×

กพช. ผ่านนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไฟเขียวใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมฯ ปี 2564 วงเงิน 6.5 พันล้าน

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2020
  • LOADING...
กพช. ผ่านนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไฟเขียวใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมฯ ปี 2564 วงเงิน 6.5 พันล้าน

วันนี้ (16 พฤศจิกายน) เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2563 โดยมี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม โดย อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้  

 

กพช.เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 โดยเห็นชอบโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีเป้าหมาย 150 เมกะวัตต์ (ชีวมวล 75 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์) โดยใช้ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย ≤ 25 %) แบ่งเป็นชีวมวล มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ และก๊าซชีวภาพ ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ทั้งนี้ มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาฯ ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) แบบแข่งขันทางด้านราคา โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอโครงการ สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์ อาทิ การให้หุ้นบุริมสิทธิ ร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า การให้ผลประโยชน์อื่นๆ ให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข สาธารณูปโภค การศึกษา เป็นต้น 

 

พร้อมกันนี้ กพช.เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2564 ในวงเงิน 6.5 พันล้านบาท ตามมติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญ และการจัดสรรเงินตามกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน กรอบวงเงิน 6,305 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 200 ล้านบาท 2. กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน จำนวน 500 ล้านบาท 3. กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ จำนวน 355 ล้านบาท 4. กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูลข่าวสาร จำนวน 200 ล้านบาท 5. กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร จำนวน 450 ล้านบาท 6. กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SMEs) อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ จำนวน 2.2 พันล้านบาท 7. กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 2.4 พันล้านบาท และแผนบริหารจัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) จำนวน 195 ล้านบาท

 

อนุชากล่าวด้วยว่า ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องกองทุนพลังงาน จะทำอย่างไรให้เกิดความทั่วถึง เป็นธรรม และโปร่งใส และเรื่องการดำเนินการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกร ถ้าสามารถทำโรงไฟฟ้าชุมชนจากชีวมวล ขยะ หรือพลังความร้อน ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนการปลูกพืชของเกษตรกรได้ด้วย การทำนาที่ไม่ได้ผลก็อาจปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชพลังงานทดแทน และทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างอื่นได้ด้วย ทั้งการแก้ปัญหาด้านรายได้ การแก้ปัญหาการเผาวัสดุจากการเกษตร จะได้ส่งผลให้ลดการเกิด PM2.5 ได้ ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยวันนี้มีการจัดทำแผนแม่บทแล้ว

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำในที่ประชุมให้หาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าในรถจักรยานยนต์รับจ้าง เช่น GrabBike และอื่น ๆ หรือแท็กซี่ที่ยังมีราคาสูงอยู่ โดยต้องหามาตรการที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้กำลังมีการเจรจาเพื่อจะดึงบริษัทใหม่ๆ เกี่ยวกับยานยนต์สมัยใหม่ให้เข้ามาในประเทศไทย โดยในเรื่องนี้ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งแผนงานระยะสั้น ระยะปานกลาง 3 ปี ระยะยาว 5 ปีขึ้นไป การจะเปลี่ยนแปลงทันทีเลยนั้นคงไม่สามารถทำได้ เพราะจะเกิดผลกระทบมาก

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising