อดีตจากสิ่งที่ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน (Reading the Intangibles) และความท้าทายที่ภัณฑารักษ์ต้องพบเจอระหว่างการทำงาน

 

จิตติย้อนความว่า เดิมโครงการนี้เป็นโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี ภายใต้การดำเนินงานของกรมศิลปากร โดย คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน เป็นผู้อำนวยการโครงการ มีคณะทำงานพัฒนาด้านเนื้อหาจนมาถึงขั้นตอนที่ต้องการจะเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีต่อสาธารณชน จึงได้ติดต่อจิตติและกิตติธร ซึ่งในเวลานั้นเป็นภัณฑารักษ์ของมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มาร่วมออกแบบนิทรรศการใหม่นี้

 

“คุณใหม่ไปที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันแล้วเห็นนิทรรศการที่ผมทำ คุณใหม่ก็เลยสนใจ และติดต่อขอความร่วมมือให้มาช่วยดู นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเข้ามามีส่วนร่วมในงานนี้ครับ” จิตติเล่าถึงที่มา

 

จิตติและกิตติธร ภัณฑารักษ์นิทรรศการวังน่านิมิต

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา  

 

โดยความคุ้นชินของคนทั่วไปเมื่อพูดถึงนิทรรศการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มักจะคิดถึงการให้ข้อมูลผ่านตัวอักษร ตลอดจนการนำวัตถุโบราณมาจัดแสดง ซึ่งวังน่านิมิตมอบประสบการณ์ที่ต่างออกไป จิตติเผยว่า “ผมและกิ๊ฟดูข้อมูลความถูกต้อง และกิ๊ฟก็ดูเกี่ยวกับเรื่องทิศทางงานกำกับศิลป์ด้วย ไม่อยากให้เป็นนิทรรศการที่เต็มไปด้วยข้อมูลมากจนเกินไป เราอยากทำให้มัน abstract คุณใหม่เองก็รู้สึกว่ามันมีเรื่องของ intangibles คือเรื่องของที่จับต้องไม่ได้อยู่ตรงนั้น ซึ่งในที่นี้หมายถึงอาคารหลายๆ หลังที่หายไปแล้ว ก็ต้องคิดว่า เราจะทำความเข้าใจกับวังหน้าอย่างไร เพราะฉะนั้นหนึ่งในสิ่งที่โครงการนี้พยายามจะทำคือ reconstruct หรือสร้างใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยแสดงผลให้เห็นภาพรวมขึ้นมา สร้างรูปให้คนเห็นว่า เมื่อก่อนวังหน้าเป็นอย่างไร และมีอีกส่วนหนึ่งคือ อะไรที่มันซ่อนอยู่ในงานสถาปัตยกรรมที่จะบอกเรื่องราวเกี่ยวกับวังหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อ คติ ประเพณี”

 

กระบวนการสืบค้นข้อมูลเป็นไปโดยละเอียด

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา

 

อาคารที่ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน แต่ยังคงความนัยทางประวัติศาสตร์

วังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงสิ่งปลูกสร้างและการใช้พื้นที่ ซึ่งเป็นไปโดยสัมพันธ์กับคติความเชื่อในหลายแง่มุม โดยเฉพาะอาคารต่างๆ ในวังหน้า ที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมตามฐานานุศักดิ์ของผู้ครองวัง ตราบกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้พระอนุชาธิราชครองวังหน้า โดยเฉลิมพระเกียรติยศให้เสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หลายสิ่งในวังหน้าที่ไม่เคยปรากฏกลับมีขึ้น

 

“พระที่นั่งคชกรรมประเวศเป็นเครื่องหมายของกษัตริย์ เพราะมียอดปราสาท ซึ่งในวังหน้าไม่เคยมีมาก่อน แต่เกิดมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เท่านั้น เพราะฟังก์ชันอยู่ตรงนั้น พอพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคต ก็ไม่มีการซ่อมแซม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า จนสุดท้ายจึงถูกรื้อถอนออกไป ดังนั้นผมจึงอยากจะเอาเรื่องพวกนี้มาพูดผ่านนิทรรศการ โดยที่ไม่ใช่การไปบอกว่ารื้อเพราะอะไร แต่จะเสนอ visual หรือภาพบรรยากาศให้เห็นว่า มันเกิดมาด้วยเหตุผลและไปด้วยเหตุผล มีการเปลี่ยนแปลง มีความไม่คงทนถาวร ซึ่งการทำงานตรงนี้จะต้องสะท้อนความเชื่อ คติ หรือสิ่งที่มองไม่เห็นออกมาด้วย จึงต้องอาศัยกิ๊ฟและทีมงานของ Means Design Studio ทำงานร่วมกัน โดยพยายามใส่ภาษาที่ร่วมสมัย ให้เป็นกราฟิก เป็นภาษาภาพ เล่าเรื่องราวในอีกมิติหนึ่ง”

 

งานกำกับศิลป์ทั้งหมดของนิทรรศการวังน่านิมิต เป็นผลงานของกิตติธรและ Means Design Studio

ส่วน Bit Studio รับหน้าที่พัฒนาโปรแกรมสื่อโต้ตอบในนิทรรศการ

 

ฟื้นอดีตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

“คุณใหม่สนใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีในพิพิธภัณฑ์ ณ ปัจจุบัน การเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้พวกเขามีส่วนร่วมกับนิทรรศการ ตรงนี้ถือเป็นจุดมุ่งหมายของโครงการอยู่แล้ว และคุณใหม่ได้ทาบทาม Bit Studio ให้มารับหน้าที่พัฒนาด้านโปรแกรมสื่อโต้ตอบในนิทรรศการ” ภัณฑารักษ์หนุ่มกล่าว และขยายความเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน การนำเทคโนโลยีมาใช้สื่อความหมายในนิทรรศการที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จุดเด่นที่ทำให้นิทรรศการวังน่านิมิตแตกต่างออกไปคือ การนำเสนอองค์ความรู้ผ่านภาษาภาพ ซึ่งผู้ชมที่เดินเข้าสู่ห้องนิทรรศการ หลังจากผ่านส่วนแรกที่จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) พอสังเขปแล้ว ก็จะเข้าสู่ส่วนเทคโนโลยีที่น่าตื่นตานั้นทันที

 

Interactive Map สร้างปฏิสัมพันธ์ผ่านการสั่งงานด้วยมือ

Photo: ธัญรดา เลิศวิไลรัตน์

 

แผนผังเดิมของวังหน้าในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้รับการบันทึกไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซ้อนทับกับภาพถ่ายทางอากาศของเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน เป็น Interactive Map ที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมโดยตรง ผ่านการสั่งงานด้วยมือโดยไม่ต้องสัมผัสหน้าจอใดๆ เป็นกลวิธีเพื่อนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ สะท้อนว่าประวัติศาสตร์เป็นความรู้ที่เคลื่อนไหว ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งและจบเพียงการท่องจำ  

 

กิตติธรเสริมถึงประเด็นการจัดนิทรรศการวังน่านิมิตที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ BACC ว่า เป็นสถานที่ที่คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้พื้นที่มาก ซึ่งอาจช่วยดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาชมงานและเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ได้มากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเองก็มีส่วน แต่ควรใช้เพื่อสร้างประโยชน์ต่อตัวนิทรรศการและการเรียนรู้ มากกว่าจะเน้นที่ความหวือหวาของเทคโนโลยีนั้นๆ

  

“การที่เราเอาเทคโนโลยีมาเป็นส่วนช่วย เราต้องหาจุดร่วมกันว่าจะไม่เป็นการใช้เทคโนโลยีมากเกินไป คือต้องเอามาใช้เพื่อช่วยในการออกแบบ จริงๆ ในประเทศเรา พอมีเทคโนโลยีออกใหม่ ทุกคนก็จะไปคลั่งไคล้ในความใหม่ เหมือนความน่าตื่นเต้น เป็นคล้ายกับผิวคลื่นน้ำที่มาแล้วเราก็ใช้มัน แต่กิ๊ฟคิดว่า เราต้องหาจุดที่เหมาะสมว่าเทคโนโลยีนี้มันให้ประโยชน์ต่อ Object นั้น หรือการเล่าเรื่องนั้นๆ อย่างไร”

 

จิตติเสริมว่า “สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนสนุกกับองค์ความรู้ ความยากคือ เราเป็นนายของเทคโนโลยีได้ไหม ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวบอกเล่าเรื่องนามธรรมได้ไหม ในส่วนของกิ๊ฟก็ยากในเรื่องการกำกับศิลป์ ก็ต้องให้กราฟิกดีไซเนอร์ของ Means Design Studio ไปวังหน้ากับเรา เพื่อไปศึกษาสถาปัตยกรรม ไปดูสีรวมทั้งองค์ประกอบทั้งหมดของวังหน้า เช่น การสแกนสีภาพจิตรกรรมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เราอยากให้คนที่รับหน้าที่ตรงนี้เข้าใจบริบท และมีองค์ความรู้ไว้ต่อยอด เช่น ทางกรมศิลป์ฯ สร้าง 3D Modeling เป็นผนังสีให้เราแล้ว แต่สุดท้ายเราเลือกที่จะถอดสีพวกนั้นออกให้เหลือแต่โครงสถาปัตยกรรม เพราะอยากให้คนเห็นถึงตัวสถาปัตยกรรมจริงๆ ให้ทุกอย่างเป็นเส้น เป็นโครงเหมือน Air Structure เพื่อที่จะให้คนเข้าใจโครงสร้างได้ดีกว่า และเป็นการนำเสนอในแง่นามธรรมด้วย ซึ่งเป็นลักษณะที่นิทรรศการในบ้านเราอาจไม่ได้ทำแบบนี้มากนัก”

 

โลโก้นิทรรศการออกแบบจากผังของอาคาร 3 หลังของวังหน้า

Photo: ปฏิพล รัชตอาภา

 

สืบค้นประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม กว่านิทรรศการจะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ได้ชุดความคิดแน่ชัด และพร้อมสำหรับนำเสนอผ่านเทคโนโลยี จะต้องผ่านกระบวนการสืบค้นประวัติศาสตร์โดยละเอียด ซึ่งการจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อนำมาพัฒนาเป็นเนื้อหานิทรรศการต่อไม่ใช่เรื่องง่าย

 

“สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยตรัสไว้ว่า ทุกอย่างในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์มันไม่ใช่ความถูกต้องที่สุด แต่มันเกิดจากองค์ประกอบ บริบททุกอย่างที่มีอยู่ในเวลานั้น แล้วเมื่อเวลาผ่านไป 10 20 หรือ 30 ปี ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากว่าอาจพบหลักฐานเพิ่มเติม ความรู้ก็มีการเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง

 

“ข้อมูลของวังหน้าที่กรมศิลปากรทำไว้อิงกับแผนที่และผังที่ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นผังวังหน้าตอนปลายรัชกาลที่ 4 ต่อรัชกาลที่ 5  ดังนั้นข้อมูลหลายอย่างที่ใช้ในนิทรรศการนี้ คือข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ที่เก่าสุดที่สามารถหาได้ เช่น ภาพถ่ายที่สะท้อนเทคโนโลยีสมัยนั้น ซึ่งทำให้เราเข้าใจอดีตได้มากขึ้น และสามารถใช้อ้างอิงได้มากขึ้น เช่น พระที่นั่งศิวโมกขพิมานที่เป็นห้องนิทรรศการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ ตอนนี้เป็นอาคารปูนทั้งหมด แต่ในบันทึกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพบอกไว้ว่า เมื่อก่อนเป็นไม้ สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งในตอนนี้เรามองภาพไม่ออกแล้ว เพราะเปลี่ยนเป็นปูนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ทีนี้ถ้าเราอยากรู้ว่าพระที่นั่งศิวโมกขพิมานสมัยที่เป็นไม้จริงๆ เป็นอย่างไร ก็น่าคิดเหมือนกัน แต่ ณ ปัจจุบันนี้ข้อมูลยังไปไม่ถึง สำหรับผมในฐานะภัณฑารักษ์มองว่า ถ้าข้อมูลการบันทึกโบราณคดีไปไม่ถึง เราอาจต้องใช้จินตนาการหรือเปล่า อย่างเช่นเรามีบันทึกว่าเป็นแบบไหน มีแปลนอยู่ แต่ไม่มีว่ารูปลักษณ์จริงๆ เป็นอย่างไร เราอาจต้องให้ศิลปินเป็นคนทำงาน จินตนาการออกมาเป็นภาพ ซึ่งอาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ก็สามารถเติมช่องว่างได้บ้าง”

 

การสืบค้นข้อมูลของภัณฑารักษ์ทำอย่างละเอียดเป็นขั้นตอน

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา

 

จัดการข้อมูลด้วยสายตาภัณฑารักษ์

“เวลาผมทำงาน ผมจะตั้งคำถามก่อน แม้ว่ามีข้อมูล มีหลักฐานอยู่ แต่เราก็ต้องตั้งสมมติฐานและตรวจสอบมัน ดังนั้นเราต้องคิดว่าทุกอย่างคือปัญหา ไม่ใช่บทสรุป ต้องกลับไปตั้งคำถามกับข้อมูลที่ได้รับมาว่าจริงไหม มีอะไรมาอ้างอิง ซึ่งผมถือว่าเป็นหลักการทำงานของผมอยู่แล้ว อย่างโครงการนี้ผมก็ขอค้นข้อมูลเพิ่ม ใช้วิธีการทำงานของเราคือ ตรวจสอบทุกจุด โดยหลังจากได้บทสรุปจะทำออกมาเป็นนิทรรศการ เราก็ต้องเข้าไปคุยกับฝ่ายต่างๆ ของกรมศิลปากรว่า รับรองข้อมูลนี้ไหม สามารถเผยแพร่ได้หรือเปล่า ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ถ้ามีข้อมูลที่ออกมาจากเฟซบุ๊กเราจะเชื่อเลยหรือเปล่า ผมคนหนึ่งล่ะที่จะไม่เชื่อ (หัวเราะ) อาจเพราะเป็นนิสัยด้วยว่า ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มา ซึ่งมันค่อนข้างสำคัญในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นในห้องนิทรรศการเราจึงจัดส่วนหนึ่งเป็นห้องข้อมูลหรือ Reading Room ด้วย”

 

จิตติเริ่มกระบวนการทำงานด้วยการตั้งคำถามเสมอ

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา

 

ซึ่งในประเด็นนี้ ทั้งจิตติและกิตติธรเห็นคล้ายกันว่า แม้จะมีเทคโนโลยีที่นำเสนอประวัติศาสตร์ผ่านการเคลื่อนไหวของมือโดยไม่ต้องสัมผัสหน้าจอจริง แต่กระบวนการเรียนรู้แบบจับต้องได้ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ

 

“เพราะจริงๆ แล้วทุกอย่างเริ่มต้นด้วยการเข้าไปค้นข้อมูล เราอยากให้เห็นถึงความสำคัญในขั้นตอนนี้ การเข้าไปค้นข้อมูลในห้องสมุดที่หอจดหมายเหตุสำคัญอย่างไร สุดท้ายแล้ว นิทรรศการไม่ใช่มีเพียงเทคโนโลยี แต่มันมีสิ่งที่จับต้องได้ ซึ่งสะท้อนถึงขั้นตอนหรือกระบวนการต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งหมด”

 

ห้องข้อมูล

Photo: ปฏิพล รัชตอาภา

 

ยิ่งลงลึกยิ่งเปิดโลก ยิ่งย้อนกลับยิ่งรู้จักปัจจุบัน

แน่นอนว่า วังน่านิมิตย่อมไม่ใช่งานนิทรรศการประวัติศาสตร์ชิ้นแรกๆ ของสองพี่น้องภัณฑารักษ์ จิตติและกิตติธร หากย้อนกลับไปราวกลางปี 2560 ทั้งคู่เคยมีผลงานนิทรรศการ 100 ปี สยามกับสงครามโลก ซึ่งจัดแสดงที่หอวชิราวุธานุสรณ์มาแล้ว แม้จะเป็นเรื่องราวต่างวาระและช่วงเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดร่วมในชิ้นงานเสมอคือ ประวัติศาสตร์

 

“ผมสนใจเรื่องราวของเมืองไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 มาก เพราะถือว่าเป็น renaissance ของทุกอย่าง แต่เราไม่เคยได้ศึกษาเรื่องวังหน้า เพราะที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นเป็นเรื่องๆ ไป แต่พอได้มาทำโครงการนี้ โลกทัศน์ของเราขยายออกไปด้วยความรู้เรื่องฐานานุศักดิ์และสถาปัตยกรรม ซึ่งหลายๆ คนก็อาจจะยังไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร (ฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรมคือ เครื่องกำหนดรูปแบบของสิ่งปลูกสร้างที่เป็นไปตามศักดิ์ของผู้ครอบครอง – THE STANDARD) และการตีความจนกลายมาเป็นสถาปัตยกรรม รวมถึงหน้าที่ของวังหน้าแท้จริงแล้วคืออะไร ผมคิดว่ามันน่าสนใจครับ”

 

กิตติธร ภัณฑารักษ์ผู้ช่วย รับหน้าที่ด้านกำกับศิลป์ด้วย

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา

 

กิตติธรเสริมว่า “เราค้นไปเรื่อยๆ จนได้เจอเรื่ององค์ประกอบและความเชื่อต่างๆ ที่นำมารวมกันจนทำให้เกิดเป็นสถาปัตยกรรม หรือเหตุผลที่ต้องสร้างสิ่งนั้นๆ ในพื้นที่นี้ และที่ทำให้เรารู้สึกตกใจก็คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ สมัยก่อนเคยมีสิ่งนี้อยู่ตรงนี้ แต่ปัจจุบันกลับไม่มีอยู่แล้ว และมันยังคงถูกเปลี่ยนไปตามหน้าที่และตามกาลเวลา”

 

อีกประเด็นสำคัญที่ภัณฑารักษ์หนุ่มให้ความสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารขึ้นมาแทน

 

“คาดว่าเหตุผลที่ทรงตัดสินใจยกเลิกระบบวังหน้าก็เป็นการพัฒนาปรับรูปแบบการปกครองแบบหนึ่ง ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้มีการปรับพื้นที่ของเกาะรัตนโกสินทร์ทั้งหมด เป็นประเด็นที่ถูกมองในหลายมุม อย่างฝ่ายอนุรักษ์ก็จะบอกว่า ไม่ควรรื้อ ซึ่งเราต้องพยายามทำความเข้าใจว่า ถ้าไม่รื้อจะเกิดอะไรขึ้น ท่านจะทรงใช้พื้นที่ตรงนั้นทำอะไร และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ รัชกาลที่ 5 ทรงย้ายพิพิธภัณฑ์หลวงจากวังหลวงมาอยู่ที่วังหน้า ทำให้ประชาชนเข้าไปง่ายขึ้น ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จากที่เมื่อก่อนเป็น Royal Museum ซึ่งไม่ได้เปิดสู่สาธารณะมากนัก ทุกอย่างมีเหตุผลบอกได้ว่าทำไมจึงเปลี่ยนแปลงไป”

 

ผังเมืองและตำแหน่งสิ่งปลูกสร้างต่างๆ สัมพันธ์กับคติความเชื่อโบราณ

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา

 

วังน่านิมิต เรียนประวัติศาสตร์ด้วยการยกอดีตมาสู่ปัจจุบัน  

“หน้าที่ของวังหน้าคือ หน้าที่ปกป้องเมืองครับ แต่เมื่อโลกหมุนเวียนเปลี่ยนไป ข้าศึกของคนไทยก็ไม่ใช่พม่า แต่เปลี่ยนเป็นฝรั่ง เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 4 วังหน้าในสมัยนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ทรงมีหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่การตั้งทัพหน้าเพื่อออกไปรบเหมือนในสมัยวังหน้าของรัชกาลที่ 1 แต่เป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ เป็นการป้องกันคนละยุทธวิธีกับในอดีตที่ผ่านมา

 

“การเรียนรู้เรื่องวังหน้าสำหรับผม ทำให้ย้อนคิดสงสัยว่า สมัยก่อนพื้นที่บริเวณสนามหลวงเป็นอะไร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ ที่เห็นว่าเล็กๆ นั้น เมื่อก่อนเป็นวังหน้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือฝ่ายในของวังหน้านะ นิทรรศการนี้ทำให้เราเห็นถึงขอบเขตสถาปัตยกรรม และหากวันหนึ่งคุณมีโอกาสกลับไปยังพื้นที่ตรงนั้น คุณก็จะเห็นถึงความต่อเนื่องในเรื่องประวัติศาสตร์ทางสถาปัตยกรรมของเมือง ทุกอย่างมีที่มาที่ไป สุดท้ายเราก็จะได้รู้ว่า จริงๆ แล้วมันก็มีอะไรซ่อนอยู่

 

“ในนิทรรศการนี้จะทำให้เห็นว่า เราจะไม่วิ่งกลับไปหาอดีต แต่จะเรียนรู้จากอดีต ใจความหลักของงานคือ เราไม่ต้องการย้อนอดีต แต่อยากให้อดีตกลับมาอยู่ในบริบทปัจจุบัน เช่น ชื่อนิทรรศการวังน่านิมิต ก็สะกดแบบโบราณ ซึ่งข้อมูลส่วนหนึ่งก็ค้นคว้าจากหนังสือ ตำนานวังน่า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รูปแบบตัวอักษรก็มีที่มาจากลายมือของหมอบรัดเลย์ ระยะห่างระหว่างช่วงเสาของห้องข้อมูลก็เป็นระยะจริงระหว่างช่วงเสาในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย รายละเอียดเหล่านี้จะแทรกไว้หมดเลยครับ เราเอาสิ่งที่คนมองข้ามมาทำให้คนได้มองชัดขึ้น และสามารถต่อยอดจากการศึกษาเรื่องพวกนี้ได้”

 

ตัวอักษรในนิทรรศการมีที่มาจากลายมือหมอบรัดเลย์ ผู้แปลหนังสือ ครรภ์ทรักษา

Photo: ปฏิพล รัชตอาภา

 

ภัณฑารักษ์หล่อเลี้ยงอดีตให้มีชีวิตด้วยการจัดการองค์ความรู้

“การเก็บรักษาอดีตอาจไม่ใช่การรื้อหรือบูรณะทุกอย่างให้กลับมาเหมือนเดิม เพราะทุกอย่างมีเหตุผลในการเปลี่ยนแปลง ต้องอย่าลืมว่า เรามองสิ่งก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ถ้านับถึงตอนนี้คือ เกือบ 200 ปี เราคิดว่า ทำไมมันหายไป ทำไมไม่เก็บไว้ แต่ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปถึงตอนที่รื้อคือ ในสมัยรัชกาลที่ 5 สิ่งก่อสร้างนั้นอายุยังไม่ถึงร้อยปีนะ ดังนั้นงานของภัณฑารักษ์คือ การเอาองค์ความรู้ตรงนี้มามองในมุมที่กว้างขึ้นจากหลายๆ มุมมอง ที่เราได้เห็นจากมุมมองของนักอนุรักษ์ มุมมองของนักโบราณคดี อันนี้คือความสนุก

 

“คำว่าภัณฑารักษ์ โดยรากศัพท์แปลแบบฝรั่งในศตวรรษที่ 19 หมายถึงคนเฝ้าของ คนดูแลของ ซึ่งต่างจากคำว่าภัณฑารักษ์ที่ใช้ในบริบทร่วมสมัย บางคนก็บอกว่าอยากใช้คำว่า curator มากกว่า เพราะคำว่า curate มันกว้างไกลกว่าคำว่า ภัณฑ์+รักษ์ มาก แต่สำหรับผมคิดว่า ได้ทั้งนั้น ในบริบทไทยเราใช้คำว่าภัณฑารักษ์ แต่เราให้คำจำกัดความ ขยายความ และเปลี่ยนบริบทมันใหม่ เลยทำให้สามารถใช้คำเดิมได้   

 

“ภัณฑารักษ์ในปัจจุบันคือ ต้องวางแผนหลายอย่าง ต้องสร้างพื้นที่ที่จะส่งผ่านองค์ความรู้ และหาวิธีที่จะกระตุ้นผู้ชมให้มีส่วนร่วมกับประเด็นในนิทรรศการที่เรานำเสนอ เช่น เรื่องสถาปัตยกรรมต่างๆ ของวังหน้า บางคนอาจมองในแง่ประวัติศาสตร์ สิ่งก่อสร้าง มีหลายแง่มุมให้เราได้เลือกสรร

 

“สุดท้ายจริงๆ คนที่จะเป็นภัณฑารักษ์ต้องมีประสบการณ์ และ passion คือต้องค้นคว้า เรียนรู้ และมีระบบในการจัดการความคิด มีระบบในการสื่อสาร เพื่อใช้สร้างนิทรรศการได้ สำหรับผม ภัณฑารักษ์ไม่เคยได้ทำงานบนแคนวาสสีขาวที่หมายถึงการออกแบบนิทรรศการได้อย่างมีอิสระทุกมิติ แต่มันจะมาด้วยข้อแม้และส่วนประกอบต่างๆ ให้เราคิดว่า จะบริหารจัดการงานบนข้อแม้และเงื่อนไขที่กำกับอยู่อย่างไรครับ”

FYI
  • โครงการนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยีโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคลผ่านงานสถาปัตยกรรมและการใช้เทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการกับผู้คน กระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่าย นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม สามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ wangnaproject.space
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising