×

NASA เผยผลศึกษา UFO – นานาประเทศมุ่งสู่ดวงจันทร์ – งานไทยไปอวกาศ สรุปไฮไลต์เด่นสำรวจอวกาศปี 2023

22.12.2023
  • LOADING...
NASA

ปี 2023 เป็นอีกปีที่มีกิจกรรมด้านอวกาศเกิดขึ้นในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้นพบใหม่ ภารกิจสำรวจอวกาศ และปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ จากทั้งภาครัฐ เอกชน ไปจนถึงสถาบันการศึกษานานาประเทศ ที่เข้ามามีบทบาทกับเรื่องราวด้านอวกาศอย่างเห็นได้ชัด

 

THE STANDARD ชวนย้อนดูเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงหนึ่งคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์สีครามดวงนี้ กับรายละเอียดการค้นพบ ภารกิจสำรวจ และประเด็นน่าสนใจด้านอวกาศตลอดปี 2023 

 

1. ถนนทุกสายมุ่งสู่ดวงจันทร์

 

 

ปี 2023 มีภารกิจสำรวจอวกาศที่น่าสนใจอยู่หลากหลายภารกิจ แต่หนึ่งในเป้าหมายยอดนิยมจากนานาประเทศคือการส่งยานไปดวงจันทร์ ที่เราได้เห็น ‘Chandrayaan-3’ ของอินเดีย, ‘Luna-25’ ของรัสเซีย รวมถึง ‘Hakuto-R’ และ ‘SLIM’ ของญี่ปุ่น มุ่งหน้าไปลงจอด ณ ดาวบริวารธรรมชาติหนึ่งเดียวของโลก

 

การลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ของ Chandrayaan-3 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2023 ทำให้อินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ในประวัติศาสตร์ ต่อจากสหรัฐอเมริกา โซเวียต และจีน ที่นำยานไปลงจอดบนดวงจันทร์อย่างนุ่มนวลได้สำเร็จ ในขณะที่ Luna-25 ของรัสเซีย กับ Hakuto-R ของญี่ปุ่น ได้สูญเสียการติดต่อกับโลกก่อนจะลงจอดบนพื้นผิว

 

นอกจากยานสำรวจแบบไม่มีมนุษย์ควบคุมแล้ว NASA ยังได้ประกาศชื่อ 4 นักบินอวกาศที่จะเดินทางไปกับ ‘Artemis 2’ ภารกิจเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งของมนุษยชาติ โดยประกอบด้วย รีด ไวส์แมน (Reid Wiseman) เป็นผู้บัญชาการภารกิจ, วิกเตอร์ โกลเวอร์ (Victor Glover) ทำหน้าที่เป็นนักบิน, คริสตินา คอช (Christina Koch) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Payload และ เจเรมี ฮันเซน (Jeremy Hansen) เป็นผู้เชี่ยวชาญภารกิจ โดยมีกำหนดออกเดินทางในช่วงปลายปี 2024 ที่กำลังมาถึง

 

2. Starship ขึ้นบินทดสอบครั้งแรก

 

 

อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของภารกิจสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 20 เมษายน เมื่อบริษัท SpaceX ได้ทดสอบการขึ้นบินของยาน Starship และบูสเตอร์ Super Heavy พร้อมกันเป็นครั้งแรก โดยทำลายสถิติของจรวด N1 ที่ยืนมานานกว่าครึ่งศตวรรษลง กลายเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลก

 

แม้การทดสอบครั้งแรกจะจบลงด้วยความล้มเหลว แต่ SpaceX ยังได้ทดสอบปล่อย Starship ขึ้นบินอีกครั้งในวันที่ 18 พฤศจิกายน โดยรอบนี้ตัวยานเดินทางไปแตะความสูงมากสุดที่ระดับ 148 กิโลเมตรจากพื้นดิน กลายเป็น Starship ลำแรกที่เดินทางเหนือ Kármán Line ไปถึงอวกาศได้สำเร็จ ก่อนถูกสั่งทำลายอย่างปลอดภัย เนื่องจากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นประมาณ 8 นาทีหลังจากขึ้นบิน

 

SpaceX ระบุว่า การทดสอบทั้งสองครั้งประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม พวกเขายังต้องพัฒนาและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆ ในการทดสอบทั้งสองครั้ง โดย Starship ได้ถูกเลือกโดย NASA ให้ทำหน้าที่เป็นยานพานักบินอวกาศของภารกิจ Artemis 3 เดินทางไปลงดวงจันทร์ในช่วงปลายปี 2025 อีกด้วย

 

3. ทำลายสถิติมนุษย์ในอวกาศ

 

 

ปี 2023 มีการทำลายสถิติจำนวนมนุษย์ที่อยู่ในอวกาศพร้อมกันมากที่สุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม โดยในช่วงเวลาหนึ่งมีผู้คนมากถึง 20 คนที่ไม่ได้อยู่บนโลกของเรา ประกอบด้วย

 

  • 7 ลูกเรือในภารกิจ Expedition 69 (สถานีอวกาศนานาชาติ)
  • 4 ลูกเรือในภารกิจ Axiom-2 (สถานีอวกาศนานาชาติ)
  • 3 ลูกเรือในภารกิจ Shenzhou 15 (สถานีอวกาศเทียนกง)
  • 6 นักท่องเที่ยวอวกาศในภารกิจ VSS Unity 25 (บนยาน VSS Unity)

 

นอกจากนี้ ในวันที่ 30 พฤษภาคมยังมีการทำลายสถิติจำนวนมนุษย์ที่อยู่ในวงโคจรพร้อมกันมากที่สุดด้วยจำนวนรวม 17 คน จากการเดินทางขึ้นสู่อวกาศของ 3 ลูกเรือในภารกิจ Shenzhou 16 ที่มุ่งหน้าไปยังสถานีอวกาศเทียนกงของจีนในวันดังกล่าว

 

ในปี 2023 แฟรงก์ รูบิโอ (Frank Rubio) กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่อยู่ในอวกาศนานกว่า 1 ปี โดยใช้เวลาไปทั้งสิ้น 370 วันบนสถานีอวกาศนานาชาติ เช่นเดียวกับ เซอร์เกย์ โปรโคปีเยฟ (Sergey Prokopyev) และ ดมิทรี เปเตลิน (Dmitry Petelin) เพื่อนร่วมภารกิจ Soyuz MS-22 ที่เดินทางกลับโลกเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา

 

4. NASA เปิดรายงาน UFO ฉบับแรก

 

 

กลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA ได้ประกาศจัดงานแถลงข่าวเพื่อเปิดเผยรายงานการศึกษา UAP หรือปรากฏการณ์ลึกลับที่ไม่สามารถระบุได้ และเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่าเป็น UFO เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา

 

รายงานดังกล่าวได้รวบรวมรายละเอียดการพบ UAP ผ่านหลักฐานรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ NASA สามารถศึกษาและวิเคราะห์ UAP ในแง่มุมวิทยาศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงาน 16 คน เมื่อเดือนตุลาคม 2022 เพื่อมาศึกษาและรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด ก่อนเปิดรายงานฉบับเต็มเมื่อเดือนกันยายนของปี 2023

 

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวไม่มีการระบุว่าการพบ UAP นั้นมีต้นกำเนิดมาจากนอกโลก และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข่าวการนำสิ่งที่อ้างว่าเป็น ‘ซากมนุษย์ต่างดาว’ มาเปิดในรัฐสภาเม็กซิโก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ทาง NASA ยังได้แต่งตั้งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย UAP คนแรกเพื่อมาศึกษาที่มาของ UAP เหล่านี้แบบจริงจัง ผ่านแนวทางที่คณะทำงานข้างต้นได้ให้ข้อเสนอแนะ เช่น การใช้ AI และ Machine Learning เข้ามามีส่วนในการตรวจหา UAP รวมถึงเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถรายงานการพบเห็น UAP ได้ เป็นต้น

 

5. นานาภารกิจท่องระบบสุริยะ

 

 

ปี 2023 ยังมีภารกิจการสำรวจระบบสุริยะที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายครั้ง เริ่มจากองค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ส่งยาน JUICE มุ่งหน้าไปสำรวจดวงจันทร์แกนีมีด คัลลิสโต และยูโรปา ของดาวพฤหัสบดี โดยออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีกำหนดเดินทางไปถึงในปี 2031

 

ถัดมา ESA ยังได้ส่งยาน Euclid ไปศึกษาสสารและพลังงานมืดในเอกภพเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ตามด้วยภารกิจ Aditya-L1 ของอินเดีย ที่ทาง ISRO ได้ส่งเพื่อเดินทางไปศึกษาดวงอาทิตย์จากวงโคจรรอบโลกเมื่อวันที่ 2 กันยายน

 

ด้าน NASA ได้มีการส่งยาน Psyche มุ่งหน้าไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย 16 Psyche ซึ่งถือเป็นดาวเคราะห์น้อยแบบโลหะดวงแรกที่จะได้รับการศึกษาในระยะใกล้ โดยออกเดินทางเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม และมีกำหนดเข้าสู่วงโคจรในเดือนสิงหาคม 2029

 

นอกจากภารกิจส่งยานเดินทางไปสำรวจเป้าหมายต่างๆ ในระบบสุริยะแล้ว ปีนี้ยังมีภารกิจ OSIRIS-REx ของ NASA ที่นำตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูกลับมาสู่โลกได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 24 กันยายน ก่อนที่ตัวยานจะมุ่งหน้าออกไปพร้อมภารกิจใหม่ในชื่อ OSIRIS-APEX เพื่อไปศึกษาดาวเคราะห์น้อย 99942 Apophis เป็นลำดับถัดไป

 

ถัดมาในวันที่ 1 พฤศจิกายน ยาน Lucy ของ NASA ได้บินผ่านดาวเคราะห์น้อย 152830 Dinkinesh ระหว่างทางไปศึกษาดาวเคราะห์น้อยกลุ่มโทรจันในวงโคจรเดียวกันกับดาวพฤหัสบดี โดยพบว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีดวงจันทร์บริวารหนึ่งดวงที่โคจรอยู่รอบกันในบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อย

 

6. งานไทยไปสู่ดวงดาว

 

 

นอกจากความสำเร็จของภารกิจการสำรวจอวกาศในระดับโลก ปี 2023 ยังมีการค้นพบที่น่าสนใจ การทดลอง และงานที่เกี่ยวข้องกับด้านอวกาศเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก เช่นกันกับในประเทศไทย

 

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือการส่งดาวเทียม THEOS-2 ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยที่ดาวเทียมกำลังอยู่ในช่วงการปรับค่าคุณภาพของภาพถ่าย ก่อนเริ่มให้บริการข้อมูลอย่างเต็มรูปแบบในช่วงต้นปี 2024

 

นอกจากดาวเทียม THEOS-2 ยังมีดาวเทียม THEOS-2A ที่ทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยได้ร่วมออกแบบและพัฒนา พร้อมกับรับการถ่ายทอดองค์ความรู้กลับมา โดย GISTDA เน้นเป้าหมายการสร้างคนให้มีศักยภาพในการสร้างเทคโนโลยีระดับอวกาศในประเทศไทย ซึ่ง THEOS-2A มีกำหนดออกเดินทางขึ้นสู่วงโคจรในช่วงต้นปี 2024

 

ด้านเยาวชนไทยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนาม CUHAR หรือ Chulalongkorn University High Altitude Research Club ได้ส่งจรวดความเร็วเสียง CURSR-II เข้าร่วมแข่งขันรายการ Spaceport America Cup 2023 พร้อมกับคว้าลำดับที่ 7 ในการแข่งขันประเภท 30,000 ฟุต โดยใช้เชื้อเพลิงประเภท COTS หรือ Commercial Off-The-Shelf เมื่อเดือนกรกฎาคม

 

ถัดมาในช่วงปลายเดือนตุลาคม ทีมกาแล็กติก 4 ตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) คว้ารางวัลอันดับ 3 จากรายการแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge ครั้งที่ 4 เป็นการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee หรือหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในขณะที่ต้นปี 2024 จะมีการส่ง 3 แนวคิดการทดลองของเยาวชนไทยให้กับนักบินอวกาศญี่ปุ่นได้ทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ภายใต้โครงการ Asian Try Zero-G

 

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยไทยที่น่าสนใจ อาทิ การทดสอบ ‘ไข่น้ำ’ ในสภาวะแรงโน้มถ่วงสูง เพื่อดูการตอบสนองของพืชในสภาวะแรงโน้มถ่วง 20 g ที่อาจมีผลต่อการเตรียมความยั่งยืนทางอาหารบนโลก เช่นเดียวกับภารกิจสำรวจอวกาศในอนาคต ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของประเทศไทยที่ได้ไปดำเนินการที่ ESA และเป็นความร่วมมือครั้งแรกของ ESA กับหน่วยงานวิจัยนอกเครือข่ายและสหภาพยุโรป

 

อีกหนึ่งงานวิจัยที่น่าสนใจคือ การศึกษาผลึกเหลว หรือ Liquid Crystal ในสภาวะไร้น้ำหนัก ที่คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังพัฒนาการทดลองเพื่อให้พร้อมส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ โดยถือเป็นการทดลองแรกของไทยที่ได้รับความร่วมมือจาก NASA และจะถูกส่งไปทดลองในห้องแล็บของฝั่งสหรัฐอเมริกาบนสถานีอวกาศนานาชาติในปีหน้า

 

ด้านสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ได้เปิดให้บริการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น เพื่อให้บริการดาราศาสตร์แก่ประชาชนทั่วไป และการศึกษาท้องฟ้าสำหรับนักดาราศาสตร์หรือผู้ที่สนใจ โดยถือเป็นหอดูดาวภูมิภาคแห่งที่ 4 ของ NARIT ต่อจากจังหวัดนครราชสีมา สงขลา และฉะเชิงเทรา

 

จะเห็นได้ว่าตลอดทั้งปี 2023 มีเรื่องราวอวกาศที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย และในปี 2024 ที่กำลังมาถึง จะมีสิ่งที่น่าติดตาม ปรากฏการณ์น่ารับชม รวมถึงภารกิจสำรวจอวกาศครั้งสำคัญ ซึ่งถูกวางแผนไว้ให้เกิดขึ้นในปีที่กำลังมาถึง

 

รอติดตามเรื่องราวอวกาศในปี 2024 ที่น่าติดตามได้ทาง THE STANDARD

 

ภาพ: Pallava Bagla / SpaceX / Handout / Anadolu Agency / Win McNamee / Paul Hennessy / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X