ย้อนหลังกลับไป 12 เดือนที่แล้ว นาโอมิ โอซากะ ต้องประสบความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญในรายการออสเตรเลียน โอเพ่น ด้วยน้ำมือของ โคโค กอฟฟ์ สาวน้อยมหัศจรรย์ที่วัยเพียง 15 ปีในขณะนั้น
โอซากะยอมรับในครั้งนั้นว่าเธอเองยังไม่พัฒนาถึงจุดที่จะมีความพร้อมของจิตใจแบบแชมเปียน หรือจิตใจของผู้ชนะ ที่นักกีฬาที่จะประสบความสำเร็จขั้นสูงสุดพึงมี
เธอเคยเปรียบตัวเองว่าเป็นคนที่ประหลาดที่สุดในเกมเทนนิส และการกล่าวสุนทรพจน์หลังคว้าแชมป์อินเดียน เวลส์ เมื่อปี 2018 เป็นการกล่าวที่เลวร้ายที่สุดตลอดกาลทั้งๆ ที่ความจริงก็ไม่ได้เป็นการกล่าวอะไรที่แย่ขนาดนั้น เพียงแต่เธอไม่มั่นใจในตัวเอง
แม้กระทั่งในการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวบ่อยครั้งที่เธอมักจะอยู่ไม่สุข ประหม่า ถามคำตอบคำ หรือบางทีก็พูดถึงเรื่องตัวละครจากเกม Pokemon เป็นการแก้เขิน
แต่ ณ เข็มนาฬิกาเดินไป แฟนเทนนิสทั่วโลกได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน นักเทนนิสสาวผู้ทรงพลัง จากคนที่เคยพูดด้วยน้ำเสียงเบาๆ แบบคนขี้อาย เวลานี้โอซากะกลายเป็นคนที่ดูมีความมั่นใจขึ้นอย่างมาก
“ฉันรู้สึกว่าฉันมาถึงจุดที่ฉันได้พยายามทุ่มเทอย่างหนักตลอดมา” โอซากะกล่าวหลังจากที่เอาชนะ เจนนิเฟอร์ เบรดี คว้าแชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่น สมัยที่ 2 ของตัวเอง และเป็นแกรนด์สแลมรายการที่ 4 รวมถึงเป็นการชนะรวด 21 เกมติดต่อกัน
โอซากะเป็นลูกครึ่ง คุณแม่ของเธอ ทามากิ เป็นชาวญี่ปุ่น ส่วนคุณพ่อ เลียวนาร์ด เป็นชาวเฮติ ส่วนเมืองเกิดของเธอนั้นเดาไม่ยาก เพราะเป็นไปตามนามสกุล แต่เมื่ออายุได้เพียง 3 ขวบ ครอบครัวก็ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่นิวยอร์กแทน
ด้วยความเป็นลูกครึ่งและมีส่วนผสมในชีวิตที่หลากหลาย ทำให้หลายครั้งก็เป็นเรื่องยากสำหรับผู้คนที่จะให้คำจำกัดความตัวเธอ
ครั้งหนึ่งโอซากะเคยนิยามตัวเองว่า “ฉันเป็นลูกสาว เป็นน้องสาว เป็นเพื่อน และเป็นคนรัก ฉันเป็นคนเอเชียน ฉันเป็นคนดำและฉันเป็นผู้หญิง ฉันเป็นคนอายุ 22 ปีเหมือนกับทุกคน ยกเว้นเพียงแต่ว่าฉันเล่นเทนนิสเก่ง ฉันยอมรับตัวเองในแบบที่ตัวฉันเป็นคือ นาโอมิ โอซากะ”
พรสวรรค์ในการเล่นของเธอกลายเป็นปรากฏการณ์ในเกมเทนนิส โดยเฉพาะการช็อกโลกด้วยการคว่ำ เซเรนา วิลเลียมส์ อดีตราขินีคอร์ตผู้ยิ่งใหญ่ได้ในรายการยูเอส โอเพ่น เมื่อปี 2018 (และเป็นการชนะครั้งที่ 2 ของเธอ)
แต่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของเธอกลับกลายเป็นเรื่องดราม่า เมื่อเซเรนาซึ่งเป็นขวัญใจของเธอเองแสดงออกอย่างไม่ค่อยมีน้ำใจนักกีฬามากนักด้วยการปะทะคารมกับแชร์อัมไพร์อย่างรุนแรง และมีเสียงโห่จากแฟนๆ ในสนามที่เป็นกองเชียร์ของยอดนักเทนนิสชาวสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี สำหรับโอซากะ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม สำหรับเธอแล้วการได้สวมกอดกับเซเรนาที่หน้าเน็ตหลังจบการแข่งขันเป็นช่วงเวลาแสนวิเศษที่ทำให้เธอได้รู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง และไม่มีใครจะพรากความทรงจำครั้งนี้ไปจากเธอได้
แต่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนั้นกลับกลายเป็นปัญหาของโอซากะ เพราะฝีมือในการเล่นของเธอโตเกินกว่าสภาพจิตใจจะรับไหว ซึ่งทำให้เธอถึงขั้นเคยเปลี่ยนโค้ชและบอกว่าชัยชนะไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับเธอ
โชคดีสำหรับวงการเทนนิสที่โอซากะค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตหลังจากนั้นในเรื่องของการใช้ชีวิต
โดยเฉพาะเหตุการณ์ครั้งสำคัญของโลกเมื่อ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำต้องเสียชีวิตจากการเข้าจับกุมโดยใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวด้วยการใช้เข่ากดที่คอนานถึง 7 นาที 46 วินาทีจนทำให้หมดลมหายใจอย่างน่าเศร้า มีส่วนช่วยให้โอซากะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมาก
“หัวใจของฉันเจ็บปวด ฉันรู้สึกว่าฉันควรจะต้องทำอะไรบ้าง เรื่องพวกนี้มันควรจะพอได้แล้ว” โอซากะให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจลุกขึ้นสู้ และใช้เสียงของเธอส่งออกไปเพื่อคนอื่น
จากการเรียกร้องในแคมเปญ Black Live Matters โอซากะกลายเป็นหนึ่งในหัวขบวนของเหล่านักกีฬาระดับโลกที่เพิ่มบทบาทของการเป็นนักต่อสู้เพื่อสังคม
ในการแข่งขันรายการยูเอส โอเพ่นเมื่อปีกลาย เธอคิดไอเดียในการสื่อสารถึงปัญหาเรื่องนี้ได้ด้วยการเขียนชื่อของคนผิวดำที่เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าเพราะการเหยียดสีผิวบนหน้ากากที่จะสวมใส่ก่อนลงแข่งขัน และมันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เธออยากจะไปให้สุดทางเพื่อจะได้ให้โลกได้เห็นชื่อของคนที่จากไปด้วยเหตุอันไม่อันควรทั้งหมด
ชื่อของ บรีออนนา เทย์เลอร์, เอไลจาห์ แม็คเคลน, อาหมัด อาร์เบอรี, เทรย์วอน มาร์ติน, จอร์จ ฟลอยด์, ฟิลานโด คาสติล และ ทาเมียร์ รีซ ปรากฏต่อหน้าคนทั้งโลกที่จับตาดูอยู่ โดยมีนักเทนนิสวัยเพียง 20 เศษๆ ที่เรียกร้องความยุติธรรมให้แก่พวกเขา
แรงบันดาลใจของโอซากะในการทำเช่นนี้มาจากการที่เธอได้ดูซีรีส์ทาง Netflix เรื่อง When They See Us ซึ่งมาจากเรื่องจริงของวัยรุ่นผิวดำ 5 คนในย่านฮาร์เล็มที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศอย่างรุนแรงในสวนเซ็นทรัลพาร์กที่นิวยอร์ก
เรื่องนี้กลายเป็นจุดพลิกผันในชีวิตของเธอ และทำให้โอซากะรู้สึกว่าเธอควรจะทำในสิ่งที่เธอสามารถทำได้เพื่อผู้คน และการที่เธอได้ทำเช่นนั้นยังเป็นการบำบัดตัวเองที่ขาด Self-esteem
จากจุดนั้นโอซากะค่อยๆ ปลดเปลื้องตัวเองจากพันธนาการในจิตใจ เธอมั่นใจขึ้น มีความสุขขึ้นจากภายใน และเล่นเทนนิสได้ด้วยรอยยิ้ม
และในเวลาเดียวกันก็พร้อมจะส่งเสียงอันทรงพลังของเธอหากมันจะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นบ้าง
นั่นทำให้ นาโอมิ โอซากะ ไม่ได้เป็นแค่แชมเปียนในคอร์ตเทนนิส แต่เธอยังเป็นแชมเปียนของผู้คน เป็นนักเทนนิสมหาชนอย่างแท้จริง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: