สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT เผยภาพสุดท้ายของยาน Peregrine ที่ล้มเหลวในการเดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์ และกลับมาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก เมื่อเช้ามืดวันที่ 19 มกราคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ภารกิจ SLIM ของญี่ปุ่นลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ แต่มีระยะเวลาในการปฏิบัติงานที่ค่อนข้างจำกัด จากปัญหาการสร้างพลังงานผ่านแผงโซลาร์เซลล์
ยาน Peregrine ของบริษัท Astrobotic เป็นภารกิจแรกของโครงการ CLPS หรือ Commercial Lunar Payload Service ของ NASA ที่เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขนส่งเทคโนโลยีและการทดลองไปบนดวงจันทร์ โดยออกเดินทางจากโลกไปกับจรวด Vulcan ของบริษัท ULA เมื่อบ่ายวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา
เพียงไม่นานหลังจากที่ยานได้แยกตัวจากจรวดส่วนบน ทีมภารกิจพบว่ามีปัญหากับระบบเชื้อเพลิงของ Peregrine ที่ทำให้การลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จนต้องปรับภารกิจส่งยานบินเข้าสู่วงโคจรที่ไปไกลกว่าดวงจันทร์ ก่อนมุ่งหน้ากลับมาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก
Peregrine ตกกลับสู่บรรยากาศโลกเมื่อเวลา 04.04 น. ของเช้าวันที่ 19 มกราคม บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ โดยยานถูกเผาไหม้ไปทั้งหมด หลังเสร็จสิ้นภารกิจการท่องอวกาศนาน 10 วัน 13 ชั่วโมง และเปลี่ยนรูปแบบภารกิจเพื่อถอดบทเรียนไปปรับใช้กับยานสำรวจลำถัดไป
ในเวลาไม่กี่นาทีก่อนเข้าสู่บรรยากาศของโลก กล้องโทรทรรศน์ขนาด 1 เมตร ของ NARIT ที่ตั้งอยู่บนหอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ สามารถบันทึกภาพของยาน Peregrine ปรากฏเป็นจุดสว่าง พร้อมกับมีสิ่งที่ปรากฏคล้าย ‘หาง’ ซึ่งคาดว่าเป็นเชื้อเพลิงที่รั่วออกจากตัวยาน โดยถือเป็นหนึ่งในบททดสอบระบบเฝ้าระวังภัยอวกาศของไทยในการติดตามวัตถุต่างๆ บนท้องฟ้า เช่น ซากยานอวกาศ ดาวเทียม หรือวัตถุทางธรรมชาติที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก
แม้ Peregrine จะจบลงด้วยความล้มเหลว เนื่องจากยานไปไม่ถึงการลงจอดบนดวงจันทร์ตามที่ถูกวางไว้ แต่การได้ทดสอบอุปกรณ์ทดลองในสภาพแวดล้อมของอวกาศจริง เช่นเดียวกับการสืบหาต้นเหตุของข้อผิดพลาดในภารกิจนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเดินทางไปดวงจันทร์ของยานอวกาศลำถัดไปมีความปลอดภัยขึ้น โดย NASA ให้คำมั่นว่ายังคงสนับสนุนภาคเอกชนสำหรับภารกิจการขนส่งอุปกรณ์และการทดลองไปบนดวงจันทร์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาร์ทีมิสอยู่ตามเคย
ภาพ: NARIT
อ้างอิง: