ซีรีส์เกาหลีในช่วงหลังมีหลายเรื่องทีเดียวที่สอดแทรกประเด็นทางสังคมเข้ามาได้อย่างงดงาม ไม่ว่าจะเป็น Something in the Rain ที่เกี่ยวข้องกับแคมเปญ #MeToo ยุติการล่วงละเมิดผู้หญิงในที่ทำงาน หรืออย่าง Life ซีรีส์ที่เปิดเผยเบื้องหลังวงการแพทย์ เมื่อธุรกิจเข้ามาครอบงำโรงพยาบาล เหล่านี้จะเรียกว่าเป็นยาขมที่ใส่ไว้ในขนมหวานก็คงไม่ผิดนัก
My ID is Gangnam Beauty (2018) ก็เช่นกัน ซีรีส์เลือกเล่าประเด็น Bullying ที่ผู้หญิงทุกคนน่าจะเคยผ่านมาแล้ว ทั้งเรื่องรูปร่างหน้าตาที่เป็นหัวใจหลักตามชื่อเรื่อง รวมไปถึงชีวิตในวัยเรียนที่ส่องสะท้อนให้เห็นว่าเราอดทนอยู่ในสังคมที่เชิดชูภาพลักษณ์ภายนอกมากกว่าการให้ความสำคัญกับตัวตนและจิตใจข้างในอย่างแท้จริง
My ID is Gangnam Beauty คือซีรีส์ที่สร้างมาจากเว็บตูน (Webtoon) ชื่อเดียวกันในปี 2016 นำแสดงโดย อิมซูฮยาง (Im Soo Hyang), ชาอึนอู (Cha Eun Woo), โจอูรี (Jo Woo Re), กวักดงยอน (Kwak Dong Yeon) มีทั้งหมด 16 ตอน ออกอากาศทาง JTBC ทุกวันศุกร์และเสาร์
เรื่องราวของ ‘คังมีแร’ ผู้หญิงที่ถูกล้อมาตั้งแต่เด็กเรื่องน้ำหนักตัว จนเมื่อลดน้ำหนักและออกกำลังกายจนรูปร่างดีแล้ว ก็ยังถูกล้อเรื่องหน้าตาจนขาดความมั่นใจในตัวเอง ทั้งยังวิตกกังวลกับคำพูดของคนอื่น ก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เธอตัดสินใจทำศัลยกรรมพลาสติกทั้งหน้า เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะเฟรชชี่ปีหนึ่ง แต่ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย คังมีแร ได้พบกับ โดคยองซอก เพื่อนจากโรงเรียนมัธยมที่มาเรียนอยู่เอกเคมีเดียวกัน และอาจทำให้ความลับเรื่องใบหน้าเก่าของเธอเปิดเผย ที่แน่ๆ การศัลยกรรมยังคงเป็นเรื่องตามมาหลอกหลอน เพราะหลังจากหน้าตาดีแล้ว คังมีแรยังต้องต่อสู้กับคำนินทาว่าเธอเป็น ‘นางงามกังนัม’ หรือผู้หญิงที่ไปทำศัลยกรรมมาทั้งใบหน้า!
ยิ่งซีรีส์ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ เราพบว่านอกจากเส้นเรื่องหลักที่เกี่ยวกับความรักที่ต้องลุ้นระหว่างคังมีแรและโดคยองซอก ยังมีเส้นเรื่องที่ย้ำให้ผู้หญิง ‘รักในตัวตนที่เป็น’ แสดงผ่านทั้งตัวคังมีแรและตัวละครผู้หญิงที่อยู่รายล้อม ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่ลุคทอมบอยที่ไม่ยอมแต่งตัวหญิงๆ เพื่อให้ผู้ชายมารัก รุ่นพี่เจ้าเนื้อที่ถูกล้อเลียนให้ลดน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าการดูซีรีส์เรื่องนี้คือเพื่อนที่พาเรามองย้อนไปยังอดีตของตัวเองในวัยที่ต้องเรียนรู้และก้าวข้ามผ่าน กว่าจะค้นพบว่ารูปลักษณ์ภายนอกก็คือเรื่องของภายนอก ความงามจากข้างในต่างหากคือสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
เราตีค่าความงามที่ตรงไหน
จะเห็นว่าซีรีส์ไม่เคยฉายให้เห็นภาพของคังมีแรก่อนที่จะศัลยกรรม นั่นเพราะทางผู้กำกับ ชเวซองบอม (Choi Sung-bum) ไม่ต้องการให้คนดูตีความไปเอง และสร้างกรอบความคิดว่าแบบไหนคือความงาม “โทรทัศน์มีอิทธิพลกับคนดูมากนะครับ โดยเฉพาะซีรีส์ดราม่าที่เกี่ยวกับประเด็นที่อ่อนไหวอย่างรูปลักษณ์ภายนอก และการทำศัลยกรรมพลาสติก เป็นไปได้ทีเดียวว่าคนจะตีความสิ่งที่เห็นบนจอไปในทางที่ผิด”
ชเวซองบอมยังอธิบายอีกว่า ที่เขาเลือกไม่ฉายให้เห็นใบหน้าก่อนทำศัลยกรรมของคังมีแรในชั้นมัธยม เพราะในความจริงแล้วมันไม่ได้มีมาตรวัดที่บอกว่าอะไรคือสวยหรือไม่สวย “ที่ในซีรีส์มีการฉายภาพย้อนอดีต ไม่ใช่ให้เห็นตัวละคร แต่ผมอยากให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและสิ่งที่เธอต้องเจอมาตลอด จนตัดสินใจทำศัลยกรรม”
สังคมที่เราเติบโตมาหล่อหลอมมาแบบนี้หรือเปล่า ยกย่องความงามภายนอกทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ตัวละครซึ่งถูกตัดสินมาตั้งแต่เด็กว่าน่าเกลียด อย่างคังมีแร ยังติดนิสัยให้คะแนนความงามใบหน้าทุกคนที่ได้เจอ ซึ่งสุดท้ายเป็นพระเอกของเรื่องอย่างโดคยองซอกที่มาพูดเตือนสติ “ยังคอยให้คะแนนคนอื่นในใจอยู่อีกเหรอ มันเป็นสิ่งที่บั่นทอนตัวเธอเองมาก่อนไม่ใช่เหรอ ถ้าเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ไม่ว่าเธอหน้าตาเป็นยังไงก็คงจะทรมานอยู่ดี”
แน่นอนว่าซีรีส์เรื่องนี้ค่อยๆ ให้ประสบการณ์ตัวละครได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ว่าสิ่งที่อยู่ข้างในใจแต่ละคนอาจตรงข้ามกับใบหน้าที่เธอตีคะแนนให้เช่นกัน
เมื่อผู้หญิงสวยที่สุดกลายเป็นตัวร้าย
ฮยอนซูอา นักศึกษาในเอกเคมีชั้นปีเดียวกับคังมีแรและโดคยองซอก เธอคือตัวละครที่น่าสนใจและซับซ้อน เพราะภายใต้ใบหน้าสวยงามเป็นธรรมชาติ เธอกลับโกหกสร้างภาพให้ชีวิตดูดีงามตามหน้าตาไปด้วย เพียงเพื่ออยากได้การยอมรับและเป็นที่รักที่สุดตลอดไป โดยไม่ได้สนใจว่าจะสร้างความเจ็บปวดอะไรให้กับคนรอบตัว
ตามปกติคนที่สวยโดดเด่นที่สุดจะเป็นนางเอก แต่ซีรีส์เรื่องนี้เลือกนักแสดงมารับบทร้ายได้อย่างน่าสนใจ ฮยอนซูอา โดดเด่นไม่แพ้นางเอก ทั้งคอสตูมที่ดูดีกว่าในหลายครั้ง และรอยยิ้มที่ทำให้หลายคนลืมไปเลยว่ามีอะไรซ่อนไว้ภายใต้หน้ากากนั้น
เมื่อซีรีส์ดำเนินไปถึงจุดคลี่คลายของเรื่องราว ต้องติดตามว่าตัวละครนี้จะไปในทิศทางใด ร้ายให้สุดทางหรือพบกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ให้เรียนรู้ ซึ่งเราเชื่อว่าน่าจะเป็นอย่างหลัง เพราะจุดประสงค์ของซีรีส์คือการให้ผู้หญิงรักในตัวตนที่เป็น กระทั่งคนที่เลือกเดินทางผิด ถ้าทุกคนให้โอกาส เขาหรือเธอก็ควรได้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้เช่นกัน
การรวมพลังของเพื่อนหญิงพลังหญิง
อย่างหนึ่งที่สำคัญมาก คือซีรีส์เลือกเล่าเรื่องผ่าน คังมีแร ผู้หญิงที่ไม่เคยมีตัวตนในโรงเรียนมาก่อน ขณะที่ตัวละครรายล้อมต่างก็เป็นตัวแทนความหลากหลายของผู้หญิง ทั้งเพื่อนสนิทของคังมีแรที่ตัวเล็กจนต้องใช้ไม้เบสบอลไซส์เด็ก รุ่นพี่เจ้าเนื้อที่โดนล้อเรื่องน้ำหนักตัว รุ่นพี่ปี 2 ลุคทอมบอยที่ไม่อยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเองเพื่อผู้ชาย รวมไปถึงแม่ของโดคยองซอกที่มองว่าความสวยที่เธอมีเป็นทั้งของขวัญและคำสาป
พวกเธอเหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากผู้หญิงในสังคม มีหลายฉากที่แสดงให้เห็นปัญหาการล่วงละเมิด แต่ฉากที่ยกเป็นตัวอย่างได้ดีที่สุดเป็นฉากที่รุ่นพี่ผู้ชายให้ผู้หญิงหน้าตาดีในชั้นปีใส่ชุดเซ็กซี่เพื่อเป็นพนักงานเสิร์ฟในงานแฟร์ของมหาวิทยาลัย ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติแบบนี้ในสังคมมหาวิทยาลัยที่ในซีรีส์บอกว่าเป็น ‘อันดับต้นๆ’ ของประเทศ และการที่ไม่มีใครลุกมาต่อต้านเลยก็คงเหมือนกับความรู้สึกของคังมีแรที่เลือกเก็บตัวอยู่เงียบๆ ไร้เสียง ไร้ตัวตนตลอดเวลาก่อนทำศัลยกรรม
สุดท้ายก็ต้องเป็นพวกเธอเองที่รวมพลังกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ฉากที่งานแฟร์ในวันต่อมาไม่มีผู้หญิงมาช่วยงานคณะ และทิ้งไว้เพียงเสื้อยืดซิกซ์แพ็กให้รุ่นพี่ชายใส่ไปเสิร์ฟ อาจเป็นการแก้เผ็ดเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และทำให้ตัวละครหญิงในเรื่องเริ่มมีปากมีเสียง กล้าที่จะยืนยันในความถูกต้องว่าผู้ชายควรให้ค่าและปฏิบัติกับผู้หญิงอย่างไร
เริ่มต้นรักตัวเองก่อน
ไม่ต้องรอเจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วย ผู้หญิงเข้มแข็งและต่อสู้เพื่อความถูกต้องได้เช่นกัน เอาเข้าจริงในซีรีส์ โดคยองซอกเป็นเหมือนเจ้าชายที่คอยมาช่วยเหลือในสถานการณ์คับขันทุกครั้ง แต่ชีวิตจริงเป็นอย่างนั้นหรือ
มีฉากหนึ่งที่โดคยองซอกบอกว่า “เธอเท่มาก” หลังจากที่คังมีแรฮึดสู้ จนตอกกลับเพื่อนร่วมโรงเรียนเก่าที่ตามมา Bullying ถึงมหาวิทยาลัย ถึงตอนนี้เหลืออีกไม่กี่อีพีซีรีส์จะจบ เราขอเป็นกำลังใจให้คังมีแรลุกขึ้นมาปกป้องดูแลตัวเองให้ได้ เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องเป็นตัวเธอเองที่เริ่มต้นรักและให้คุณค่าตัวเองก่อน ซึ่งแน่นอนว่าทำได้แล้ว มันจะเท่มาก
ตัวอย่างซีรีส์ My ID is Gangnam Beauty
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า