×

ผลวิเคราะห์เบื้องต้น NASA-GISTDA ชี้ PM2.5 ภาคเหนือ ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาชีวมวล

01.02.2025
  • LOADING...
NASA GISTDA

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พร้อมด้วยองค์การ NASA และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นละออง PM2.5 ในประเทศไทย ระหว่างการประชุม ASIA-AQ Science Team ที่จัดขึ้น ณ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 20-24 มกราคมที่ผ่านมา

 

ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า การเผาชีวมวล (Biomass Burning) เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษจากฝุ่นละอองในภาคเหนือของประเทศไทย โดยข้อสรุปนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานหลายประการ รวมถึงปริมาณละอองลอยอินทรีย์ (Organic Aerosol) ปฐมภูมิและทุติยภูมิที่วัดได้จากอุปกรณ์บนเครื่องบินของ NASA ตลอดจนสารประกอบในบรรยากาศที่เกี่ยวข้องกับการเผาไหม้ รวมถึงข้อมูลการตรวจวัดภาคพื้นดินในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ดำเนินการโดยนักวิจัยจากเกาหลีใต้ ในช่วงที่ดำเนินโครงการ ASIA-AQ Campaign ซึ่งเป็นโครงการตรวจวัดคุณภาพอากาศในประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย

 

ขณะที่มลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ร่วมกับการเผาชีวมวล ซึ่งความแตกต่างกันของแหล่งที่มาเหล่านี้ เน้นย้ำให้เห็นความจำเป็นในการเข้าใจถึงความแตกต่างของการเกิดมลพิษในระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดการวางกลยุทธ์ในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสม

 

ทั้งนี้ การทำความเข้าใจในแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศต้องมีความระมัดระวังในการแยกแยะละอองลอยจากแหล่งกำเนิดโดยตรง และละอองลอยทุติยภูมิ 

 

ผลการวิเคราะห์ในช่วงที่ดำเนินโครงการ ASIA-AQ Campaign ยังพบว่า PM2.5 ส่วนใหญ่เป็นละอองลอยที่ผ่านปฏิกิริยาเคมีในชั้นบรรยากาศ อันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และควันเก่าจากการเผาชีวมวล ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจและให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากการเผาไหม้ 

 

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ตลอดระยะเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา GISTDA ร่วมมือกับทีมนักวิทยาศาสตร์ไทยที่มาจากหลายหน่วยงาน และได้ทำงานกับ NASA อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในประเทศไทย

 

โดยผลการวิจัยเหล่านี้จะอยู่ในรายงานที่ GISTDA-NASA จัดทำร่วมกัน และมีกำหนดจะเผยแพร่ต่อสาธารณชนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และในระหว่างนี้การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ยังต้องดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับพลวัตของมลพิษทางอากาศในประเทศไทย ที่มาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และผลการวิจัยที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้

 

อ้างอิง: 

  • สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising