ที่ประชุมภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 มีนาคม มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดทำแนวปฏิบัติกลางสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลในกรณีเกิดเหตุการณ์สำคัญของชาติ ผ่านระบบโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง
ล่าสุด (1 เมษายน) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แนวทางดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าสถานีโทรทัศน์และวิทยุบางแห่งยังไม่มีแนวทางการตัดเข้าสู่การถ่ายทอดสดที่ชัดเจน ส่งผลให้การสื่อสารในช่วงวิกฤตขาดความต่อเนื่อง
ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาราชการแทนเลขาธิการ กสทช. รายงานผลการประชุมร่วมกับสถานีโทรทัศน์ทุกช่องและสถานีโทรทัศน์ NBT ว่า ได้ข้อสรุปแนวปฏิบัติเบื้องต้น 3 ระดับ ดังนี้
1. เหตุรุนแรงระดับชาติ
หากเกิดเหตุภัยพิบัติรุนแรง หรือสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ ที่ต้องมีการแถลงการณ์โดยนายกรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ให้ทุกสถานีตัดเข้าสัญญาณถ่ายทอดสดจากสถานีแม่ข่ายทันทีเมื่อมีการขึ้นเพจแจ้งว่า “โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.)”
2. เหตุการณ์สำคัญที่รุนแรงลดระดับลง
หากยังคงมีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตาม นายกรัฐมนตรีสามารถแถลงเพิ่มเติม โดยสถานีต่าง ๆ ต้องเชื่อมโยงสัญญาณสดพร้อมกันเมื่อมีเพจขึ้นว่า “นายกรัฐมนตรีแถลงการณ์” ทั้งนี้ จะมีการแจ้งเวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10–15 นาที เว้นแต่เป็นเหตุเร่งด่วน
3. การแถลงของหน่วยงานรัฐอื่น
สำหรับการแถลงข่าวโดยรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือหน่วยงานภาครัฐ จะออกอากาศผ่านสถานี NBT เป็นหลัก ส่วนสถานีอื่นสามารถนำเนื้อหาไปใช้ต่อได้ตามความเหมาะสม เมื่อมีการขึ้นเพจว่า “สำนักนายกรัฐมนตรี” โดยการแถลงควรใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที และสื่อสารให้กระชับ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้ทราบถึงแนวทางที่ กสทช. เสนอดังกล่าว และเห็นชอบให้ถือเป็นแนวปฏิบัติสำหรับทุกหน่วยงานในการรับมือกับเหตุการณ์สำคัญของประเทศ ทั้งในภาวะวิกฤตและเหตุการณ์ทั่วไปที่ต้องการแจ้งเตือนประชาชนอย่างเป็นระบบ