วันนี้ (16 มีนาคม) เครื่องบิน DC-8 และเครื่องบิน G-III ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA เริ่มขึ้นบินปฏิบัติการศึกษาบรรยากาศและคุณภาพอากาศเหนือน่านฟ้าประเทศไทย
ภารกิจ ASIA-AQ หรือ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality มีเป้าหมายในการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพอากาศของประเทศเกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์ และไทย ภายใต้ความร่วมมือของ NASA กับ National Institute of Environmental Research หรือ NIER ของเกาหลีใต้ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย GISTDA
สำหรับการขึ้นบินของเครื่อง DC-8 ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น ‘ห้องปฏิบัติการลอยฟ้า’ จะร่วมเก็บข้อมูลเหนือน่านฟ้าประเทศไทยระหว่างวันที่ 16-25 มีนาคม โดยอาศัยการขึ้นบินจากระยะความสูงที่ต่างกัน เพื่อศึกษาความแตกต่างของบรรยากาศในแต่ละระดับความสูง และรวมกับข้อมูลจากอุปกรณ์บนเครื่อง G-III ที่ขึ้นบินศึกษาจากระยะเพดานบิน 28,000 ฟุตอย่างสม่ำเสมอ
เนื่องจากเครื่อง DC-8 จะทำการบินที่ความสูงระหว่าง 20-10,000 ฟุต (6-3,000 เมตร) โดยอาศัยการบินลงต่ำโฉบผ่านเหนือรันเวย์ของสนามบินต่างๆ ในประเทศไทย ก่อนไต่ความสูงไปอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งปลูกสร้างบนภาคพื้น ทำให้ผู้คนในบางพื้นที่อาจสังเกตเห็นเครื่องบินดังกล่าวได้ด้วยตาตนเอง รวมถึงอาจได้ยินเสียงจากเครื่องยนต์ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากภารกิจ ASIA-AQ ที่ขึ้นบินเหนือน่านฟ้าประเทศไทย จะถูกนำไปรวมเข้ากับข้อมูลจากดาวเทียมต่างๆ ของ NASA และหน่วยงานอวกาศที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับข้อมูลจากสถานีตรวจวัดในภาคพื้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลทั้งหมดไปใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศในปัจจุบัน
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการขึ้นบินในไทย NASA มีแผนปลดประจำการเครื่องบิน DC-8 ในเดือนเมษายน ปิดฉากการปฏิบัติภารกิจสำรวจโลกนานกว่า 37 ปีลงอย่างเป็นทางการ โดย NASA เตรียมนำเครื่องบิน Boeing 777 มาเข้าปฏิบัติการแทนในอนาคต
ภาพ: NASA / Carla Thomas