ขณะที่คุณเดินชมนิทรรศการ Thailand’s Past ภายในที่นั่งพระศิวโมกขสถาน ยลโฉมกลองมโหระทึกยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้เห็นความรุ่งเรืองของอาณาจักรก่อนเก่าของบรรพบุรุษ ผ่านมหัศจรรย์แห่งความงดงามทางด้านประติมากรรม และปฏิมากรรม ยุคทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี ฯลฯ คุณอดภาคภูมิใจในความรุ่มรวยทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตนไม่ได้
หลังจากทยอยปิดปรับปรุงห้องจัดแสดงในหมู่พระที่นั่งต่างๆ ไปพักใหญ่ เดือนมกราคมที่ผ่านมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เผยโฉมห้องนิทรรศการใหม่ 4 ห้อง ได้แก่ โลหศิลป์, ศัสตราวุธ, อิสริยาพัสตราพูษาภัณฑ์ และนาฏดุริยางค์ และกลายเป็นจุดขายใหม่ที่ดึงดูดเหล่าผู้รักเสพงานศิลป์ให้ไปเยี่ยมเยือนได้ไม่น้อย
เมื่อบวกกับกระแสความนิยมในการแต่งชุดไทยและการที่โบราณสถานกำลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุด ตลอดสองสามเดือนที่ผ่านมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร น่าจะเป็นจุดหมายที่ผู้คนยุคปัจจุบันปักหมุดจะไปเยือนเพื่อย้อนเวลาไปรื้อฟื้นอดีต กระนั้นก็ตาม การจัดแสดงนิทรรศการทั้งถาวรและชั่วคราวต้องมีวันถึงครายุติ สิ่งที่จะส่งผ่านเหนือกาลเวลาไปยังชนรุ่นหลัง คือคุณค่าของแหล่งโบราณสถานแห่งนี้ ในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า ‘วังหน้า’
ก่อนมาเป็นพิพิธภัณฑสถานที่วังหน้า
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย มีความเป็นมาย้อนหลังกลับไปได้ถึง พ.ศ. 2402 หรือเกือบ 160 ปี มาแล้ว แต่ความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับที่ตั้งในบริเวณดังกล่าวถอยกลับไปได้ไกลกว่านั้น
ณ จุดที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คือบทสำคัญบทหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่คนรุ่นหลังอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน
พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
(Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (2)ภ 002 หวญ 3/2 (ภาพที่ 1)
ผู้ชมที่หลงใหลได้ปลื้มไปกับเรื่องราวในละครดังที่เพิ่งปิดฉากอำลาจอแก้วไปพร้อมกระแสที่ปลุกวงการโทรทัศน์ให้พลิกฟื้นคืนชีพขึ้นมาบ้าง อาจจะหันกลับมาสนใจเรื่องราวในยุคก่อนเก่ากันมากขึ้น หากการเสพสื่อเพื่อความบันเทิงจะไม่เพียงแค่ฆ่าเวลาให้ล่วงผ่าน การติดตามแต่ละตอนอย่างใจจดใจจ่อน่าจะทำให้คนในยุคนี้มองภาพการเมืองการปกครองในอาณาจักรก่อนหน้าได้เข้าใจยิ่งขึ้น
หากเราย้อนเวลากลับไปในยุคทองของแผ่นดินสยาม สมัยอยุธยา นอกจากการสานสัมพันธ์กับชาติน้อยใหญ่ทั้งที่เข้ามาเจริญไมตรีทางการทูตและการค้า ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ และการที่เราส่งตัวแทนราชอาณาจักรไปเยือนถึงต่างแดน หัวใจสำคัญของการปกครองบ้านเมืองให้เข้มแข็งเพื่อให้ทวยราษฎร์อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากการข่มเหงจากอาณาจักรใกล้ไกล ย่อมหนีไม่พ้นการเตรียมกำลังไพร่พลให้พร้อมรับศึกสงคราม
กระนั้นก็ตาม กองทัพที่เข้มแข็งย่อมต้องอาศัยผู้นำที่กล้าแกร่งเปี่ยมวิสัยทัศน์ ตลอดระยะยาวนานกว่า 400 ปี ราชอาณาจักรอยุธยามีความร่มเย็นเป็นปึกแผ่นด้วยพระปรีชาสามารถของบูรพกษัตริย์ ผู้ทรงปกบ้านปกเมืองโดยไม่หวั่นเกรงต่อพระชนม์ชีพ ด้วยเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงต้องเป็นผู้นำในการรบทัพจับศึกกับศัตรูของแผ่นดินด้วยพระองค์เอง การสร้างกองบัญชาการปกครองบ้านเมืองที่พร้อมจะรับมือกับสถานการณ์ไม่ชอบมาพากลได้ทันท่วงทีเป็นกุศโลบายที่แยบยล จึงเป็นที่มาของตำแหน่ง ‘วังหน้า’ ที่มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย
“ประเพณีเกี่ยวกับเจ้านายของไทยแต่โบราณมีตำแหน่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของบ้านเมืองอยู่มาก เพราะเจ้านายมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องและบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้เกิดความมั่นคงกับบ้านเมือง ตำแหน่งวังหน้าหรือพระมหาอุปราชถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญที่สุดตำแหน่งหนึ่ง เพราะมีพระราชอำนาจรองจากพระมหากษัตริย์…” ข้อความที่หยิบยกมาจากตอนแรกชื่อ กำเนิดวังหน้า: สถานที่ประทับแห่งพระมหาอุปราช ในหนังสือ ‘วังหน้า’ โดยโกสินทร์ รตนประเสริฐ เป็นการสรุปความสำคัญของตำแหน่งทางการเมืองการปกครองที่ยกเลิกไปสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เป็นอย่างดี
สยามในยุคก่อนรัตนโกสินทร์ ยังมีสงครามกับเพื่อนบ้านและอาณาจักรน้อยใหญ่ การขาดผู้ปกครองไปแบบปัจจุบันทันด่วนย่อมไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของบ้านเมือง ตำแหน่งพระมหาอุปราชหรือวังหน้า จึงมีบทบาทในการแบ่งเบาภาระของพระมหากษัตริย์อย่างมีนัยสำคัญในด้านการปกครอง
ขณะเดียวกัน ในเชิงโครงสร้าง วังหน้า หรือ’พระราชวังบวรสถานมงคล’ มักประกอบด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักอันเป็นมรดกสถาปัตยกรรมไทยที่งดงามและมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับวังหลวงของแต่ละยุค
วังหน้า อันเป็นคำติดปากเรียกทั้งตำแหน่งและสถานที่ แบบที่เรานึกถึงในปัจจุบัน คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่ติดมหาวิทยาธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ย้อนกลับไปก่อนที่สถานศึกษาแห่งนี้จะได้รับการก่อตั้งขึ้น พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของวังหน้ามาก่อน
‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ ณ ที่ตั้งในปัจจุบันเกิดขึ้นเมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช พระนามว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท อันเป็นจุดเริ่มต้นของวังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์ และเป็นการสถาปนาตำแหน่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง
ทว่า ที่มาของตำแหน่งและสถานที่ประทับของสมเด็จพระมหาอุปราชหรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พาเราย้อนกลับไปยังยุคทองสมัยอยุธยา
พระราชวังจันทรเกษม: ประวัติศาสตร์แห่งวังหน้าที่หลงเหลือจากยุคอยุธยา
พระที่นั่งพิมานรัตยา
(Photo: shutterstock)
จากที่ตั้งของวังหน้าบนเกาะรัตนโกสินทร์ ใจกลางกรุงเทพมหานคร คุณอาจพาตัวเองย้อนเวลากลับไปรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ที่มาของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้ในดินแดนที่เคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักรที่รุ่งเรืองยาวนานกว่า 400 ปี
การเดินทางไปสู่อดีตไม่ต้องอาศัยไทม์แมชชีน หรือคันฉ่องทะลุมิติแบบจินตนาการในหนังในละคร แค่ขับรถยนต์เพียงหนึ่งชั่วโมงกว่า มาสู่จุดหมายที่พระราชวังจันทรเกษม ริมแม่น้ำป่าสัก ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ว่ากันว่าการจัดตั้งพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นประเพณีที่ไม่ปรากฏมีเป็นหลักฐานในสมัยสุโขทัย ด้วยเหตุที่พระมหาอุปราชต้องเสด็จไปปกครองศรีสัชนาลัยในฐานะเมืองลูกหลวง การสร้างวังหน้าเคียงคู่กับวังหลวงจึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด
ตำแหน่งพระมหาอุปราชมีปรากฏครั้งแรกในสมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กระนั้นก็ตาม ไม่มีหลักฐานการสร้างวังหน้าให้เป็นที่ประทับอย่างเป็นทางการ
พระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังหน้าพระราชทานแด่พระมหาอุปราช คือ สมเด็จพระมหาธรรมาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 17 และวังหน้าที่ทรงมีพระราชบัญชาให้สร้าง คือ พระราชวังจันทรเกษม เพื่อพระราชทานแก่พระราชโอรส คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สำหรับประทับเมื่อเสด็จฯ จากเมืองพิษณุโลกเพื่อมาเฝ้าพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา
พลับพลาจตุรมุข
ในหนังสือ ‘ตำนานวังหน้า’ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประพันธ์ไว้ดังนี้ “วังหน้าแรกมีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา…เข้าใจว่าแรกเรียกว่า วังจันทรเกษมนั้น ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วมาเรียกว่า พระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช…”
พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้า ตั้งอยู่ ณ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานตามพระราชพงศาวดารสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2120 พระนเรศวรทรงใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นกองบัญชาการรับศึกหงสาวดีเมื่อปี พ.ศ. 2129
ครั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 18 ระหว่าง พ.ศ. 2133-2148 พระองค์ประทับอยู่ที่พระราชวังแห่งนี้ในช่วง 5 ปีแรก
พระราชวังจันทรเกษมเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง 8 พระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ ส่วนใหญ่เสด็จขึ้นครองราชย์ในภายหลัง
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แม้ภายหลังทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษกในพระราชวังหลวงแล้ว ก็ยังทรงประทับที่วังหน้าเป็นเวลา 14 ปี ในเวลาเดียวกันนี้ก็ทรงโปรดให้แต่งตั้ง กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในระยะแรก ทรงโปรดให้ประทับ ณ วังหลวง กระทั่ง พ.ศ. 2287 เกิดเพลิงไหม้วังหน้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ และโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์เสด็จมาประทับที่วังหน้า ซึ่งนับเป็นอุปราชองค์สุดท้ายที่ประทับ ณ วังหน้าแห่งนี้
ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 พระราชวังจันทรเกษมได้ถูกทิ้งร้างเหลือแต่ซากอาคารก่ออิฐถือปูน เช่นเดียวกับโบราณสถานอื่นๆ ของกรุงศรีอยุธยา
จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2404 ทรงโปรดฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชิดเชื้อพงศ์ เป็นแม่กองในการดูแลก่อสร้างพระตำหนักและพลับพลาที่ประทับ จึงได้มีปรับปรุงบูรณะ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาที่พระองค์เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และโปรดพระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2436 นอกจากวังหน้าเก่าที่อยุธยา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ยังทรงมีบทบาทสำคัญในการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สอง ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่า โดยใช้พระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นที่ทำการ จนเมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า จึงมีการจัดสร้างอาคารที่ทำการภาคขึ้น แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจากพระที่นั่งพิมานรัตยามาตั้งที่อาคารที่ทำการภาค พระยาโบราณราชธานินทร์รวบรวมวัตถุสิ่งของสำคัญในบริเวณกรุงเก่าและบริเวณใกล้เคียงไว้เป็นจำนวนมาก มาเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังจันทรเกษม จนในปี พ.ศ. 2445 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแนะนำให้พระยาโบราณราชธานินทร์ จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่เรียกว่า โบราณพิพิธภัณฑ์ โดยใช้ตึกโรงม้าพระที่นั่งเป็นที่เก็บรวมรวม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุต่างๆ จากโรงม้าพระที่นั่งเข้ามาเก็บรักษาและจัดแสดงที่บริเวณอาคารพลับพลาจตุรมุข และต่อเติมระเบียงตามแนวอาคารด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก เพื่อจัดตั้งวัตถุ ศิลาจารึก และประติมากรรมต่างๆ ใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์ว่า อยุธยาพิพิธภัณฑ์ โดยในเวลาต่อมา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2479 กรมศิลปากรได้ประกาศให้อยุธยาพิพิธภัณฑ์เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในนาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
พระที่นั่งพิมานรัตยา
(Photo: shutterstock)
สิ่งก่อสร้างที่ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และที่ทำการมณฑลเทศาภิบาล จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้ง โดยมีสถาปัตยกรรมสำคัญๆ คือ
- พลับพลาจตุรมุข ตั้งอยู่บริเวณกำแพงด้านหน้าชานของพลับพลา โดยในสมัย ร.4 พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มีการสร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นมาใหม่ ตามร่องรอยของแนวฐานอาคารเดิม โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารพลับพลาทรงจตุรมุขแฝด เพื่อใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกงานว่าราชการ และที่ประทับในเวลาเดียวกัน
- พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นหมู่ตึกกลางพระราชวัง มี 4 หลัง คือ อาคารปรัศว์ซ้าย อาคารปรัศว์ขวา พระที่นั่งพิมานรัตยา และศาลาเชิญเครื่อง
- พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง) ตั้งอยู่บริเวณกำแพงด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ เป็นอาคารหอสูง 4 ชั้น ที่สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาในสมัย ร.4 ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งตามแนวรากฐานอาคารเดิม และใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดวงดาว
- ตึกโรงม้าพระที่นั่ง ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น
- ตึกที่ทำการภาค (อาคารมหาดไทย) เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างขนานไปกับแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ สร้างขึ้นในสมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า
พลับพลาจตุรมุข มองจากพระที่นั่งพิมานรัตยา
สานต่อธรรมเนียม ‘วังหน้า’ ในยุครัตนโกสินทร์
หลังกรุงศรีอยุธยาถูกตีแตก ในปี พ.ศ. 2310 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตัดสินพระทัยย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี
โดยพระราชวังอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 15 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีมายังฝั่งตะวันออกแทน เป็นจุดเริ่มต้นของสมัยรัตนโกสินทร์ที่ยืนยาวมาจนปัจจุบัน
จากการที่พระองค์ทรงเคยรับราชการในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงปรารถนาจะทำนุบำรุงบ้านเมืองและประเพณีให้เหมือนยุคทองครั้งก่อน โดยเฉพาะตัวบทกฎหมายที่ยังสืบทอดมาจากสมัยอยุธยา ภายหลังพระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช พระนามว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท อันเป็นจุดเริ่มต้นของวังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
(Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (2) ภ002 หวญ 3/1)
หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต รัชกาลที่ 1 พระราชทานอุปราชาภิเษกแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2352 กรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้รับราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ภายหลังได้รับเฉลิมพระนามเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้อุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งพระมหาอุปราชสืบแทนในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2352 ไปประทับที่วังหน้า โดยไม่มีการสร้างสิ่งใดเพิ่มเติม
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นพระมหาอุปราชมีพระนามว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. 2367 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เฉลิมพระนามว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 นี่เองที่มีการเพิ่มสิ่งปลูกสร้างที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน อาทิ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้า อันเป็นวัดประจำกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
วัดพระแก้ววังหน้า
(Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ.รฟท.9/10)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับ ‘วังหน้า’ อย่างมีนัยสำคัญ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 เมื่อมีพระชนมายุได้ 43 พรรษา ทรงพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สองของแผ่นดินสยามในขณะนั้น มีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระอิสริยยศที่สูงกว่า ‘วังหน้า’ พระองค์ใดทั้งหมด
ในด้านสิ่งปลูกสร้าง รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระที่นั่งคชกรรมประเวศ บริเวณหน้ามุขพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ มีลักษณะคล้ายพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทภายในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระที่นั่งที่สร้างโดยเครื่องไม้มีเกยสำหรับขึ้นทรงช้าง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ 5M00030)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้า คือ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ แต่ไม่มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ เพิ่มเติม และเมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคตในปี พ.ศ. 2428 รัชกาลที่ 5 ทรงมิได้สถาปนาเจ้านายพระองค์ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นอีก โดยในปี พ.ศ. 2430 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑ์สถาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม หรือหอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง ไปไว้ที่พระราชวังบวรสถานมงคลเฉพาะด้านหน้า 3 องค์ คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรียกว่า ‘พิพิธภัณฑ์วังหน้า’ ก่อนที่ภายหลังจะมีการประกาศยกเลิกตำแหน่งพระอุปราชแล้วสถาปนาตำแหน่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฎราชกุมาร ผู้เป็นรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ขึ้นมาแทน อันเป็นการปิดตำนานประวัติศาสตร์ตำแหน่งพระมหาอุปราชลงโดยสิ้นเชิงในทางการเมืองการปกครอง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมดให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น และได้จัดพระที่นั่งศิวโมกขพิมานให้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลาจารึก คัมภีร์ ใบลาน สมุดไทย ตำราโบราณ เรียกว่าหอสมุดวชิรญาณ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2469 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จึงได้เข้าสังกัดกับกรมศิลปากร และได้ประกาศตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2477
ปัจจุบัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังคงทำหน้าที่สะท้อนประวัติศาสตร์บทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีให้คนรุ่นหลังได้ทำความเข้าใจกับภาพอดีตของวังหน้าที่เคยมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเมืองการปกครองของสยามในกาลก่อน
พระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า
(Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ 41M00026)
โครงการนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยีโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคลผ่านงานสถาปัตยกรรมและการใช้เทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการกับผู้คน กระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่าย นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายน 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม
Cover Photo: พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 45M00016)