×

ทำไม NASA ต้องส่งยานไปเก็บหินจากดาวเคราะห์น้อยกลับโลก?

26.09.2023
  • LOADING...

เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน เวลา 21.52 น. แคปซูลจากยานสำรวจ OSIRIS-REx ที่บรรจุตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู ได้กลับมาลงจอดบนโลกอย่างปลอดภัย ปิดฉากภารกิจชุดแรกที่กินเวลานานกว่า 7 ปีลงด้วยความสำเร็จ

 

ตัวอย่างหินปริมาณรวม 250 กรัม ถือเป็นการเก็บหินจากดาวดวงอื่นกลับโลกในปริมาณมากที่สุด เป็นรองเพียงแค่การเดินทางไปเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ของนักบินอวกาศจาก 6 ภารกิจของโครงการอพอลโลเท่านั้น โดยเป็นครั้งแรกของ NASA ที่สามารถนำหินจากดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลกได้

 

ดร.สเตฟานี เกตตี ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจระบบสุริยะ ณ ศูนย์อวกาศก็อดดาร์ดของ NASA ได้เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า “เบนนูเป็นดาวเคราะห์น้อยประเภทคาร์บอนที่ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของระบบสุริยะ หรือประมาณ 4,500 ล้านปีที่แล้ว ทำให้เราเชื่อว่าตัวอย่างหินชุดนี้จะช่วยไขคำตอบการก่อกำเนิดของระบบสุริยะได้”

 

ปัจจุบันโลกมีอุกกาบาตที่มาจากวัตถุต่างๆ ทั่วระบบสุริยะ รวมถึงดาวเคราะห์น้อยประเภทคาร์บอน แต่ ดร.เกตตี ระบุว่า “การเก็บตัวอย่างที่สดใหม่จากพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย และนำมันเดินทางกลับโลกโดยไม่ปนเปื้อนกับบรรยากาศภายนอก ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญยิ่งกับภารกิจนี้” โดยเมื่อแคปซูลลงจอดกลางทะเลทรายในรัฐยูทาห์แล้ว ได้มีทีมเก็บกู้แคปซูลเคลื่อนย้ายกลับมาในห้องปลอดเชื้อชั่วคราว ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับตัวอย่างหินชุดนี้โดยเฉพาะ

 

แม้ขณะลงจอดตัวอย่างหินจะถูกเก็บรักษาอุณหภูมิไว้อย่างดี ขณะที่ภายนอกของแผ่นกันความร้อนต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงกว่า 5,000 องศาเซลเซียส และแรง 32 G ระหว่างผ่านชั้นบรรยากาศมาลงจอดบนพื้นโลก แต่ทีมภารกิจยังได้ใช้ก๊าซไนโตรเจน ซึ่งแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับสารเคมีอื่น มาช่วยรักษาความสะอาดของแคปซูลเก็บตัวอย่าง ระหว่างรอนำส่งไปยังห้องปลอดเชื้อที่ศูนย์อวกาศจอห์นสัน เพื่อคัดสรรตัวอย่างและแจกจ่ายให้กับห้องทดลองต่างๆ ทั่วโลกเป็นลำดับถัดไป

 

นอกจากการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจต้นกำเนิดของระบบสุริยะ ตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูอาจช่วยไขคำตอบถึงต้นกำเนิดของสารอินทรีย์และน้ำที่พบได้มากบนดาวเคราะห์ประเภทนี้ว่าเป็นต้นกำเนิดให้กับชีวิตบนโลกได้หรือไม่ รวมทั้งสามารถนำข้อมูลไปใช้ปรับปรุงแผนการพิทักษ์โลก เพราะเบนนูถูกจัดเป็นหนึ่งในดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตรายกับโลก จากทั้งการโคจรในระยะใกล้และจะมีการเฉียดใกล้โลกในอนาคตข้างหน้า

 

ทั้งนี้ การลงจอดของแคปซูลหินจากดาวเบนนู ถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจของ OSIRIS-REx ที่ย่อมาจาก Origins, Spectral Interpretation, Resource Identification and Security-Regolith Explorer อย่างเป็นทางการ แต่ยานสำรวจที่อยู่ในอวกาศนั้นยังคงมุ่งหน้าออกไปปฏิบัติภารกิจถัดไป ภายใต้ชื่อใหม่ว่า OSIRIS-APEX หรือเปลี่ยนด้านหลังเป็น Apophis Explorer อันหมายถึงการสำรวจดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส

 

ดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ของยานลำนี้มีขนาดราว 330 เมตร และเคยเป็นข่าวดังจากการมีโอกาสพุ่งชนโลก 2.7% ในวันที่ 13 เมษายน 2029 อย่างไรก็ตาม การศึกษาเพิ่มเติมได้ยืนยันแล้วว่าดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะไม่พุ่งชนโลก แต่จะเข้ามาบินผ่านที่ระยะ 31,600 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าใกล้มากๆ สำหรับดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่านี้ และผู้คนบนโลกอาจมองเห็นมันเคลื่อนผ่านบนท้องฟ้าด้วยตาเปล่าได้ด้วย

 

OSIRIS-APEX จะเดินทางกลับสู่อวกาศลึก เพื่อปรับวงโคจรมาสำรวจอะโพฟิสในช่วงที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มาเฉียดใกล้โลกพอดี โดยจะศึกษาคาบการโคจร อัตราการหมุน และองค์ประกอบบนพื้นผิวแบบละเอียด เพื่อทำความเข้าใจดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับแผนการพิทักษ์โลกในอนาคตข้างหน้าได้

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยานได้ส่งแคปซูลบรรจุตัวอย่างหินกลับโลกมาแล้ว OSIRIS-APEX จะไม่มีการลงเก็บหินจากดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส แต่กระนั้นยานจะลงไปบินแตะพื้นผิว และใช้ระบบขับดันเตะฝุ่นหินขึ้นมา เพื่อให้อุปกรณ์บนยานสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ เช่นกันกับมีโอกาสที่โลกจะส่งยานสำรวจเพิ่มเติมไปศึกษาในช่วงใกล้เคียงกับการเฉียดใกล้

 

การลงจอดของ OSIRIS-REx ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูกาลสำรวจดาวเคราะห์น้อยของ NASA โดยในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ NASA เตรียมส่งยาน Psyche เดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยไซคี ซึ่งเป็นภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยประเภทโลหะครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตามด้วยการบินผ่านดาวเคราะห์น้อยดินคิเนช (Dinkinesh) ของยาน Lucy ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2023 นับเป็นเป้าหมายแรกของยาน ก่อนเดินทางไปยังกลุ่มดาวเคราะห์น้อยโทรจันในวงโคจรเดียวกับดาวพฤหัสบดี

 

ดันเต ลอเรตตา หัวหน้าทีมวิจัยของภารกิจ OSIRIS-REx เปิดเผยว่า “วันนี้นับเป็นหมุดหมายอันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แค่กับทีมภารกิจ OSIRIS-REx แต่กับวงการวิทยาศาสตร์ทั้งหมด การนำตัวอย่างหินจากดาวเบนนูกลับมาถึงโลก แสดงให้เห็นว่าเราสามารถทำอะไรได้เมื่อร่วมแรงร่วมใจกัน

 

“แม้จะเป็นบทสรุปของภารกิจอันยิ่งใหญ่ แต่อย่าลืมว่านี่ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของบทถัดไปเท่านั้น เพราะตอนนี้เรามีโอกาสที่จะศึกษาตัวอย่างหินเหล่านี้ และไขปริศนาย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของระบบสุริยะได้เลย” ลอเรตตากล่าวปิดท้าย

 

ภาพ: NASA 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising