ภายในเดือนกันยายน 2024 ลองมองไปยังกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ หรือ Corona Borealis เพราะคุณอาจได้เห็นปรากฏการณ์นวดารา หรือโนวา T Coronae Borealis (T CrB) จากการปะทุของดาวแคระขาวในระบบดาวคู่กับดาวยักษ์แดง ราวกับมีดาวดวงใหม่กำเนิดขึ้น ที่มีความสว่างเทียบเท่ากับดาวเหนือบนท้องฟ้ายามค่ำคืน
สำหรับโนวา T CrB เป็นโนวาที่เกิดขึ้นซ้ำ มีคาบการปะทุในช่วงประมาณ 80 ปี โดยเคยเกิดการปะทุมาแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 1946 และพฤษภาคม 1866 ทำให้หากพลาดโอกาสในครั้งนี้ไปจะต้องรอถึงช่วงปี 2100 กว่าจะสังเกตได้อีกครั้ง
นั่นคือคาบการเกิดของปรากฏการณ์ดังกล่าวกินระยะเวลายาวนานกว่าคาบการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (76 ปี) เสียอีก และอาจเป็นโอกาสเพียงหนึ่งครั้งในช่วงชีวิตของใครหลายคนที่ได้สังเกตเห็นด้วยตนเองในปีนี้
โนวา หรือ ‘นวดารา’ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบดาวคู่ ประกอบด้วยดาวแคระขาว ซากที่หลงเหลือจากดาวฤกษ์สิ้นอายุขัย ที่มีขนาดเล็กกว่าดาวยักษ์แดงอีกดวง ทั้งสองโคจรระหว่างกันอย่างใกล้ชิด จนดาวยักษ์แดงเริ่มปลดปล่อยมวลสารชั้นนอกออกมา ซึ่งถูกแรงโน้มถ่วงมหาศาลของดาวแคระขาวดึงดูดมาสะสมไว้บนพื้นผิว
เมื่อมีการรวมมวลสารมากถึงจุดหนึ่ง จะเกิดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ขึ้น ทำให้ความสว่างปรากฏของ T CrB เพิ่มขึ้นจาก +10 ที่ไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่า ขึ้นมาอยู่ระดับความสว่าง +2 กลายเป็นจุดสว่างใหม่เทียบเคียงดาวเหนือ และจะเห็นได้ด้วยสายตามนุษย์บนท้องฟ้ายามค่ำคืนไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนจะกลับไปที่ความสว่างราว +10 อีกครั้ง จนกว่าจะถึงคาบการรวมมวลสารได้มากพอในอีก 80 ปีข้างหน้า
แม้การปะทุของมวลสารอันรุนแรงนี้อาจดูอันตรายต่อวัตถุหรือดาวเคราะห์ที่อาจมีอยู่ใกล้ แต่เนื่องจากโลกและระบบสุริยะอยู่ห่างจากระบบดาวดังกล่าวไปประมาณ 3,000 ปีแสง เป็นระยะปลอดภัยที่จะรับชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เพียงหนึ่งครั้งในช่วงชีวิตนี้
T CrB เป็นเพียง 1 ใน 5 โนวาแบบเกิดขึ้นซ้ำในทางช้างเผือก และนักดาราศาสตร์คาดการณ์ช่วงเวลาที่โลกสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2024 โดยปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าโนวาดังกล่าวได้เกิดการปะทุไปแล้ว
ภาพ: NASA’s Goddard Space Flight Center
อ้างอิง: