อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) กำลังยื่นเรื่องพิจารณาการออกหมายจับ มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมา ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจจากการก่อรัฐประหารเมื่อต้นปี 2021 ในข้อหา ‘ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ (Crimes Against Humanity) จากกรณีประหัตประหารชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อยในเมียนมา จนเกิดการอพยพครั้งใหญ่ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ
ICC ระบุว่า ทีมอัยการสืบสวนและตรวจสอบอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงญามานานเกือบ 5 ปี โดยการสืบสวนไม่เพียงแต่ถูกขัดขวาง ทั้งจากการไม่สามารถเดินทางเข้าเมียนมาได้ รวมถึงภาวะความไม่สงบทางการเมือง จากการที่กองทัพก่อรัฐบาลยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 1991 ซึ่งขณะนี้อยู่ภายใต้การควบคุมตัวโดยกองทัพ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ทีมสืบสวนพบหลักฐานหลายชิ้นที่มาจากทั้งการให้ปากคำของพยาน หลักฐานเชิงสารคดี เอกสารทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่รับรองความถูกต้อง ทำให้ทีมอัยการของ ICC เห็นพ้องกันว่า ‘มีเหตุอันสมควร’ ที่เชื่อว่า มิน อ่องหล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมาจะต้องรับผิดชอบทางอาญาต่อการเนรเทศและการประหัตประหารชาวโรฮิงญาในเมียนมาและบังกลาเทศ
ถึงแม้ว่าเมียนมาจะไม่ได้เป็นหนึ่งใน 124 รัฐภาคีของ ICC แต่คณะผู้พิพากษาเมื่อปี 2018 และ 2019 เคยระบุว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศมีขอบเขตอำนาจเหนือข้อกล่าวหาในลักษณะที่เป็น ‘การก่ออาชญากรรมข้ามพรมแดน’ (Cross-Border Crimes) โดยบางส่วนเกิดขึ้นในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นรัฐภาคีของ ICC
เบื้องต้นไม่มีกรอบระยะเวลาที่แน่ชัดในการตัดสินใจ แต่โดยทั่วไปมักจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการออกหมายจับ
ท่าทีดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่ทีมอัยการของ ICC กำลังได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หลังเพิ่งตัดสินใจออกหมายจับ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และ โยอัฟ กัลแลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ รวมถึง โมฮัมเหม็ด เดอิฟ ผู้นำฝ่ายทหารกลุ่มฮามาส ในข้อหา ‘ก่ออาชญากรรมสงคราม’ (War Crimes) และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes Against Humanity) จากสงครามอิสราเอล-ฮามาสในฉนวนกาซา
ผลที่จะตามมาคือ หากศาล ICC อนุมัติการออกหมายจับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในรัฐสมาชิก ICC โดยเฉพาะในกรณีของ มิน อ่อง หล่าย รัฐภาคีทั้ง 124 ประเทศมีพันธกรณีที่จะต้องจับกุมตัวพวกเขาตามหมายจับของศาล พร้อมส่งตัวไปขึ้นศาลที่เนเธอร์แลนด์ ด้วยเหตุนี้จึงดูเป็นเรื่องยากที่ผู้ถูกออกหมายจับจะเดินทางไปเยือนประเทศพันธมิตรที่เป็นสมาชิกของศาล ICC
แต่อย่างไรก็ตาม ศาล ICC ก็ไม่ได้มีกลไกในการบังคับใช้หมายจับ ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประเทศสมาชิกเป็นสำคัญ
ภาพ: Reuters
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/international-criminal-court-prosecutor-seeks-arrest-warrant-myanmar-military-2024-11-27/
- https://www.theguardian.com/world/2024/nov/27/international-criminal-court-prosecutor-seeks-arrest-warrant-myanmar-military-leader-min-aung-hlaing
- https://www.hrw.org/news/2024/11/27/myanmar-icc-prosecutor-requests-arrest-warrant