วานนี้ (19 ตุลาคม) NASA ได้ปล่อยภาพ ‘เสาแห่งการก่อกำเนิด’ (Pillars of Creation) เวอร์ชันล่าสุดที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ซึ่งเผยให้เห็นรายละเอียดที่คมชัดมากกว่าเดิมหลายเท่า เมื่อเทียบกับภาพแรกอันโด่งดังที่ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อปี 1995
โดยภาพเสาแห่งการก่อกำเนิดนี้ เป็นภาพกลุ่มแก๊สและกลุ่มฝุ่นขนาดมหึมาที่ลอยอยู่ระหว่างดวงดาวระยิบระยับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนบิวลานกอินทรี (Eagle Nebula) ที่อยู่ห่างจากโลกของเราออกไปราว 6,500 ปีแสง เป็นพื้นที่ก่อกำเนิดของดาวฤกษ์มากมาย โดยเสาที่เห็นในภาพนี้มีความสูงประมาณ 4-5 ปีแสง และด้วยรายละเอียดที่มีความคมชัดสูงนี้ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาการก่อกำเนิดของดวงดาวในเนบิวลาได้
เจมส์ เว็บบ์ เป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกันโดย NASA, ESA และองค์การอวกาศแคนาดา (CSA) โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2021
นับตั้งแต่ที่ได้ปล่อยภาพอวกาศห้วงลึกชุดแรกออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 เจมส์ เว็บบ์ ก็ได้เดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปล่อยภาพสุดคมชัดของดาวอีกหลายดวง และได้เปิดเผยข้อมูลมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต่างตั้งความหวังว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดนี้จะช่วยเปิดศักราชใหม่แห่งการค้นพบ
ภาพ: NASA, ESA, CSA, STScI
อ้างอิง: