×

ยุทธหัตถีมีหลายเวอร์ชัน พระมหาอุปราชาถูกฟันด้วยพระแสง หรือถูกลูกปืน

12.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ส.ศิวรักษ์ ถูกตั้งข้อหาในคดีหมิ่นเบื้องสูงสมเด็จพระนเรศวร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สร้างความประหลาดใจให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก และถ้าหากคดีนี้ ส.ศิวรักษ์ ผิด ย่อมส่งผลต่อความชะงักงันของการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เพราะจะไม่สามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์กันได้อีก
  • ในประวัติศาสตร์ พบหลักฐานชั้นต้นที่ได้กล่าวถึงการทำยุทธหัตถีระหว่างพระนเรศวรและพระมหาอุปราชาไว้หลายเวอร์ชัน โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ พระมหาอุปราชาตายด้วยอาวุธมีคม และพระมหาอุปราชาตายด้วยลูกปืน
  • เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าเวอร์ชันไหนถูกต้องที่สุด โดยปกติแล้วนักประวัติศาสตร์มักเลือกเชื่อบันทึกจากผู้ที่ดูจะมีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์น้อยว่ามีความน่าเชื่อถือ

จากการที่ ส.ศิวรักษ์ ถูกตั้งข้อหาในคดีหมิ่นเบื้องสูงสมเด็จพระนเรศวร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ย่อมสร้างความประหลาดใจให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก และถ้าหากคดีนี้ ส.ศิวรักษ์ ผิด ย่อมส่งผลต่อความชะงักงันของการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เพราะจะไม่สามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์กันได้อีก

 

ต้นเรื่องของคดีนี้เริ่มต้นขึ้นนับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2557 จากงานเสวนาวิชาการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ในหัวข้อ ‘ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง’ ซึ่งผู้เขียนได้เป็นหนึ่งในวิทยากร และยังถูกหมายเรียกไปสอบในฐานะของพยาน โดยเท่าที่จำได้ ในวันนั้น ส.ศิวรักษ์ ได้พูดว่า เป็นไปได้ที่สมเด็จพระนเรศวรจะไม่ได้ทรงทำยุทธหัตถีชนะด้วยการใช้พระแสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชาจนสิ้นพระชนม์ หากแต่ใช้ปืนยิงตามที่เอกสารต่างชาติได้กล่าวไว้ หลังจากนั้นจึงได้มีทหาร 2 นายเข้าแจ้งความ ส.ศิวรักษ์ ที่ สน.ชนะสงคราม ในข้อหาหมิ่นพระเกียรติยศ

 

 

สิ่งที่ ส.ศิวรักษ์ เสนอในงานเสวนานั้นมีข้อเท็จจริงประการใด ทำไมจึงขัดกับประวัติศาสตร์กระแสหลักที่คนไทยรับรู้ผ่านแบบเรียน ผมคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการรู้ถึงข้อมูลประวัติศาสตร์ยุทธหัตถีในเวอร์ชันต่างๆ ผมเองขออนุญาตแปลบทความบางส่วนจากเรื่อง ‘What Happened at Nong Sarai? Comparing Indigenous and European Sources for Late 16th Century Siam’ ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Siam Society ปี 2013 เขียนโดย Barend J. Terwiel ที่ได้เสนอหลักฐานชั้นต้นเกี่ยวกับการทำยุทธหัตถีไว้มากถึง 10 เวอร์ชัน

 

แต่ในที่นี้ผมขอสรุปสั้นๆ เพียงบางเวอร์ชัน โดยแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

  • พระมหาอุปราชาตายด้วยอาวุธมีคม
  • พระมหาอุปราชาตายด้วยลูกปืน

 

พระมหาอุปราชาตายด้วยอาวุธมีคม

 

ภาพจิตรกรรมการกระทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา ที่วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา วาดโดยมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) เมื่อ พ.ศ. 2475

 

เวอร์ชันประวัติศาสตร์ชาติ

ขอเริ่มต้นจากยุทธหัตถีเวอร์ชันพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่เป็นต้นแบบของประวัติศาสตร์ชาติก่อน เพื่อนำไปสู่การเปรียบเทียบกับเวอร์ชันต่างๆ ความว่า สมเด็จพระนเรศวรได้ตรัสท้าทายพระมหาอุปราชาที่ยืนอยู่ใต้ร่มไม้ “เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีกษัตริย์ที่จะได้ทำยุทธหัตถีแล้ว”

 

ด้วยความละอายพระทัย ทำให้พระมหาอุปราชาบ่ายพระคชาธาร (ช้าง) มาทำยุทธหัตถี ในขณะที่ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรคือเจ้าพระยาไชยานุภาพที่กำลังตกมัน เห็นช้างศัตรูจึงวิ่งไปด้วยความโกรธ พระมหาอุปราชาจึงจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรหลบได้ และใช้ ‘พระแสงพลพ่าย’ ฟันต้องพระอังสา (บ่า) ขวาของพระมหาอุปราชาถึงแก่ความตาย และในเวลาขณะเดียวกัน ควาญช้างของพระนเรศวรก็ต้องกระสุนปืนของศัตรูตายด้วย

 

เวอร์ชันพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ

ในขณะที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2233 ซึ่งถือว่ามีความแม่นยำในแง่ของศักราชมากที่สุด เพราะเป็นปูมโหร แต่ก็บันทึกหลังเหตุการณ์ยุทธหัตถีถึง 98 ปี บันทึกเหตุการณ์ว่า

 

“เมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น สมเด็จพระนารายณ์บพิตร (สมเด็จพระนเรศวร) ต้องปืน ณ พระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง อนึ่งเมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกดิน และเอาคืนขึ้นใส่เล่า ครั้งนั้นมหาอุปราชาขาดคอช้างตายในที่นั้น” แสดงว่า พระมหาอุปราชาถูกฟันจนขาดคอช้าง สอดคล้องกับเวอร์ชันประวัติศาสตร์ชาติ

 

เวอร์ชันคำให้การชาวกรุงเก่า

เชื่อว่าคำให้การชาวกรุงเก่าเป็นคำให้การของขุนนางไทยที่ถูกพม่าจับตัวเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) ได้ให้การว่า ในตอนแรกพระมหาอุปราชาจะใช้ปืน แต่เลิกใช้เพราะคำท้วงติงของสมเด็จพระนเรศวร ทำให้ต้องมาต่อสู้กันด้วยการชนช้าง จากนั้นทั้งสองจึงกระทำยุทธหัตถี ระหว่างการต่อสู้มีอยู่จังหวะหนึ่งดาบของพระมหาอุปราชาฟันถูกหมวกของสมเด็จพระนเรศวรและนิ้วมือถูกตัดออก เมื่อช้างของสมเด็จพระนเรศวรสามารถตั้งหลักได้จากเนินเล็กซึ่งมีต้นข่อยอยู่ ช้างทรงสมเด็จพระนเรศวรจึงเข้าแทงช้างของพระมหาอุปราชาได้ พระองค์จึงเร่งไสช้าง และได้ฟันดาบด้ามยาว ทำให้พระมหาอุปราชาตายบนหลังช้าง

 

เวอร์ชันจดหมายเหตุชาวดัตช์ชื่อ วัน วลิต

ในปี ค.ศ. 1640 หรือเพียง 47 ปีหลังเหตุการณ์สงครามยุทธหัตถี ชาวดัตช์ที่อาศัยอยู่อยุธยามีชื่อว่า วัน วลิต กล่าวดังนี้

 

“กองทัพทั้งสองได้ปะทะกัน… เมื่อช้างทั้งสองตัวเผชิญหน้ากัน มันได้วิ่งเข้าชนกันอย่างบ้าคลั่ง ช้างไทยถูกโจมตีจากช้างตัวใหญ่นั้นและพยายามจะหนี สมเด็จพระนเรศวรได้สวดอ้อนวอน เช็ดน้ำตา ขอร้องให้ช้างกล้าหาญ และได้รดน้ำมนต์ … ช้างของพระมหาอุปราชถูกชนด้วยอะไรสักอย่างที่ลำตัวอย่างรุนแรง ทำให้ช้างร้องเสียงดัง ในจังหวะนั้นเอง สมเด็จพระนเรศวรโจมตีพระมหาอุปราชาที่พระเศียรด้วยขอช้างและแทงด้วยหลาว…”

 

จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างน่าสนใจระหว่างเรื่องเล่ามาตรฐาน (ประวัติศาสตร์ชาติ) กับของดัตช์ ซึ่งถือเป็นเอกสารที่เขียนเกือบใกล้ช่วงเวลาที่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ โดยจะสังเกตได้ว่า ไม่มีการประกาศท้าทายและการท้าทำยุทธหัตถีอย่างเป็นทางการ และพระมหาอุปราชาไม่ได้ถูกฟันด้วยพระแสงของ้าว

 

เวอร์ชันเอกสารของชาก์คส์ เดอ คูเตร

ชาก์คส์ เดอ คูเตร เป็นผู้ที่อยู่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์อย่างมาก เขาได้เยือนอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2138 (หลังชนช้าง 3 ปี) แต่บันทึกของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2183 ซึ่งในบันทึกนี้ได้เล่าว่า ในสงครามยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรทรงชนะพระมหาอุปราชา โดยสมเด็จพระนเรศวรบาดเจ็บจากปืนที่พระกร (แขน) ส่วนพระมหาอุปราชาตายในเมืองทวาย ด้วยการถูกหลาวแทงเข้าที่คอ

 

เวอร์ชันเอกสารเปอร์เซีย

เป็นบันทึกของทูตชาวเปอร์เซีย ผู้ซึ่งเข้ามายังอยุธยาใน พ.ศ. 2228 โดยรับฟังข้อมูลมาจากชาวสยามอีกที เขาได้เล่าว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ปะทะเข้ากับกองทัพพม่า พระองค์ตระหนักว่า “…ศัตรูที่เข้มแข็งและไม่มีความหวังที่จะชนะในสงครามนี้… (ทำให้) พระองค์ตัดสินใจเอาปืนแอบไว้ใต้ขอช้าง เมื่อทั้งสองพระองค์ได้เข้ามาใกล้กัน หนึ่งในนั้นคล้ายกับนกอินทรีย์ได้โจมตีอย่างรวดเร็วไปยังเหยื่อบนหลังช้าง สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงยื่นขอช้าง และก่อนที่พระมหาอุปราชาจะรู้ตัวว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาก็ได้ร่วงลง…และตาย”

 

เวอร์ชันอันหลังของเอกสารทูตชาวเปอร์เซียนี้มีเงื่อนงำ เพราะถ้าหากพระมหาอุปราชาตายด้วยขอช้าง ทำไมต้องกล่าวถึงปืนที่แอบไว้ใต้ขอช้างด้วย

 

พระมหาอุปราชาตายด้วยลูกปืน

 
 

เวอร์ชันเอกสารพม่า พงศาวดารฉบับอูกาลา และพงศาวดารฮฺมันนัน ยาสะวิน ดองจี

พงศาวดารทั้งสองฉบับเชื่อกันว่ามีความน่าเชื่อถือในระดับสูง ให้การว่า ระหว่างที่กำลังต่อสู้ ช้างของสมเด็จพระนเรศวรกำลังเข้าใกล้กับช้างของพระมหาอุปราชาซึ่งกำลังตกอยู่ในอันตราย แม่ทัพเห็นไม่ได้การ จึงได้เอาผ้าปิดตาช้างตกมันตัวหนึ่งเพื่อเข้าไปช่วย ทว่าแทนที่จะเข้าโจมตีช้างสยาม มันได้มุ่งเข้าโจมตีช้างของพระมหาอุปราชาแทน สมเด็จพระนเรศวรจึงใช้ปืนพกยิงไปยังพระมหาอุปราชาในระยะประชิด ส่งผลทำให้บาดเจ็บถึงแก่ความตาย แต่ควาญที่อยู่ด้านหลังพระมหาอุปราชาได้เข้าไปจับร่างไว้ให้ตั้งตรง ทำให้พระนเรศวรคิดว่าการโจมตีครั้งนี้ล้มเหลว จึงไม่ได้รุกต่อ จากนั้นกองทัพสยามจึงถอยกลับไปและกลับเข้าเมืองอยุธยา

 

สรุปสั้นๆ คือ ในเอกสารพม่าระบุว่า พระมหาอุปราชาต้องลูกปืนตาย ไม่ใช่ถูกพระแสงฟัน

 

เวอร์ชันเอกสารโปรตุเกสของเพอร์ชาส

บันทึกของเพอร์ชาส (Purchas) ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2156 ได้ระบุว่า พระมหาอุปราชาตายจากกระสุนปืน ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลอ้างอิงจากจดหมายเหตุที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2145 หรือก็คือ 10 ปีหลังเหตุการณ์ยุทธหัตถีเท่านั้น ดังนั้น นักประวัติศาสตร์ชื่อดังอย่าง วิกเตอร์ ลิเบอร์แมน ได้ให้ความเห็นว่าสอดคล้องกับพงศาวดารฉบับอูกาลา ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่าพระมหาอุปราชาตายจากลูกปืนมากกว่าดาบ

 

เวอร์ชันเอกสารโปรตุเกสของโบคาร์โร

แอนโทนี โบคาร์โร เป็นชาวโปรตุเกสที่ท่องเที่ยวในเมืองกัว โดยใน พ.ศ. 2174 เขาได้ทำหน้าที่เป็นนักจดหมายเหตุ และได้เขียนเรื่องสงครามที่หนองสาหร่ายไว้ว่า กษัตริย์สยามได้ส่งสารถึงพระมหาอุปราชา เพื่อให้มาทำยุทธหัตถีด้วยกัน เมื่อพระมหาอุปราชาเห็นศัตรู พระองค์ทรงสั่งทหารว่าให้เปิดทางเพื่อทำสงครามกับปรปักษ์… พระมหาอุปราชาทรงไสช้างไปสามารถฆ่าแม่ทัพสยามได้นายหนึ่ง… จากนั้นจึงเข้าถึงตัว ‘องค์ดำ’ ที่ทรงช้างอยู่ ในระหว่างการต่อสู้นั้น พระมหาอุปราชาบาดเจ็บจากขวานของสมเด็จพระนเรศวร เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเห็นว่าพระองค์กำลังจะชนะแล้ว พระองค์ได้สั่งให้ทหารโปรตุเกสสองนายยิงปืน เสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด ผลก็คือทำให้พระมหาอุปราชาได้รับบาดเจ็บและตายจากพิษบาดแผล  

 

สรุป

 

เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าเวอร์ชันไหนถูกต้องที่สุด โดยเอกสารที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์คือของชาก์คส์ เดอ คูเตร ได้ให้ข้อมูลว่า พระมหาอุปราชาถูกหลาวแทงเข้าที่คอ มีความสอดคล้องกับเอกสารของวัน วลิต ในขณะที่เอกสารฝ่ายไทยเล่าตรงกันว่าใช้พระแสงของ้าวฟันจนขาดคอช้าง แต่ก็ขัดแย้งกับเอกสารของต่างชาติไม่ว่าจะเป็นพม่าและโปรตุเกส ที่ระบุว่าพระมหาอุปราชาถูกยิงด้วยปืนตาย เอกสารเปอร์เซียดูจะทิ้งเงื่อนงำบางอย่างไว้ว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงแอบเอาปืนเข้าไปทำยุทธหัตถีด้วย

 

โดยปกติแล้ว นักประวัติศาสตร์มักเลือกเชื่อบันทึกจากผู้ที่ดูจะมีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์น้อยว่ามีความน่าเชื่อถือ

 

ถ้าเชื่อว่าเอกสารพม่าบันทึกเหตุการณ์ตามจริงตามที่นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อกัน และชาวโปรตุเกสทั้งสองก็ไม่เคยเข้าไปเยือนอยุธยา ดังนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่พระมหาอุปราชาอาจถูกยิงด้วยปืนก็ได้ หรืออาจจะไม่ใช่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคลหรือความสามารถในการใช้เหตุผล

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นหลักของเรื่องอยู่ตรงที่ปัญหา ณ ตอนนี้ คือ ประวัติศาสตร์วีรบุรุษของไทยได้ถูกทำให้กลายเป็นความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จนยากที่จะใช้เป็นส่วนหนึ่งของแบบฝึกหัดทางความคิดให้กับนักเรียนหรือคนในสังคมได้ถกเถียงกันเพื่อแสวงหาทั้งความรู้และความจริงในอดีต

 

Cover Photo: สงครามยุทธหัตถีระหว่างพะโคและอยุธยา วาดโดยคอมเมลิน ในปี ค.ศ. 1646 ที่อัมสเตอร์ดัม (จาก Commelin, Begin ende Voortgang, ‘Oost-Indische Reyse’, Amsterdam, 1646, III. Opp. p. 22.)

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising