×

NASA เลือก 9 พื้นที่ขั้วใต้ดวงจันทร์เพื่อพานักบินอวกาศกลับไปลงจอด

30.10.2024
  • LOADING...
NASA

NASA ประกาศ 9 พื้นที่บริเวณใกล้เคียงขั้วใต้ดวงจันทร์สำหรับการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และเตรียมความพร้อมในการนำนักบินอวกาศไปลงจอดบนพื้นผิวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ภารกิจอพอลโล 17

 

วันที่ 28 ตุลาคม องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ประกาศเลือก 9 พื้นที่บริเวณใกล้ขั้วใต้ดวงจันทร์เพื่อเป็นจุดลงจอดของยาน Starship HLS พาสองนักบินอวกาศจากภารกิจอาร์ทีมิส 3 ไปลงบนดวงจันทร์ โดยมีกำหนดเกิดขึ้นเร็วที่สุดในเดือนกันยายน 2026

 

เจคอบ บลีเชอร์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้านการสำรวจของ NASA ระบุว่า “อาร์ทีมิส 3 จะเป็นครั้งแรกที่นักบินอวกาศไปลงจอดในบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ พวกเขาจะขึ้นบินไปกับยานลงจอดลำใหม่ในพื้นที่ที่แตกต่างไปจากประสบการณ์ในสมัยโครงการอพอลโล เราจึงต้องเลือกจุดลงจอดที่เหมาะสมกับช่วงเวลาประวัติศาสตร์นี้ เริ่มจากการหาตำแหน่งที่มีความปลอดภัยในการลงจอด และศึกษาคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ที่จะได้จากพื้นที่ดังกล่าว”

 

พื้นที่ลงจอดของอาร์ทีมิส 3 ที่ NASA ประกาศเลือกสำหรับการศึกษาเพิ่มเติม ได้แก่ Mons Mouton, Mons Mouton Plateau, Malapert Massif, Nobile Rim 1, Nobile Rim 2, Slater Plain, de Gerlache Rim 2, Haworth และยอดเขาบริเวณ Cabeus B ซึ่งต่างมีความหลากหลายในเชิงธรณีวิทยา เนื่องจากขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นจุดที่ไม่เคยมีมนุษย์ลงไปสำรวจมาก่อน และมีหลุมอุกกาบาตที่ไม่เคยได้รับแสงอาทิตย์มาหลายพันล้านปี ซึ่งอาจมีทรัพยากรต่างๆ รวมถึงน้ำซ่อนอยู่

 

กระบวนการคัดเลือกจุดลงจอดของภารกิจนี้ ประกอบด้วยการศึกษาข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์จากยาน LRO ของ NASA เช่นเดียวกับงานวิจัยดวงจันทร์จากแขนงต่างๆ ประกอบกับความเหมาะสมของพื้นผิวในการนำยานไปลงจอด การติดต่อสื่อสารกลับโลก สภาพแสงที่สามารถมองเห็นได้ รวมถึงความสามารถในการเดินทางไปลงจอดของยาน Starship HLS และเดินทางกลับมาสู่วงโคจรอย่างปลอดภัย โดยมีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในทีมที่พิจารณาเลือกตำแหน่งการลงจอดครั้งนี้

 

NASA ระบุเพิ่มเติมว่า การเลือกจุดลงจอดของอาร์ทีมิส 3 จะเกิดขึ้นหลังประกาศกำหนดวันขึ้นบินของภารกิจ เพื่อให้มีการคำนวณวิถีโคจรและศึกษาสภาพแวดล้อมของจุดลงจอดที่เหมาะสมได้ โดยปัจจุบันกำหนดการของภารกิจดังกล่าววางไว้ว่าจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในเดือนกันยายน 2026 แต่อาจเลื่อนออกไปได้ 

 

ภาพ: NASA / SpaceX

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising