×

NASA เผยภาพสองกาแล็กซีกำลังชนกัน พร้อมรายละเอียดคมชัดจากกล้องเจมส์ เว็บบ์

20.09.2024
  • LOADING...

NASA เผยภาพสองกาแล็กซีที่กำลังควบรวมกัน พร้อมรายละเอียดสุดคมชัดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์

 

วัตถุดังกล่าวมีชื่อว่า ‘Arp 107’ อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 465 ล้านปีแสง ประกอบด้วยกาแล็กซีทรงรี PGC 32628 (ทางซ้ายของภาพ) และกาแล็กซีชนิดก้นหอย PGC 32620 (ขวา) ที่พุ่งชนกันเมื่อหลายร้อยล้านปีที่แล้ว และอยู่ในกระบวนการควบรวมกันอยู่ในปัจจุบัน

 

อุปกรณ์ NIRCam ของกล้องเจมส์ เว็บบ์ ที่บันทึกภาพในช่วงอินฟราเรดใกล้ เผยรายละเอียดของดาวฤกษ์และฝุ่นก๊าซที่เชื่อมโยงกาแล็กซีทั้งสองไว้ ขณะที่ข้อมูลจากอุปกรณ์ MIRI ซึ่งสำรวจในช่วงอินฟราเรดกลาง ได้บันทึกรายละเอียดของบริเวณกำเนิดดาวฤกษ์ เช่นเดียวกับการตรวจพบฝุ่นของกลุ่มสารประกอบประเภทโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ในวัตถุ Arp 107

 

ก่อนหน้านี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ของ NASA เคยถ่ายภาพช่วงคลื่นอินฟราเรดของวัตถุดังกล่าวในปี 2005 แต่ภาพถ่ายและข้อมูลจากกล้องเจมส์ เว็บบ์ สามารถเผยให้เห็นรายละเอียดได้มากกว่าเดิมจากการรวมข้อมูลของอุปกรณ์ NIRCam และ MIRI ก่อนเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา

 

การควบรวมกันของกาแล็กซีทั้งสองช่วยให้ฝุ่นก๊าซจากดาราจักรทั้งสองเกิดการบีบอัดรวมกัน เพิ่มโอกาสและสภาพแวดล้อมให้ดาวฤกษ์ถือกำเนิดขึ้นมาได้ แต่ในเวลาเดียวกัน การควบรวมกันสามารถทำให้ฝุ่นก๊าซกระเจิงออกอย่างปั่นป่วน และลดโอกาสการก่อตัวของดาวฤกษ์ดวงใหม่ๆ จากการค้นพบล่าสุดโดยข้อมูลของกล้องเจมส์ เว็บบ์

 

การควบรวม หรือการชนกันของกาแล็กซีสองแห่งหรืออาจมีมากกว่านั้น เป็นกระบวนการที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป โดยกาแล็กซีทางช้างเผือกที่โลกเป็นส่วนหนึ่งกับกาแล็กซีเพื่อนบ้านอย่างแอนโดรเมดา กำลังมุ่งหน้าเข้าหากันด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อวินาที และอาจควบรวมกันในอีกประมาณ 4,500 ล้านปีจากนี้

 

ภาพ: NASA / ESA / CSA / STScI

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising