ยาน Voyager 1 กลับมาปฏิบัติภารกิจสำรวจวิทยาศาสตร์จากสุดขอบระบบสุริยะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ประสบปัญหาเชิงเทคนิคเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023
ก่อนหน้านี้ยานอวกาศอายุ 46 ปี เผชิญปัญหากับ 1 ใน 3 ของคอมพิวเตอร์บนยาน หรือระบบ Flight Data System ทำให้ข้อมูลที่ Voyager 1 ส่งกลับโลกไม่สามารถถอดค่าเป็นข้อมูลที่ใช้งานได้ โดยทีมภารกิจบนโลกได้หาทางแก้ปัญหา จนทำให้ยานส่งข้อมูลเชิงวิศวกรรมกลับมาได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 20 เมษายน
อย่างไรก็ตาม ต้องรอถึงวันที่ 17 พฤษภาคม ก่อนที่ทีมภารกิจได้ส่งคำสั่งอีกชุดไปยังยาน Voyager 1 เพื่อเริ่มการแก้ปัญหาให้อุปกรณ์สำรวจทางวิทยาศาสตร์สามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้ง โดยต้องใช้เวลานานกว่า 45 ชั่วโมง เพื่อรอให้สัญญาณจากโลกไปถึงยานอวกาศ และรอให้ยานตอบกลับมาสู่จานรับสัญญาณบนโลกอีกครั้ง
ผลจากการแก้ปัญหาดังกล่าวทำให้ยานสำรวจอวกาศที่อยู่ห่างจากโลก 24,000 ล้านกิโลเมตร และกำลังมุ่งหน้าออกไปด้วยความเร็ว 16.99 กิโลเมตรต่อวินาที สามารถกลับมาตรวจวัดค่าสนามแม่เหล็ก คลื่นพลาสมา และอนุภาคในพื้นที่ช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์ หรือ Interstellar Space นอกขอบเขตอิทธิพลจากลมสุริยะของดวงอาทิตย์ได้อีกครั้ง
เริ่มจากวันที่ 19 พฤษภาคม ที่อุปกรณ์ตรวจวัดคลื่นพลาสมาและสนามแม่เหล็กสามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้ง ตามด้วยอุปกรณ์วัดรังสีคอสมิกและอนุภาคมีประจุที่พลังงานต่ำ ซึ่ง NASA ระบุว่ากลับมาทำงานได้ในวันที่ 13 มิถุนายน ซึ่งเป็น 4 อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บนยานที่ยังเปิดใช้การ จากทั้งสิ้น 10 อุปกรณ์ที่ติดตั้งไป โดยส่วนที่เหลือถูกปิดเพื่อประหยัดพลังงาน และยืดอายุภารกิจให้ทำงานได้นานที่สุด
Voyager 1 และยานอวกาศฝาแฝดอย่าง Voyager 2 คือโครงการสำรวจอวกาศที่ดำเนินการต่อเนื่องมายาวนานที่สุดของ NASA พร้อมกับเป็นยานสำรวจชุดแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำภารกิจสำรวจจักรวาลในพื้นที่ช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์ และคอยส่งข้อมูลกลับโลกจากสุดขอบระบบสุริยะจวบจนปัจจุบัน
อ้างอิง: