หากพูดถึงสงครามกลางเมืองในเมียนมา คงต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงที่เมียนมาได้เอกราชจากอังกฤษในปี 1948 โดยกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือกะเหรี่ยง KNU (Karen National Union) กลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธกลุ่มแรกที่ตัดสินใจเคลื่อนพลต่อต้านกองทัพเมียนมา โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในช่วงนั้นคือ การแยกตัวเป็นเอกราช
แต่เนื่องจากทั่วเมียนมามีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ รวมทั้งหมดถึง 135 กลุ่ม ทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่เข้าร่วมในสงครามเรียกร้องเอกราชเกิดขึ้นจำนวนมาก และส่วนใหญ่มาพร้อมกับองค์กรการเมืองที่มีบทบาททั้งการสู้รบและการเจรจา
ขณะที่สงครามนั้นยืดเยื้อและมีการหยุดยิงหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่มก็สลายตัว เปลี่ยนชื่อ เป้าหมาย หรือแม้แต่แปรพักตร์สลับขั้วไปตามผลประโยชน์ที่ได้รับ
ที่ผ่านมาสิ่งที่เป็นความหวังสำหรับสันติภาพในเมียนมาคือ การทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกองทัพและกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement: NCA) ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในเดือนตุลาคม ปี 2015 ก่อนที่เมียนมาจะจัดการเลือกตั้ง และได้รัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของพรรค NLA และ ออง ซาน ซูจี
แต่การรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ทำให้ความพยายามหยุดยิงนั้นสูญเปล่า ไฟแห่งการสู้รบกลับมาลุกโชนอีกครั้ง โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธและกองกำลังใหม่ๆ อย่างเช่น กองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF (People’s Defense Forces) ที่ขับเคลื่อนภายใต้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงาของเมียนมา เข้ามามีบทบาท
สัญญาณการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญปรากฏขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2023 หลังเกิดปฏิบัติการ 1027 ขึ้นในรัฐฉานตอนเหนือ ภายใต้การนำของกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ที่เป็นการรวมตัวกันของ 3 กองกำลังชาติพันธุ์ ซึ่งสามารถเอาชนะและตีค่ายของทหารเมียนมาแตกในหลายเมือง
ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ตัดสินใจเดินหน้าสู่สมรภูมิอย่างจริงจัง ทำให้ภาพของเป้าหมายที่กลุ่มชาติพันธุ์เอาชนะตะมะดอว์เริ่มปรากฏเค้าลางความเป็นไปได้
จากข้อมูลของ Geopolitical Monitor สื่อด้านภูมิรัฐศาสตร์และข่าวกรองระหว่างประเทศจากแคนาดา ระบุว่า ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในเมียนมาที่เคลื่อนไหวอยู่เกินกว่า 25 กลุ่ม โดยส่วนใหญ่ต่อต้านกองทัพ และบางกลุ่มก็อยู่ฝ่ายเดียวกับกองทัพ
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ควรทราบคือ ธรรมชาติของความขัดแย้งที่ไหลลื่นในบางภูมิภาคนั้นหมายความว่า นับจากนี้อาจมีกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อีก เช่นเดียวกับกลุ่มที่มีอยู่ก็อาจสลายตัวไป หรือแม้กระทั่งความเป็นพันธมิตรของแต่ละกลุ่มก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ผลประโยชน์ หรือปัจจัยอื่นๆ
และนี่คือรายละเอียดของตัวละครทั้งหมดที่กำลังมีบทบาทขับเคลื่อนสงครามกลางเมืองเมียนมาในตอนนี้
กองทัพเมียนมา
กองทัพเมียนมา หรือตะมะดอว์ (Tatmadaw) ประกอบด้วยกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหมเมียนมา ซึ่งอยู่ภายใต้สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC) หรือรัฐบาลทหารในปัจจุบัน ที่นำโดยประธานคือ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ภายใต้ปีกของกองทัพเมียนมาที่ปัจจุบันคาดว่ามีกำลังทหารราว 1.3 แสนนายหรือน้อยกว่า ยังมีกองกำลังเสริมอื่นๆ ได้แก่ กองกำลังตำรวจ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force) และกองกำลังอาสาสมัคร
BGF
หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ BGF ในช่วงที่ผ่านมา โดยเป็นกองกำลังที่ทำหน้าที่คุ้มกันชายแดน มีอยู่ในหลายรัฐทั่วเมียนมา และคาดว่ามีจำนวนรวมหลายหมื่นคน ปฏิบัติหน้าที่เหมือนทหารพราน
BGF มีหลายกองพันและหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากในอดีตนั้นคือกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการของกองทัพเมียนมาในปี 2009 ที่เสนอให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าร่วมโครงการก่อตั้ง BGF
โครงสร้าง BGF ในแต่ละกองพันจะมีตัวแทนทหารเมียนมาบังคับบัญชา โดยใส่เครื่องแบบเหมือนๆ กัน และได้รับสวัสดิการจากกองทัพ
BGF ของ พ.อ. ชิต ตู่
กลุ่ม BGF ในรัฐกะเหรี่ยงที่นำโดย พ.อ. หม่อง ชิต ตู่ และก่อนหน้านี้เคยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยแม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่มะละแหม่ง โดยอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘มหาอำนาจ BGF’ จากกองกำลังที่ค่อนข้างมากราว 6,000-8,000 คน และควบคุมพื้นที่สำคัญอย่างจังหวัดเมียวดี ที่อยู่ติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตากของไทย ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าชายแดนที่สำคัญระหว่างไทยและเมียนมาที่มีมูลค่าการค้าปีละนับแสนล้านบาท อีกทั้งยังเป็นแหล่งลงทุนของกลุ่มจีนเทาที่สร้างเมืองคาสิโนและแหล่งอาชญากรรม ทั้งการค้ามนุษย์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ในช่วงสงครามกลางเมืองล่าสุดนี้ กลุ่ม BGF ของ พ.อ. ชิต ตู่ ถูกจับจ้องอย่างมากจากท่าทีสลับขั้วไปมา จากเดิมที่อยู่ฝ่ายกองทัพเมียนมาก็แปรพักตร์ไปจับมือกับฝ่ายตรงข้ามอย่างกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือกะเหรี่ยง KNU และสถาปนาชื่อใหม่เป็นกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง KNA
แต่หลังจากที่ไล่ต้อนทหารเมียนมา กองพัน 275 จนมุม กลุ่ม BGF / KNA นี้กลับเปลี่ยนท่าที ยอมเปิดทางให้ทหารกองพัน 275 ได้กลับเข้าค่ายและชูธงกองทัพ ซึ่งคาดว่าสาเหตุหลักอาจเกิดจากความกลัวที่กองทัพเมียนมาจะทิ้งระเบิดถล่มเมียวดีและเมืองบ่อนคาสิโนที่เป็นแหล่งรายได้ของ พ.อ. ชิต ตู่
กองกำลังอาสาสมัคร
กองกำลังอาสาสมัคร หรือหน่วยทหารบ้าน (Militia Unit) นั้นมาจากกองกำลังป้องกันตนเองตามหมู่บ้านต่างๆ ทั้งชาวเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าต่างๆ ซึ่งทหารพม่าติดอาวุธให้
ฝ่ายต่อต้าน
รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ในสงครามกลางเมืองระลอกล่าสุดนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่เคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพเมียนมาอยู่หลักๆ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ
- กองทัพโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army: MNDAA)
- กองทัพตะอางหรือปะหล่อง (Ta’ang National Liberation Army: TNLA
- กองทัพอาระกัน (Arakan Army: AA)
กลุ่ม 3K-1C-1N
3K
- KIA (Kachin Independence Army): กองทัพเอกราชกะฉิ่น
- Karenni Army: กองทัพกะเหรี่ยงแดง
- KNU (Karen National Union): สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง
1C
- CNA (Chin National Army): กองทัพแห่งชาติรัฐชิน
1N
- NUG (National Unity Government): รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือรัฐบาลเงาเมียนมา มีหน่วยทหารคือกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF (People’s Defence Force)
เป้าหมายของกลุ่มชาติพันธุ์
รศ.ดร.ดุลยภาค ชี้ว่า เป้าหมายของกลุ่มชาติพันธุ์หลายๆ กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพเมียนมามีความแตกต่างหรือสอดคล้องกันในบางอย่าง เช่น ฝ่าย 3K, 1C และ 1N นั้นมีเป้าหมายที่อาจจะดูหัวรุนแรงกว่าคือ ต้องการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจกองทัพเมียนมา และต้องการระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตย (Federal Democracy) หรือการปกครองตนเองในแต่ละรัฐตามระบอบประชาธิปไตย
ส่วนฝ่ายพันธมิตรสามภราดรภาพอาจไม่ได้จริงจังกับการโค่นล้มรัฐบาลทหารขนาดนั้น แม้บางกลุ่มจะสนับสนุนแนวคิดรัฐบาล NUG แต่ก็ต้องการระบอบการปกครองแบบสมาพันธรัฐ (Confederal) หรือรัฐกึ่งอิสระ ที่มีอำนาจปกครองตนเอง แต่ไม่ต้องถึงขั้นแยกตัวจากรัฐบาลกลาง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บางกลุ่มก็อาจมีวาระซ่อนเร้น เช่น การแยกตัวเป็นเอกราช อย่างเช่น กลุ่มกะเหรี่ยง KNU ที่มีแนวคิดสร้างกอทูเล หรือรัฐกะเหรี่ยงที่แยกตัวออกจากเมียนมา ซึ่งเป็นแนวคิดในยุคแรกๆ หลังจากที่เมียนมาได้เอกราชจากอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ดุลยภาค มองว่า ทางออกของสงครามกลางเมืองและเป้าหมายที่ต่างกันในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ อาจทำให้ทุกกลุ่มต้องมุ่งไปที่เป้าหมายหลักๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น เริ่มจากการเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตย ซึ่งในแง่หนึ่งกองทัพเมียนมาก็ยอมรับแนวคิดนี้
“เป้าหมายหลักๆ คือ ต้องเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตย แล้ววาระอื่นๆ ค่อยว่ากัน ทหารเมียนมาก็ยอมรับแนวคิดสหพันธรัฐ แต่เนื้อในแล้วจะออกแบบอย่างไรให้สหภาพไม่ล่มสลาย”
ภาพ: STR / AFP
อ้างอิง:
- https://www.geopoliticalmonitor.com/backgrounder-ethnic-armies-in-the-myanmar-civil-war/
- https://www.dw.com/en/myanmar-civil-war-of-many-against-many-tearing-country-up/a-68938965
- https://en.wikipedia.org/wiki/Myanmar_civil_war_(2021%E2%80%93present)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 4 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมียวดี! ด้านมืดของสงครามและผลประโยชน์ริมฝั่งแม่น้ำเมย
- ใครเป็นใครในการสู้รบเมียวดี ชายแดนไทย-เมียนมา
- สงครามกลางเมืองเมียนมา ตรงไหนยังเป็นจุดสู้รบเดือด อนาคตที่ยังมืดมน?