หลังจากมีการประกาศผลรางวัลโนเบลในสาขาต่างๆ เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในปีนี้ นาเดีย มูราด หญิงสาวชาวยาซิดี ชนกลุ่มน้อยของอิรัก ผู้เคยตกเป็นเหยื่อกามารมณ์ของสมาชิกกลุ่มกองกำลังไอเอสที่เข้ายึดครองบ้านเกิดของเธอภายในจังหวัดซินจาร์เมื่อปี 2014 ก่อนจะหลบหนีออกมาได้และผันตัวเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ร่วมกับ นายแพทย์เดนิส มุกเวเก สูตินรีแพทย์ชาวคองโก โดยทั้งสองคนเป็นผู้อุทิศตนเพื่อรณรงค์และช่วยเหลือผู้หญิงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงทางเพศอีกต่อไป
บาดแผลและคราบน้ำตาใน ‘ฝันร้าย’ ของนาเดียที่ไม่เคยจางหายไป
นาเดียและหญิงสาวชาวยาซิดีกว่า 7,000 คนถูกลักพาตัว ขณะที่หมู่บ้านโคโช บ้านเกิดของพวกเธอทางตอนเหนือของอิรัก ถูกโจมตีด้วยกลุ่มกองกำลังไอเอสเมื่อปี 2014
แม่ พี่ชาย และน้องชายอีก 6 คนของเธอเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น สุดท้ายนาเดียถูกบังคับให้กลายเป็น ‘ซาบายา’ (Sabaya) หรือทาสกามารมณ์ ให้กับสมาชิกของกลุ่มนักรบไอเอสที่เมืองโมซุล หนึ่งในฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มภายในอิรัก
นาเดียเล่าว่า “ตลาดซื้อขายทาสกามารมณ์นี้จะเปิดช่วงกลางคืน ผู้หญิงทุกคนที่ถูกจับตัวมาจะอยู่ชั้นบนของตัวอาคาร และรับรู้ได้ถึงความวุ่นวายและอึกทึกครึกโครมของเหล่าสมาชิกกลุ่มไอเอสที่กำลังต่อรองเรื่องหญิงสาวที่จะตกเป็นเหยื่อความใคร่ของพวกเขาในคืนนั้น หลังจากที่สอบถามประวัติเบื้องต้นเสร็จ พวกเขาจะขึ้นมาเลือกเหยื่อโดยการสอบถามชื่อ อายุ รวมถึงประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์ อีกทั้งยังแตะต้องเนื้อตัวของเหยื่อที่ถูกลักพาตัวมาได้อย่างเต็มที่ เขาทำเหมือนพวกเราเป็นสัตว์ แม้เสียงกรีดร้องและเสียงอ้อนวอนจะดังก้องแค่ไหนก็ตาม”
กลุ่มกองกำลังไอเอสใช้ซาบายาเป็นหนึ่งในเครื่องมือเสริมสร้างแรงจูงใจ ดึงดูดสมาชิกคนใหม่ๆ ให้หันมาเข้าร่วมกลุ่มและปฏิบัติการก่อการร้าย โดยการข่มขืนถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในช่วงการทำสงครามมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นช่วงสงครามโลก สงครามอินโดจีน หรือแม้แต่สงครามและความขัดแย้งกับกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
นาเดียยังเผยต่ออีกว่าในคืนนั้นเธอถูกเลือกไปโดย ฮัจจี ซัลมาน ผู้พิพากษาแห่งเมืองโมซุล สมาชิกระดับสูงของกลุ่มไอเอสในย่านนั้น เธอถูกข่มขืนและทำร้ายร่างกายอย่างหนัก ท้ายที่สุดช่วงเวลากว่า 1 ปี 3 เดือนที่เหมือนตกนรกทั้งเป็นก็จบสิ้นลง เธอสามารถหลบหนีจากกลุ่มไอเอสได้ ก่อนจะเริ่มต้นสถานะของผู้ลี้ภัยและเดินทางมุ่งหน้าสู่เยอรมนีเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
โดยเธอตั้งใจที่จะกลับมาช่วยเหลือหญิงสาวชาวยาซิดีและเพื่อนผู้หญิงคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายอย่างที่เธอเคยพบเจอมา เธอจึงตัดสินใจเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ต่อต้านการค้ามนุษย์ และยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กและผู้หญิง
อาวุธที่ทรงพลังที่สุดของนาเดีย มูราด
ในปี 2015 นาเดียเดินทางเข้าร่วมการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยประเด็นของชนกลุ่มน้อยที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และนั่นคือการบอกเล่าเรื่องราวของฝันร้ายที่เคยเกิดขึ้นจริงในชีวิตของเธอบนเวทีระดับโลกเป็นครั้งแรก “ฉันต้องการจะพูดทุกเรื่องที่ฉันเคยพบเจอมา มีเด็กจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากภาวะขาดน้ำขณะหลบหนีกองกำลังไอเอส มีชาวบ้านจำนวนมากในป่าที่ยังรอคอยการช่วยเหลือ มีผู้หญิงและเด็กหลายพันคนที่ยังคงถูกจับกุมตัว มีเหตุสังหารหมู่นองเลือด ฉันเป็นหนึ่งในไม่กี่ร้อยคนจากหญิงสาวชาวยาซิดีหลายพันคนที่ถูกจับตัวไปแล้วสามารถเอาชีวิตรอดออกมาได้ ชุมชนของฉันกระจัดกระจาย บ้างก็อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงในอิรัก บ้างก็ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ มีเรื่องราวมากมายที่โลกควรจะต้องรับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับพวกเราชาวยาซิดีบ้าง
“ฉันต้องการสถานที่ปลอดภัยให้แก่ชนกลุ่มน้อยต่างศาสนาในอิรัก นำตัวกลุ่มกองกำลังไอเอสทุกคนมารับโทษจากการสังหารหมู่และก่ออาชญากรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง พร้อมทั้งปลดปล่อยทุกพื้นที่ของจังหวัดซินจาร์ที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของไอเอส และฉันจะพูดถึงความป่าเถื่อนที่ฮัจจีข่มขืนฉัน นี่เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของฉัน แต่ฉันพร้อมที่จะบอกเล่าทุกเรื่องราวของฉัน เพราะนั่นเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดเพียงอย่างเดียวที่ฉันมี”
นาเดียระบุว่า “มันไม่ง่ายเลยที่คุณจะบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างของตัวคุณเอง ยิ่งถ้าเป็นบาดแผลในใจด้วยแล้ว ในแต่ละครั้งที่คุณพูดถึงมัน คุณจะหวนระลึกถึงความรู้สึกนั้นเสมอ เวลาที่ฉันเล่าถึงเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น สถานที่ที่ผู้ชายพวกนั้นข่มขืนฉัน แรงฟาดของแส้ที่ฮัจจีเฆี่ยนตีฉันขณะซ่อนกายอยู่ใต้ผ้าห่ม ท้องฟ้าอันมืดมิดของเมืองโมซุลที่ไร้วี่แววสัญญาณที่จะยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ทุกอย่างมันพาฉันกลับไปสู่ห้วงความจำอันเลวร้ายจุดนั้น และฉันคิดว่าผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ตกเป็นเหยื่อก็คงเผชิญชะตากรรมนี้ไม่ต่างจากฉันเช่นกัน”
เรื่องราวของนาเดียเป็นเพียงเครื่องมือที่ดีที่สุดเครื่องมือเดียวที่เธอมีในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย โดยเธอตั้งเป้าจะนำผู้ก่อการร้ายทุกคนมารับโทษให้สำเร็จให้ได้ ซึ่งเธอตระหนักถึงความจริงที่ว่าเธอไม่สามารถแก้ไขและยุติปัญหานี้ได้เพียงตัวคนเดียว เธอจึงจำเป็นต้องร้องขอให้ผู้นำประเทศ โดยเฉพาะผู้นำจากโลกมุสลิม ร่วมกันยืนหยัดและต่อสู้แก้ไขปัญหานี้ร่วมกันกับเธอ ซึ่งเธอหวังว่าเธออยากจะเป็นผู้หญิงคนสุดท้ายบนโลกที่เผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายเช่นนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: