องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา (NASA) ของสหรัฐฯ เปิดเผยผลวิเคราะห์เส้นทางการเคลื่อนตัวของกลุ่มควันและฝุ่นละอองจากไฟป่าขนาดใหญ่ที่กำลังเผาไหม้ผืนป่าทางฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย โดยพบว่า กลุ่มควันเหล่านี้กำลังจะลอยวนไปรอบโลกอย่างน้อย 1 รอบ และคาดว่า จะวกกลับมายังออสเตรเลียในอีกไม่นานนี้
ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซาใช้ดาวเทียมหลายดวง เริ่มวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองเส้นทางการเคลื่อนตัวของกลุ่มควันและฝุ่นละอองจากไฟป่าออสเตรเลียตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก่อนจะพบว่า ควันไฟป่าได้ลอยข้ามไปครึ่งโลกแล้วในวันที่ 8 มกราคม
จากการวิเคราะห์พบว่า ไฟป่าออสเตรเลียที่มีขนาดใหญ่มากนั้น ก่อให้เกิดเมฆฝนไพโรคิวมูโลนิมบัส (pyrocumulonimbus) หรือเมฆฝนที่ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดฟ้าผ่ารุนแรง อันเป็นสาเหตุให้เกิดไฟป่าใหม่ๆ มากขึ้น ยังส่งควันและฝุ่นละอองปริมาณมหาศาล ลอยทะลุขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ (stratosphere) หรือชั้นบรรยากาศโลกชั้นที่ 2 ในระดับความสูงถึง 17.7 กิโลเมตร
“เมื่อลอยถึงชั้นสตราโทสเฟียร์ กลุ่มควันสามารถเดินทางได้หลายพันกิโลเมตรจากแหล่งกำเนิด และส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก” นาซาระบุ
การเคลื่อนที่ของควันไฟป่าและฝุ่นละอองปริมาณมหาศาลก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก โดยในช่วงปีใหม่ ควันไฟได้ลอยข้ามทวีปอเมริกาใต้ และทำให้ท้องฟ้าเปลี่ยนสีจากการถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน
ขณะเดียวกัน ยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในประเทศที่กลุ่มควันลอยผ่าน ซึ่งประเทศนิวซีแลนด์ได้รับผลกระทบหนัก จนทำให้คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเลวร้าย และทำให้ยอดเขาที่มีหิมะสีขาวปกคลุม แปรเปลี่ยนเป็นสีเข้มอย่างเห็นได้ชัด
วิกฤตไฟป่าครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทางฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผืนป่าถูกเผาไหม้ไปแล้วมากกว่า 68 ล้านไร่ และมีไฟป่าเกิดขึ้นมากกว่า 100 จุด ขณะที่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากไฟป่าเพิ่มเป็นอย่างน้อย 28 ราย ซึ่งทางสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียคาดการณ์ว่า สภาพอากาศจะเย็นลง และอาจมีฝนตกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงควบคุมไฟป่าได้ง่ายขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: