ยาน Voyager 1 ที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่สุดขอบระบบสุริยะ กลับมาตอบสนองต่อคำสั่ง ‘สะกิด’ จากทีมภารกิจภาคพื้นโลกอีกครั้ง หลังประสบปัญหากับระบบคอมพิวเตอร์บนยานตั้งแต่ปลายปี 2023
ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับ 1 ใน 3 ของคอมพิวเตอร์บนยาน หรือระบบ Flight Data System ที่เก็บข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์จากอุปกรณ์สำรวจต่างๆ เช่นเดียวกับข้อมูลด้านสุขภาพของยาน ก่อนส่งไปให้อุปกรณ์ Telemetry Modulation Unit แปลงสัญญาณข้อมูลทั้งหมดเพื่อส่งกลับมาโลกในรูปของรหัสไบนารี ผ่านเครือข่ายจานรับสัญญาณ Deep Space Network ของ NASA
แม้ยาน Voyager 1 ยังรับส่งข้อมูลกับโลกได้สม่ำเสมอตามกำหนดที่วางไว้ แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 ทำให้ข้อมูลที่ได้รับเป็นรูปแบบของเลข 0 กับ 1 แบบซ้ำกัน ไม่สามารถแปลงเป็นข้อมูลที่ทีมภารกิจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
NASA พยายามเสาะหาวิธีแก้ปัญหามาโดยตลอด จนกระทั่งในวันที่ 1 มีนาคม พวกเขาส่งคำสั่งไป ‘สะกิด’ ระบบ Flight Data System ให้ลองเปลี่ยนลำดับการส่งข้อมูลกลับโลก โดยจากระยะห่างประมาณ 24,000 ล้านกิโลเมตร ทำให้สัญญาณต้องใช้เวลานานกว่า 22.5 ชั่วโมงเพื่อเดินทางไปถึงยาน (ด้วยความเร็วแสง) และต้องรอคอยในช่วงเวลาที่ยาวนานเท่ากันกว่าการตอบสนองของ Voyager 1 จะเดินทางมาถึงโลกในวันที่ 3 มีนาคม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม วิศวกรประจำเครือข่ายจานรับสัญญาณ Deep Space Network ถอดรหัสสัญญาณจากข้อมูลที่ได้รับ ก่อนพบว่าสัญญาณจาก Voyager 1 ชุดล่าสุด ประกอบด้วยข้อมูลที่มาจากระบบความจำบนคอมพิวเตอร์ของยาน ที่รวมถึงข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ทำให้ทีมภารกิจของโครงการ Voyager กำลังศึกษาชุดข้อมูลดังกล่าว ก่อนนำไปเทียบกับข้อมูลที่ได้รับในช่วงก่อนเจอปัญหา ด้วยความหวังว่าพวกเขาอาจหาต้นตอที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์รวนได้
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้รับในครั้งนี้ยังไม่ใช่ชุดข้อมูลปกติที่ยาน Voyager 1 ส่งกลับโลก แต่ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญในการพยายามแก้ปัญหายานอวกาศที่มีอายุมากกว่า 46 ปี และยังคงเดินทางออกจากระบบสุริยะด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 16 กิโลเมตรต่อวินาทีโดยไม่มีวันหวนกลับมา หรือไม่มีใครสามารถเดินทางไปถึงได้ ด้วยเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน
Voyager 1 เป็นยานฝาแฝดกับยานอวกาศ Voyager 2 ทั้งสองลำออกเดินทางจากโลกในปี 1977 และเป็นสองยานอวกาศที่เดินทางออกไปไกลจากโลกที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยทั้งคู่กำลังอยู่ในบริเวณ ‘ที่ว่างระหว่างดวงดาว’ หรือ Interstellar Space ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่นอกขอบเขตอิทธิพลของลมสุริยะ ก่อนค่อยๆ เดินทางออกจากระบบสุริยะไปตลอดกาล
ภาพ: NASA / JPL
อ้างอิง: