วันที่ 4 สิงหาคม NASA ได้รับสัญญาณและข้อมูลจากยาน Voyager 2 ที่อยู่ห่าง 19,900 ล้านกิโลเมตรจากโลก หลังเกิดปัญหาจานรับส่งสัญญาณหันเบี่ยงโลกไป 2 องศา เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ภารกิจอายุ 45 ปี ที่กำลังเดินทางอยู่ในช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์ เช่นเดียวกับยานฝาแฝดอย่าง Voyager 1 ขาดการติดต่อกับโลกไปตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม หลังจากการส่งคำสั่งที่ผิดพลาดจนทำให้จานรับสัญญาณหันหลบโลกไป 2 องศา โดยตามเดิมทีมภารกิจคาดการณ์ว่าอาจต้องรอถึงเดือนตุลาคม เพื่อให้ระบบยานรีเซ็ตตำแหน่งตัวเองอีกครั้ง และหมุนให้จานรับส่งสัญญาณหันมาทางโลกอย่างแม่นยำ
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 สิงหาคม NASA ใช้เครือข่ายสื่อสารอวกาศลึก หรือ Deep Space Network เพื่อตรวจดูสัญญาณที่เป็นเหมือน ‘ชีพจร’ ของยาน Voyager 2 ซึ่งเป็นการยืนยันว่ายานยังคงทำงานและส่งข้อมูลอยู่ตามปกติ เพียงแค่ตำแหน่งของจานรับส่งนั้นทำให้ข้อมูลมาไม่ถึงโลก
ณ จุดนี้ ทีมภารกิจบนโลกตัดสินใจส่งคำสั่งแบบ ‘ตะโกน’ จากเครือข่ายสื่อสารอวกาศลึก ด้วยจุดประสงค์ให้ Voyager 2 รับสัญญาณดังกล่าว และหันจานรับส่งสัญญาณกลับมาสู่โลก ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ และการรอคอยคำตอบก็ต้องใช้เวลานานกว่า 37 ชั่วโมง จากระยะห่างที่ไกลออกไปมาก จนการสื่อสารที่เดินทางด้วยความเร็วแสงยังใช้เวลาเที่ยวละประมาณ 18.5 ชั่วโมงด้วยกัน
จนกระทั่งในเวลา 11.29 น. ของวันที่ 4 สิงหาคม ตามเวลาประเทศไทย จานรับสัญญาณบนโลกของเครือข่ายสื่อสารอวกาศลึก ที่แคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ก็ได้รับข้อมูลเต็มรูปแบบจากยาน Voyager 2 อีกครั้ง ยืนยันว่ายานยังคงทำงานได้ตามปกติ และยังคงเดินทางออกไปตามเส้นทางที่ถูกวางไว้
ภารกิจของ Voyager 2 ในปัจจุบัน เป็นส่วนต่อขยายจากภารกิจหลักที่สิ้นสุดลงหลังการบินผ่านดาวเนปจูนเมื่อปี 1989 และออกสำรวจบริเวณช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์มาตั้งแต่ปี 2018 แม้อุปกรณ์บางตัวจะถูกสั่งปิดเพื่อประหยัดพลังงาน แต่ Voyager 2 ยังสามารถปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งการสำรวจพลาสมา สนามแม่เหล็ก และรังสีคอสมิกได้ถึงปี 2026 ที่อาจเป็นจุดสิ้นสุดภารกิจอย่างเป็นทางการ
ภาพ: NASA
อ้างอิง: