Peppermint Town เป็นผลงานอัลบั้มที่ 2 ของ My Life As Ali Thomas วงอินดี้โฟล์กป๊อปสัญชาติไทย ที่ยังคงถ่ายทอดด้วยภาษาอังกฤษทั้งหมดเช่นเดียวกับอัลบั้มแรกที่มีชื่อว่า Paper เมื่อสํารวจโหวงเฮ้งจากชื่อวงแล้ว เราแอบเดาว่าต้องมาสายลึกแน่นอน ตั้งแต่ข้อสงสัยที่ว่า Ali Thomas คือใครกันหนอ หรือเขาเป็นสายลับที่ปิดบังตัวตนที่แท้จริงเพื่อภารกิจบางอย่าง หรือเขาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่แอบใช้ชีวิตแฝงรวมอยู่กับปุถุชน ถ้าเป็นจักรวาล DC เมื่อแบทแมนทําเพลงขึ้นมาสักเพลง เขาอาจจะใช้ชื่อศิลปินว่า My Life As Bruce Wayne… แต่ถ้าเป็นจักรวาล Marvel สไปเดอร์แมนอาจแอบปล่อยสตรีมมิงเพลงของตัวเอง และใช้นามแฝงว่า My Life As Peter Parker…
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะพาหลุดไปไกลกว่านี้ โชคดีที่มีชื่อศิลปินวงหนึ่งผุดพรวดขึ้นมาในความคิด อันพาให้ทฤษฎีและบทวิเคราะห์ต่างๆ ของเราเป็นโมฆะไปในบัดดล… ต้องขอขอบคุณวง Michael Learns to Rock มา ณ ที่นี้ด้วย แล้วมาเริ่มเข้าประเด็นจริงจังกันเสียที ให้สมกับความจริงจังที่สัมผัสได้จากผลงานของ พาย-กัญญภัค วุธรา, แร็ก-วิภาต เลิศปัญญา และ ตาว-วรรณพงศ์ แจงบํารุง ในนามของ My Life As Ali Thomas
เดิมทีเรารับรู้ถึงเอกลักษณ์ของ My Life As Ali Thomas มาตั้งแต่ผลงานชิ้นแรกของวงแล้ว เพราะเราเองก็แอบติดตามแบบห่างๆ อยู่เนืองๆ จนมาถึงอัลบั้ม Peppermint Town เราก็ยังคงรู้สึกถึงกลิ่นอายและสีสันแบบนี้ที่สืบเนื่องกันมา ในแง่ของความเป็นอัลบั้มที่ 2 กับแนวทางนี้อาจไม่ได้ทําให้เรารู้สึกประหลาดใจมากนัก เพราะทางวงไม่ได้เลือกที่จะเซอร์ไพรส์หักมุมเปลี่ยนแนวกะทันหันแบบที่ศิลปินบางวงเลือกที่จะทดลองทํา
กล่าวคือ อัลบั้มใหม่นี้ยังคงทําให้เราหวนระลึกถึงอัลบั้มที่แล้ว ไหลยาวมาแบบไม่สะดุด ประดุจภูษาไร้รอยต่อ ถ้ามองเป็นภาพยนตร์ก็คงจะเป็นเหมือนเอพิโสดใหม่ในไตรภาคเดิม และ Peppermint Town ก็เป็นภาคต่อจากอัลบั้ม Paper ซึ่งเมื่อแนะนําตัวกันให้รู้จักมักจี่กันไปในภาคแรกเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่ทางวงจะลงลึกถึงความเข้มข้นขึ้นในแนวทางเดิมโดยไม่ต้องเสียเวลามารีแคป
ถ้าเปรียบเป็นก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น Peppermint Town ก็คงเป็นนํ้าซุปก้นหม้อที่ผ่านการเคี่ยวกรําจนรสชาติเข้มข้นขึ้นกว่าซุปเปิดฝาหม้อ แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานทั้ง 2 ชิ้นนี้ก็ยังคงรสชาติของความเป็นนํ้าซุปหม้อเดียวกัน ที่เสิร์ฟในเวลาที่แตกต่าง
สีสันของ Peppermint Town ดูมีความจงใจให้ถึงเครื่องมากขึ้น ชนิดที่ว่าจ้วงช้อนลงไปแล้วเจอโป๊ยกั๊ก เมล็ดผักชี และใบกระวานเทศติดขึ้นมาด้วย สังเกตได้ถึงความไม่ประนีประนอมในการจัดวางองค์ประกอบแบบตามใจฉัน ไม่ยึดติดกับแพทเทิร์นเดิมๆ แบบ A ไป B แล้วซัดฮุกไปซะทุกเพลง แต่ก็ยังคงฟังได้ต่อเนื่องไม่ขัดหู แถมกลับได้มาซึ่งความลื่นไหลออร์แกนิกและความเป็นมนุษย์นิยมอันหาได้ยาก
นับตั้งแต่วันที่เราเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีนําพาให้ใช้ความรู้สึกน้อยลง พอมาเจออัลบั้มนี้เข้าไป เราแทบจะเจอกับลมปะทะแห่งความรู้สึกล้วนๆ เลยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อมาบรรจบกับเนื้อเพลงที่สะท้อนมุมมองอันเป็นส่วนตัวมากๆ จนเหมือนเอาไดอะรีทางอารมณ์มาเขียนเป็นเพลง อุปมาโวหารที่ล่องลอยอย่างเซอร์เรียลเหมือนควันย่างเนื้อเซอร์ลอยน์รมสมุนไพรสายพันธุ์อินดิกาพาเพลิน ช่วยปลดล็อกความพยายามวิเคราะห์ในเชิงเหตุผลให้เราปล่อยๆ และผ่อนคลายขึ้น แล้วคอยนั่งตั้งรับอารมณ์ความรู้สึกที่ทางวงสาดใส่เข้ามา
ในอัลบั้มนี้มีทั้งอารมณ์รักแบบรักชุ่มๆ สุดพรรณนาแบบเพลง Baby, I Love You แต่ละบรรทัดที่ร้อยเรียงกันมาทําให้เราแอบเชื่อว่าเพลงนี้น่าจะแต่งมาจากความรู้สึกจริงที่มีต่อใครคนหนึ่งที่มีตัวตนจริงๆ, มีเพลงอกหักแต่ไม่ฟูมฟาย และยังทิ้งท้ายด้วยความหวังอย่าง My Red Golden Sun, และมีเพลงร็อกร้อนๆ อย่าง RINN ที่ทําเราแอบเกาหัวว่าทางวงต้องการจะสื่ออิหยัง
แต่ก็มีเพลงป๊อปที่ฟังง่ายสุดๆ อย่าง Dear All The Universe ให้เราได้เห็นถึงมุมน่ารักของ My Life As Ali Thomas ซึ่งก็นับว่าเป็นอัลบั้มที่ครบรสเลยทีเดียว การร้อยเรียงลําดับเพลงก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้อัลบั้มนี้น่าสนใจ ด้วยเส้นกราฟของอารมณ์ที่ต่อเนื่อง ทําให้เรารู้สึกว่านี่เป็นการฟัง 10 เพลงที่ผ่านไปรวดเร็วมาก แต่มาสะดุดเอ๊ะหน่อยนึงกับแทร็กปิดท้ายอย่าง Ocean ที่ทําเอาเรามึนใช้ได้กับความรู้สึกที่เหมือนดูหนังที่จงใจจบแบบไม่คลี่คลาย มีการทิ้งปมปริศนาให้ To be continued หรือนี่คือกุศโลบายที่ทางวงวางไว้ให้เรารู้สึกอยากฟังภาคต่อจริงๆ?
เพลง Ocean ฟังดูเป็นแนวโปรเกรสซีฟ แต่ทั้งหมดนี้ก็ถูกนํามาปรุงให้เป็นเนื้อเดียวกันด้วยภาคดนตรีที่เน้นกีต้าร์ฟุ้งๆ ของแร็กเป็นบรรยากาศ และริฟฟ์กีต้าร์แบบเซิ้งๆ คล้ายเพลงพื้นบ้านหน่อยๆ (Coldplay ช่วงหลังๆ ก็ชอบใส่ริฟฟ์เซิ้งๆ นะ) บวกกับแพทเทิร์นกลองตุ๊บตั๊บที่ฟาดทอม-ทอมเยอะๆ ของตาว ยิ่งพาให้รู้สึกถึงการจําลองดนตรีแบบชนเผ่า Native อะไรสักอย่างด้วยเครื่องดนตรีสากล ไม่รู้นี่คือความจงใจหรือเราคิดไปเอง จนภาพรวมที่อออกมาฟังดูขลังไปเลย เหมือนหลุดไปอยู่ท่ามกลางพิธีกรรมหรือการละเล่นพื้นถิ่นบางอย่างของชาวอินเดียนแดงหรืออะบอริจิน เราก็เดาไปเรื่อย และยังแบ็กอัพด้วยกลุ่มเครื่องสายอลังการดาวล้านดวง ราวกับอํานวยการสร้างโดยพี่ไก่ วรายุฑ
ประเด็นน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ My Life As Ali Thomas คือ มันยากที่จะจัดวางว่าวงนี้อยู่ในหมวดหมู่ไหน และมีศิลปินใดบ้างที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน เพราะแต่ละเพลงมีความผสมปนเปของดนตรีหลายๆ แนวในสัดส่วนที่มากบ้างน้อยบ้าง บางเพลงก็มีกลิ่นบริตป๊อปจ๋าไปเลย บางเพลงก็ออกแนวย้อนยุคไปไกลถึงยุค 50-60 โน่นเลย
แต่ทว่าสิ่งที่เรารู้สึกว่าโดดเด่นที่สุด และเป็นกุญแจสําคัญที่นําไปสู่การพัฒนาไอเดียจนเกิดเป็นอัลบั้มที่เสร็จสมบูรณ์สําหรับเคสนี้คือ ‘ทํานอง’ หรือเมโลดีของพาย ที่มีความวินเทจจริงจัง ชนิดที่เราเดาว่าคลังเพลงที่ไหลเวียนอยู่ในตัวเธอกับสิ่งที่เธอฟังสั่งสมมา น่าจะเป็นเพลงจําพวกเก่าแก่แบบ Golden Oldies โน่นเลย จึงได้กลิ่นสีที่ละม้ายได้ขนาดนี้ สามารถเอาไปเล่นร่วมกับเพลงที่เขานิยมเล่นในสเต๊กเฮาส์แนวคาวบอย เช่น Donna Donna – Joan Baez, 500 Miles – Peter, Paul & Mary, The House of the Rising Sun – The Animals, Today – The New Christy Minstrels, Let it be me – The Everly Brothers อะไรประมาณเทือกๆ นั้นได้เลย
ถึงแม้พายจะไม่ได้ยกเอาความความเรียบซื่อตรงไปตรงมาของเนื้อเพลงสมัยนั้นมาใช้ แต่สังคมปัจจุบันเราก็ซับซ้อนขึ้นจนพาให้ชุดความคิดของคนยุคนี้ต่างไปไกลแล้วอย่างไม่น่าแปลกใจอะไร มาถึงจุดนี้ทําให้เรานึกถึงศิลปินชาวอังกฤษอย่าง Duffy กับอัลบั้ม Rockferry ในปี 2008 ที่ทําผลงานได้ออกมาย้อนยุคจริงๆ แบบไม่ต้องพยายาม เพราะเธอโตมากับการฟังเพลง Oldies โดยไม่ได้สนใจเพลงวัยรุ่นตามเพื่อนๆ ร่วมวัยเลย
เราไม่ได้บอกว่าทํานองเพลงของพายไปเหมือนกับ Duffy นะ แต่อาจจะมีวัตถุดิบตั้งต้นและกระบวนการคิดที่คล้ายกัน จึงมีผลลัพธ์ที่น่าสนใจเบอร์เดียวกัน อย่างที่เราเห็นได้ชัดในเพลง Baby, I Love You หรือ Tears of a Clown ถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นพระมหากูรูมาจากไหน แต่ก็อยากนิยามดนตรีเก๋ๆ แนวนี้ด้วยคําศัพท์อันย้อนแย้งว่าเป็นเพลงแนว ‘Neo-Oldies’ ดีไหม
และในเมื่อโครงเพลงมันมาแบบนี้ ‘งานโปรดักชันเสียง’ ที่มารับไม้ต่อก็นําไอเดียตั้งต้นมาขยายความให้เห็นภาพพจน์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก จนเราต้องเลื่อนไปส่องดูเครดิตว่าใครเป็นคนทํา ซึ่งก็คือ Shane Edwards มือมิกซ์-มาสเตอริ่งอันดับต้นๆ ของบ้านเราคนหนึ่งนั่นเอง เรื่องนี้เราต้องขอยกขึ้นมาชื่นชมชัดๆ จริงๆ เพราะเป็นสิ่งสําคัญที่ถูกมองข้ามไปเสมอในหลายๆ ผลงานของศิลปินไทยอย่างน่าเสียดาย มิติการจัดวางตําแหน่งเสียง การปรับจูนคาแรกเตอร์เครื่องดนตรี และการใช้เอฟเฟกต์ที่ช่วยผลักดันเพลงให้ถึงอารมณ์มากขึ้น Reverb หลายเลเยอร์ที่เหมือนพาเราไปอยู่ในม่านหมอกแห่งจินตนาการของคุณ Ali Thomas ความขมุกขมัวของเสียงร้องที่เซอร์จัดๆ กับเอฟเฟกต์เปื้อนสนิมเขรอะๆ กรุ่นไออดีต ที่บอกได้เลยว่าศิลปินไทยหลายคนไม่กล้าทํา เพราะกลัวไม่ป๊อปในสายตาประชาราษฎร์ แต่คุณ Ali Thomas กล้าที่จะไม่ประนีประนอมในสิ่งนี้ และพามันไปให้สุดแบบไม่แคร์ยายมิ่งยายเมี้ยนผู้หมายปองหลุยส์ วิตตอง
อัลบั้ม Peppermint Town เป็นผลงานที่มีความเป็นส่วนตัวสูงมากถึงขั้นอินโทรเวิร์ต โดยเฉพาะเสียงร้องของพายที่เหมือนฮัมกับตัวเองอยู่ในโลกส่วนตัวของเธอ ดังนั้นผลงานชิ้นนี้จึงอาจไม่ได้เป็นเพลงสําหรับมวลชนหมู่มาก นี่ไม่ใช่ผลงานที่ My Life As Ali Thomas จะพากระโจนทะยานออกไปประกาศศักดาบนยอดตึกมหานครว่าข้ามาแล้วนะ และไม่ใช่เพลงที่เหล่า TikTok ไอดอลจะเอาไปใช้ประกอบโชว์จินตลีลาทางวัตถุนิยม
แต่ในทางกลับกัน อัลบั้มนี้เหมือนเป็นการเชื้อเชิญให้แขกเหรื่อเข้ามาฟังเพลงในบ้านอันอบอุ่นของพวกเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ตกแต่งคุมโทนไว้แล้ว จัดไว้สําหรับเพื่อนที่รู้ใจหรือใครที่อยากเข้ามาทดลองฟัง และท้ายที่สุดแล้ว เราเองก็อยากสนับสนุนเต็มที่ให้มีนักฟังเพลงกลุ่มใหม่ๆ กล้าเปิดใจเข้าไปสํารวจในพื้นที่ส่วนตัวของพวกเขากันเยอะๆ หรืออาจจะทีละน้อย แต่หลายๆ รอบ จนขยายกลุ่มคนฟังเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะนี่เป็นอีกอัลบั้มหนึ่งที่จะเซ็ตมาตรฐานใหม่ของศิลปินไทยในหลายๆ แง่มุม และเป็นสิ่งดีๆ สิ่งหนึ่งที่บังเกิดขึ้นในปีห่วยๆ อย่างปี 2021 นี้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล