สำนักงานประสานงานด้านการป้องกันเกี่ยวกับดาวเคราะห์ภายใต้องค์การ NASA ชี้แจงถึงกรณีดาวเคราะห์น้อย 2023 DW ที่เพิ่งค้นพบไปเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า หลังจากที่เฝ้าติดตามดาวเคราะห์น้อยดวงนี้พบว่ามีแนววงโคจรที่อาจจะพุ่งชนโลกในอีกราว 23 ปีข้างหน้า แต่เน้นย้ำว่ามี ‘โอกาสน้อย’ ที่มันจะพุ่งชนโลกในช่วงวันวาเลนไทน์ ปี 2046
หน่วยงานด้านอวกาศของยุโรปอย่าง ESA คาดการณ์ว่าดาวเคราะห์น้อย 2023 DW มีโอกาส 1 ใน 625 (คิดเป็นราว 0.16%) ที่จะพุ่งชนโลกในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ขณะที่ห้องทดลอง Jet Propulsion Laboratory’s Sentry system ขององค์การ NASA ชี้ว่า ตัวเลขความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์ 2023 DW จะมีโอกาสพุ่งชนโลกอยู่ที่ 1 ใน 560 (คิดเป็นราว 0.17%)
ทั้งนี้ 2023 DW ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในรายชื่อดาวเคราะห์น้อยและดาวหางที่มีความเสี่ยงต่อโลกในศตวรรษที่ 21 ขององค์การ NASA และเป็นเพียงดาวเคราะห์น้อยดวงเดียวในขณะนี้ที่ได้รับการประเมินระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับ 1 จากทั้งหมด 10 ระดับ (ที่เหลืออยู่ในระดับ 0) ตามเกณฑ์วัดความเสี่ยง Torino Impact Hazard Scale
โดยความเสี่ยงระดับ 1 นี้ยังคงจัดอยู้ในระดับสีเขียวซึ่งเป็นเกณฑ์ปกติ เป็นการค้นพบดาวดวงใหม่และคาดการณ์ว่าอาจเคลื่อนตัวเข้าใกล้โลก แต่ยังไม่ก่อให้เกิดอันตรายในลักษณะที่ผิดปกติร้ายแรง อีกทั้งโอกาสที่จะพุ่งชนโลกนั้นอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยไม่มีเหตุให้สาธารณชนต้องสนใจหรือเป็นกังวล และจากข้อมูลใหม่ที่ตรวจพบอาจมีการปรับระดับความเสี่ยงของดาวเคราะห์น้อย 2023 DW จากระดับ 1 ไปเป็นระดับ 0 ในอนาคต
องค์การ NASA ระบุว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่จะดูน่ากลัวอย่างมากในช่วงที่เพิ่งถูกค้นพบ เนื่องจากข้อมูลที่ประเมินความเสี่ยงต่างๆ ยังคงมีจำกัด อาจต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลสักระยะหนึ่ง เพื่อลดทอนความไม่แน่นอน รวมถึงคาดการณ์แนวโคจรในอนาคตได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ NASA ยังเผยอีกว่า ดาวเคราะห์ดังกล่าวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 160 ฟุต (ราว 50 เมตร) โดย 2023 DW จะโคจรรอบดวงอาทิตย์ และมีโอกาสราว 10 ครั้งที่จะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลก ซึ่งแนวโคจรที่เข้าใกล้โลกมากที่สุดจะเกิดขึ้นประมาณวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2046 ขณะที่อีก 9 ครั้งที่เหลือจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2047-2054
โดย NASA ยังคาดการณ์อีกว่าดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะเคลื่อนที่ราว 25 กิโลเมตรต่อวินาที โดยอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางกว่า 18 ล้านกิโลเมตร และโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบใช้เวลา 271 วัน
ภาพ: Andrzej Wojcicki via Getty Images
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2023/03/09/world/asteroid-collision-risk-2046-nasa-scn/index.html
- https://cneos.jpl.nasa.gov/sentry/torino_scale.html
- https://cneos.jpl.nasa.gov/sentry/
- https://www.livescience.com/newly-discovered-asteroid-the-size-of-a-swimming-pool-has-a-1-in-600-chance-of-colliding-with-earth-nasa-says