×

สื่อนอกจับตารัฐบาลเมียนมาหาพันธมิตรอื่นเสียบแทน ITD สานต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

13.01.2021
  • LOADING...
สื่อนอกจับตารัฐบาลเมียนมาหาพันธมิตรอื่นเสียบแทน ITD สานต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

รัฐบาลเมียนมาตัด บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ผู้รับเหมาก่อสร้างไทย ออกจากโครงการเศรษฐกิจพิเศษอินโด-แปซิฟิก ระบุปัญหาทางการเงินของ ITD ทำให้การก่อสร้างโครงการทวายล่าช้า หวังเปิดทางผู้เล่นรายใหม่จากต่างประเทศสานต่อโครงการ 

 

สำนักข่าวนิคเคอิเอเชีย รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ITD ได้รับการแจ้งจากรัฐบาลเมียนมาว่า บริษัทไม่เป็นที่ต้องการสำหรับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอีกต่อไป 

 

ทั้งนี้ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นโครงการที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลไทย เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ซึ่งจะเปิดทางให้ธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียได้โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา

 

อย่างไรก็ตาม โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมีความล่าช้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาด้านการจัดหาเงินทุนของ ITD โดย ITD ระบุผ่านแถลงการณ์เมื่อวันอังคารว่า รัฐบาลเมียนมาแจ้งยุติสัมปทานดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าบริษัทไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายได้ 

 

นิคเคอิเอเชียรายงานว่า รัฐบาลเมียนมาต้องการขจัดความไม่แน่นอนของโปรเจกต์ออกไป โดยการตัด ITD ออกจากแผนงานระดับชาติ และหวังจะดึงดูดผู้เล่นต่างชาติรายอื่น เพื่อมาช่วยผลักดันโครงการที่หยุดยาวให้เดินหน้าต่อ 

 

ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอยู่ในฝั่งอันดามัน มีพื้นที่ 200 ตารางกิโลเมตร ITD ได้ลงนามในสัมปทานเมื่อปี 2558 เพื่อดำเนินการสร้างสวนอุตสาหกรรมพร้อมท่าเรือขนาดเล็ก โรงไฟฟ้า และถนน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระยะแรกที่ทวาย 

 

อย่างไรก็ตาม โครงการไม่มีความคืบหน้า และ ITD ไม่กระตือรือร้นที่จะเริ่มดำเนินงานทั้งระยะแรกและระยะต่อเนื่อง ไปพร้อมกันกับญี่ปุ่นและพันธมิตรรายอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลเมียนมาได้แสดงความไม่พอใจมาตลอด

 

ขณะที่ญี่ปุ่นได้ลงนามในสัมปทานกับเมียนมาและไทยในปี 2558 เพื่อเข้าร่วมโครงการและจัดหาเงินทุนสำหรับทวาย ผ่านธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจนกว่าจะสรุประยะแรก

 

ทว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าร่วมการเจรจาระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการนี้ แทนที่จะเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์

 

แหล่งข่าวในเมียนมากล่าวว่า บริษัทของรัฐบาลจีน แสดงความสนใจเข้าเป็นผู้ก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย การตัดสินใจในเดือนพฤศจิกายนของญี่ปุ่นเชื่อว่า มีแรงจูงใจส่วนหนึ่งมาจากความปรารถนาที่จะต่อต้านอิทธิพลของจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้

 

ทั้งนี้ เมียนมามีเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 2 เขต ได้แก่ เขตติลาวา ซึ่งอยู่ใกล้กรุงย่างกุ้ง เริ่มดำเนินการในปี 2558 โดยเป็นความร่วมมือพัฒนาระหว่างรัฐและเอกชนของญี่ปุ่น และเขตเจ้าผิว (Kyaukphyu) ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ได้รับการสนับสนุนจากจีน 

 

สำหรับการเคลื่อนไหวของหุ้น ITD เปิดตลาดวันนี้ (13 มกราคม) ปรับลดลงราว 4.39% มาอยู่ที่ระดับ 1.09 บาท หรือลดลง 0.05 บาท 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising