×

ณัฐชาจี้ถามอนุพงษ์ ปมส่อทุจริตถนนพาราซอยล์ ต้องเอาคนผิดมาลงโทษ หลังราคายางไม่ดีขึ้น แต่เงินในกระเป๋าข้าราชการระดับสูงเพิ่ม

โดย THE STANDARD TEAM
16.02.2023
  • LOADING...
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์

วันนี้ (15 กุมภาพันธ์) ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีทุจริต ‘โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร’ หรือถนนพาราซอยล์ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เมื่อปี 2562

 

ณัฐชากล่าวว่า นโยบายนี้มีมาตั้งแต่ปี 2560 สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ จัดทำโครงการเพื่อทำถนนผสมยางพารา มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ โดยตั้งเป้าให้ อปท. ทำถนนให้ได้ 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการทำโครงการคือราคายางไม่ได้ดีขึ้น สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือยอดเงินในกระเป๋าของข้าราชการระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย

 

ณัฐชากล่าวต่อไปว่า โครงการนี้ไม่ใช่แค่การไปซื้อยางพาราจากประชาชนมาถมถนน แต่เป็นการนำน้ำยางพาราไปผสมกับสารเคมีเพื่อให้เกิดเป็นวัสดุสำหรับทำถนน ซึ่งการผสมสารนี้เองที่มีความไม่ชอบมาพากล ในช่วงแรกมีบริษัทอยู่แค่ 3 เจ้าเท่านั้น ที่ได้รับการรับรองจาก กยท. ว่าสามารถใช้ผสมทำถนนได้ ต่อมาทั้ง 3 เจ้าถูกแฉว่าอาจเป็นเจ้าของเดียวกันทั้งหมด แค่แยกร่างออกมาให้ดูเหมือนมีการแข่งขันกัน แต่เรื่องนี้นอกจากการผูกขาด ยังมีเหตุการณ์เชื่อมโยงกับข้าราชการระดับสูง เกี่ยวข้องกับงบประมาณราว 1,000 ล้านบาท ในช่วงระหว่างมีโครงการ

 

โดยตัวละครสำคัญในเรื่องนี้มี 3 คน คนแรกคือ ‘พ’ เป็นรองปลัดเทศบาลในจังหวัดอำนาจเจริญ คนที่สองคือ ‘ช’ สามีของ ‘พ’ เป็นกรรมการบริษัทค้าสารน้ำยาง คนที่สามคือ ‘ป’ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่เป็นเพื่อนสนิทของ 2 คนแรกอีกที โดยทั้ง 3 คนมีการพูดคุยกันว่าการทำโครงการนี้มีค่าน้ำร้อนน้ำชา 15% ของมูลค่าโครงการ แบ่งเป็น 5% เป็นค่าดำเนินงาน อีก 10% ส่งให้ ‘นาย’

 

ณัฐชาอภิปรายพร้อมแสดงหลักฐานเป็นแชตไลน์ระหว่าง ‘พ’ กับบุคคลที่ใช้ชื่อว่า ‘อสถ’ ระบุว่ากรณีโครงการเกิน 10 ล้านบาท เป็นอำนาจอนุมัติของสำนักงบประมาณ แต่หากไม่เกิน 10 ล้านบาท เป็นอำนาจของ ‘อสถ’ ต่อมาปรากฏว่ามีการโอนเปลี่ยนแปลงโครงการเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ พบว่าผู้รับเหมา ‘ป’ ได้รับโครงการใน 7 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 55 โครงการ เป็นเงิน 394 ล้านบาท ทุกโครงการมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท เป็นอำนาจอนุมัติโดย ‘อสถ’ ทั้งหมด

 

ณัฐชากล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้เป็นการเอื้อประโยชน์กันระหว่างผู้รับเหมากับข้าราชการประจำและข้าราชการระดับสูง สั่งกันมาเป็นทอดๆ ฮั้วและแบ่งเงินกัน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการตรวจสอบกันเองแล้วภายในกระทรวงมหาดไทย ผลออกมาเป็นหนังสือกระทรวงมหาดไทยลงนามโดยรองปลัดกระทรวงฯ ขณะนั้น ระบุว่า ‘พ’ ผิดวินัยร้ายแรง ส่วน ‘อสถ’ ในขณะนั้นกลับไม่ผิด โดยต่อมา ‘พ’ ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดเทศบาลเมืองที่จังหวัดสมุทรปราการ ส่วน ‘อสถ’ ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย

 

“นี่คือความไม่ชอบมาพากล แต่ละคนที่แต่งตั้ง ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับบริหาร การบริหารราชการแผ่นดินในยุค 3 ป. ลงโทษกันแบบนี้หรือ จึงต้องถาม 4 ข้อว่า หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรู้เห็นเป็นใจกับการทุจริตครั้งนี้หรือไหม สอง ทราบข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหมดนี้หรือไม่ สาม กระบวนการลงโทษทางวินัยของกระทรวงมหาดไทยมีแต่การเลื่อนตำแหน่งใช่หรือไม่ และสี่ คนมีประวัติด่างพร้อย มีมลทินมัวหมองขนาดนี้ สมควรเป็นปลัดกระทรวงต่อไปในยุครัฐบาล 3 ป. ใช่หรือไม่” ณัฐชากล่าว

 

ณัฐชากล่าวอีกว่า กระบวนการตรวจสอบภายในของกระทรวงมหาดไทยนำพาความเคลือบแคลงสงสัย ท่านมักอ้างเข้ามาปราบโกง ถ้าเหตุการณ์ทั้งหมด พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้มีส่วนรู้เห็น ด้วยพยานหลักฐานวันนี้ ต้องมีกระบวนการนำคนผิดมาลงโทษ ปลดผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตามหลักฐาน เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising