ยาน Voyager 1 สามารถติดต่อกับโลกจากสุดขอบระบบสุริยะได้ตามปกติอีกครั้ง หลังประสบปัญหาในการรับ-ส่งข้อมูลผ่านคลื่นความถี่ปกติตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024
ทีมวิศวกรของ NASA ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายานอวกาศที่อยู่ห่างจากโลก 24,900 ล้านกิโลเมตรได้อีกครั้ง หลังจากที่จานรับส่งสัญญาณวิทยุในคลื่นความถี่ X-Band ถูกสั่งปิดระหว่างที่ Voyager 1 ถูกส่งเข้าสู่โหมดป้องกันข้อผิดพลาด หลังมีการส่งคำสั่งไปเปิดหนึ่งในฮีตเตอร์บนยานตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
เนื่องจากยาน Voyager 1 มีพลังงานไฟฟ้าอยู่ค่อนข้างจำกัด หลังปฏิบัติภารกิจมานานกว่า 47 ปี ทำให้หากมีการใช้พลังงานมากเกินไปในช่วงเวลาใดก็ตาม ระบบป้องกันข้อผิดพลาดจะสั่งยุติการทำงานของระบบไม่จำเป็น เพื่อบริหารจัดการพลังงานให้กับระบบที่จำเป็นสำหรับภารกิจที่สุด ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์สำรวจทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน
สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ยาน Voyager 1 สั่งปิดระบบที่ไม่จำเป็นไปครบหมดแล้ว ทำให้ระบบป้องกันข้อผิดพลาดตัดสินใจสั่งยุติการทำงานของจานรับส่งสัญญาณในความถี่ X-Band ที่ใช้พลังงานมากกว่าความถี่ S-Band ซึ่งไม่เคยถูกใช้เพื่อส่งข้อมูลกลับโลกมาตั้งแต่ปี 1981 เนื่องจากมีกำลังที่อ่อนกว่า และมีความกังวลว่าข้อมูลจากยานอาจส่งมาไม่ถึงโลก
อย่างไรก็ตาม ทีมวิศวกรของเครือข่ายสัญญาณอวกาศลึกสามารถตรวจพบสัญญาณจากยาน Voyager 1 ได้สำเร็จ ทำให้ทีมภารกิจของยานเริ่มกระบวนการแก้ไขปัญหาและพยายามกู้คืนการรับส่งสัญญาณผ่านความถี่ X-Band อีกครั้ง ก่อนประสบความสำเร็จเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ในตอนนี้ทีมวิศวกรบนโลกสามารถรับข้อมูลเชิงวิศวกรรมและการตรวจวัดจากอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ทั้ง 4 ตัวบนยานได้อีกครั้ง เหลือเพียงขั้นตอนการปรับแก้อีกเล็กน้อย เช่น การรีเซ็ตระบบที่ซิงก์การทำงานของคอมพิวเตอร์ทั้ง 3 ตัวบนยาน Voyager 1 เพื่อให้สามารถกลับไปทำงานได้เต็มรูปแบบเหมือนกับช่วงก่อนเกิดปัญหาขึ้น
ยานอวกาศ Voyager 1 เป็นภารกิจที่เดินทางไปไกลจากโลกที่สุดในปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในสองยานอวกาศที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณห้วงอวกาศระหว่างดาวฤกษ์ หรือ Interstellar Space นอกขอบเขตอิทธิพลลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ พร้อมส่งข้อมูลกลับโลกจากระยะห่างมากกว่า 23 ชั่วโมงแสงจนถึงปัจจุบัน
ภาพ: NASA / JPL
อ้างอิง:
- https://blogs.nasa.gov/voyager/2024/11/26/nasas-voyager-1-resumes-regular-operations-after-communications-pause/
- https://science.nasa.gov/mission/voyager/where-are-voyager-1-and-voyager-2-now/