×

NASA ปรับแผนยืดอายุยาน Voyager ให้ทำงานต่อได้จากช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์

24.10.2023
  • LOADING...
voyager

ทีมภารกิจ Voyager 1 และ 2 ของ NASA กำลังเตรียมดำเนินขั้นตอนเพื่อช่วยยืดอายุยานอวกาศทั้งสอง ให้สามารถปฏิบัติภารกิจในอวกาศลึกได้อีกหลายปี

 

ภารกิจของทั้งสองออกเดินทางจากโลกในปี 1977 เพื่อสำรวจบรรดาดาวเคราะห์ชั้นนอกของระบบสุริยะ โดย Voyager 1 เข้าสู่พื้นที่ระหว่างดาวฤกษ์ในปี 2012 ก่อนที่ยาน Voyager 2 ซึ่งมุ่งหน้าออกไปในทิศทางที่ต่างกันจะหลุดพ้นจากอิทธิพลของลมสุริยะไปในปี 2018

 

เมื่อยานอวกาศทั้งสองมีอายุมากกว่า 46 ปี ทีมวิศวกรจึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยหนึ่งในนั้นคือระบบขับดันของยานที่ถูกใช้เพื่อปรับทิศให้จานรับส่งสัญญาณสามารถหันกลับโลกได้

 

ในทุกครั้งที่มีคำสั่งให้ระบบขับดันทำงาน เชื้อเพลิงไฮดราซีนที่ถูกขับออกมาจะทิ้งคราบไว้ในท่อส่งเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อยานต้องคอยปรับทิศทางอยู่บ่อยครั้งเพื่อติดต่อกลับโลก คราบดังกล่าวจะยิ่งก่อตัวขึ้นจนอาจมีความเสี่ยงให้ท่ออุดตัน และไม่สามารถปรับทิศทางได้อีกต่อไป

 

เพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ ทีมวิศวกรจึงยอมให้ยานสามารถเบี่ยงทิศจานรับส่งสัญญาณไปได้เพิ่มอีก 1 องศา ก่อนให้ระบบขับดันปรับทิศทาง ซึ่งทำให้ข้อมูลที่ยานทั้งสองส่งกลับมาอาจสูญหายไปบ้าง แต่ทีมภารกิจพิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสำรวจในระยะยาวมากกว่า เมื่อยานยังคงส่งข้อมูลกลับโลกมาได้จากพื้นที่ช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์ บริเวณที่ไม่เคยมียานอวกาศลำใดไปถึงมาก่อน

 

ลินดา สปิลเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ของภารกิจที่ JPL ระบุว่า “ที่ระยะไกลเช่นนี้ ทีมวิศวกรมักเจอกับปัญหาที่เราไม่มีอยู่ในคู่มือบนโลก แต่พวกเขาก็สามารถหาทางแก้อันสุดชาญฉลาดขึ้นมาได้”

 

นอกจากการแก้ปัญหาเรื่องระบบขับดัน ที่อาจช่วยยืดอายุภารกิจทั้งสองออกไปได้อีก 5 ปีเป็นอย่างน้อย ทีมภารกิจยังวางแผนอัปโหลดซอฟต์แวร์เพื่อช่วยป้องกันข้อผิดพลาดบนระบบควบคุมของยานอวกาศทั้งสอง เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียยานอวกาศไปตลอดกาล จากทั้งอายุของระบบบนยาน ระยะทางในการส่งข้อมูล และปัจจัยต่างๆ ที่ทีมภารกิจต้องป้องกันไว้ก่อน ทำให้พวกเขาจะทดสอบกับยาน Voyager 2 เป็นลำแรก เนื่องจากข้อมูลของยาน Voyager 1 ที่อยู่ไกลจากโลกไปกว่า 23,000 ล้านกิโลเมตรจะมีความสำคัญของข้อมูลมากกว่าอีกลำหนึ่ง

 

ทั้งนี้ ภารกิจ Voyager ถูกวางแผนในตอนแรกให้ทำงานได้เพียง 4 ปีเท่านั้น แต่ได้รับการต่ออายุออกมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมันทำงานอยู่ในอวกาศมานานกว่า 46 ปีแล้วด้วยกัน โดยยังคงส่งข้อมูลจากสุดขอบมุมของระบบสุริยะกลับโลกมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะสองยานสำรวจชุดแรกที่มุ่งหน้าออกไปยังดินแดนที่ไม่มีใครเคยไปถึงมาก่อน

 

ภาพ: NASA / JPL 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X