NASA กลับมาสื่อสารกับยาน Voyager 1 ได้อีกครั้ง หลังประสบปัญหาในการรับ-ส่งสัญญาณกับยานอวกาศที่อยู่ไกลโลกที่สุดในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ทีมภารกิจของ Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL พบว่ายาน Voyager 1 เข้าสู่โหมดป้องกันข้อผิดพลาด หลังมีการส่งคำสั่งไปเปิดหนึ่งในฮีตเตอร์บนยานเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
โดยปกติ Voyager 1 จะส่งข้อมูลกลับโลกผ่านคลื่นวิทยุในความถี่ X-Band ซึ่งใช้เวลาประมาณ 23 ชั่วโมงเพื่อส่งข้อมูลจากระยะห่าง 25,000 ล้านกิโลเมตร เดินทางกลับมาถึงจานรับสัญญาณเครือข่ายสัญญาณอวกาศลึก (DSN) ของ NASA ด้วยความเร็วแสง
เมื่อจานรับสัญญาณ DSN ไม่สามารถตรวจจับสัญญาณจาก Voyager 1 ได้ในวันที่ 18 ตุลาคม ทีมภารกิจจึงสันนิษฐานว่ายานเข้าสู่โหมดป้องกันข้อผิดพลาดที่จำกัดอัตราการส่งข้อมูลกลับโลก และปรับค่าเครือข่ายจานรับข้อมูลบนโลกจนตรวจพบสัญญาณจากยานอวกาศอีกครั้งในวันเดียวกัน
แต่ในวันที่ 19 ตุลาคม ยาน Voyager 1 ยุติการส่งข้อมูลผ่านคลื่นความถี่ X-Band ไปทั้งหมด และสลับไปใช้อุปกรณ์ส่งสัญญาณในความถี่ S-Band แทน ซึ่งไม่ถูกใช้ในการติดต่อกลับโลกมาตั้งแต่ปี 1981 และทีมภารกิจต่างกังวลว่าสัญญาณในความถี่ S-Band อาจไม่สามารถถูกตรวจจับได้จากบนโลก แต่วิศวกรที่เครือข่ายสัญญาณอวกาศลึกตรวจพบสัญญาณจากยานอวกาศลำนี้ได้อีกครั้ง
ในตอนนี้ทีมภารกิจของยาน Voyager 1 ยืนยันได้ว่าอุปกรณ์ส่งสัญญาณในความถี่ S-Band ทำงานได้ และจะเป็นช่องทางติดต่อหลักระหว่างโลกกับยานอวกาศ ระหว่างที่ JPL กำลังรวบรวมข้อมูลว่าทำไมยานถึงเข้าสู่โหมดป้องกันข้อผิดพลาด เพื่อพยายามนำ Voyager 1 กลับมาปฏิบัติงานได้ตามปกติอีกครั้ง
ยานอวกาศ Voyager 1 และยานฝาแฝด Voyager 2 คือสองภารกิจสำรวจอวกาศที่อยู่ไกลจากโลกที่สุด โดยยังปฏิบัติภารกิจจากบริเวณห้วงอวกาศระหว่างดวงดาว พื้นที่นอกขอบเขตอิทธิพลลมสุริยะของดวงอาทิตย์ และใช้อุปกรณ์สำรวจทางวิทยาศาสตร์ส่งข้อมูลกลับโลกมาจนปัจจุบันรวมเป็นเวลานานกว่า 47 ปี นับตั้งแต่ออกเดินทางจากโลกในปี 1977
ภาพ: NASA / JPL
อ้างอิง: