×

รวม ‘เรื่องต้องรู้’ ในการประชุม WEF ที่ดาวอส ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำถกเครียด ‘เศรษฐกิจโลก-ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ’

17.01.2023
  • LOADING...

ถือเป็นงานประชุมใหญ่ประจำปีที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกอย่างล้นหลาม สำหรับการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสามารถกลับมาจัดประชุมแบบพบหน้าค่าตากันได้ตามปกติอีกครั้งเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2020 ท่ามกลางความพยายามของบรรดาผู้นำในการสร้างสะพานเชื่อมทางการเมืองในโลกที่แตกแยก ประคับประคองเศรษฐกิจที่ซบเซา และจัดการกับข้อกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ทั้งนี้ คาดว่าเวทีการหารือในประเด็นต่างๆ เช่น อนาคตของปุ๋ย บทบาทของกีฬาในสังคม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และอื่นๆ อีกมากมาย จะมี CEO แนวหน้าของโลกเกือบ 600 คน และผู้นำประเทศมากกว่า 50 ชาติ เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างคึกคัก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

แม้ว่าจะไม่เคยมีความชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมหลังการประชุม World Economic Forum แต่ก็ถือเป็นงานอีเวนต์สำคัญประจำปีที่ต้องจับตามอง โดยสำนักข่าว AP ได้รวบรวมประเด็นที่ต้องติดตามสำหรับการประชุม 4 วันนี้ 

 

1. ใครเข้าร่วมประชุมบ้าง? 

 

ผู้เข้าร่วมที่โดดเด่นที่สุดหนีไม่พ้นเจ้าภาพอย่างประธานคณะกรรมาธิการยุโรปอย่าง อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ตามด้วยตัวแทนทูตด้านสภาพภูมิภาคของสหรัฐฯ อย่าง จอห์น เคอร์รี และประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ โคลอมเบีย และฟิลิปปินส์

 

แน่นอนว่าคนสำคัญที่ขาดไม่ได้คือตัวแทนจากสองชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งและเบอร์สองของโลกอย่างสหรัฐฯ กับจีน 

 

โดยจีนได้ส่ง หลิวเหอ รองนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม ซึ่งจะขึ้นกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมในวันนี้ (17 มกราคม) ก่อนจะเดินทางไปพบปะพูดคุยหารือกับ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่เมืองซูริก ในวันพุธที่ 18 มกราคม โดยทั้งสองจะแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และกระชับความร่วมมือในการติดต่อสื่อสารระหว่างสหรัฐฯ และจีน ดังนั้นจึงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเยลเลนจะไม่เข้าร่วม World Economic Forum ในครั้งนี้ 

 

2. ประเด็นเงินเฟ้อยังถูกหยิบยกมา ‘ถกเถียง’

 

ในส่วนของประเด็นที่ต้องจับตามอง แน่นอนว่าอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงมีแนวโน้มจะขยับพุ่งขึ้นอีกหลังจากที่ทั่วโลกกลับมาเปิดพรมแดนเดินทางได้ตามปกติกันอีกครั้ง ขณะที่สงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อทำให้ราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้น โดยเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ยังคงต้องกัดฟันเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อสูง

 

คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุในบล็อกโพสต์ของ IMF เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 มกราคม) ว่าหัวข้อที่ดาวอสในปีนี้คือ “ความร่วมมือในโลกที่แตกเป็นเสี่ยง” โดยมีการแบ่งแยกระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นกำลังทำให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยงด้วยการปล่อยให้ “ทุกคนยากจนลงและมีความมั่นคงปลอดภัยน้อยลง” ซึ่งในมุมมองของผู้อำนวยการ IMF เห็นว่า การกระตุ้นให้การค้าทั่วโลกแข็งแกร่งขึ้น จะช่วยประเทศที่เปราะบางในการจัดการกับหนี้ และเพิ่มการดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศได้ดีขึ้น 

 

3. Climate Change และพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ 

 

สำหรับประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในลำดับแรกสุดย่อมหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change โดยประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศคือการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด ซึ่ง อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะนำเสนอแนวทางเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ความพยายามในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด และรับประกันการเปลี่ยนผ่านที่เท่าเทียมกัน

 

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2022 หลายประเทศดำเนินการด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังคงติดขัดกับการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่าน 

 

ขณะที่ประเด็นร้อนเกี่ยวกับพลังงานสะอาดที่ได้รับความสนใจอย่างมากก็คือ การใช้ประโยชน์จากนิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่งจะช่วยปลดล็อกความต้องการใช้พลังงานมหาศาลของโลกในอนาคต โดยหัวข้อที่พูดคุยกันจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เนื่องจากความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ยังคงต้องอาศัยเวลาอีกหลายสิบปี 

 

ส่วนหัวข้อเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการประชุมเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และอนาคตของการปกป้องสิ่งแวดล้อม จะทำให้การประชุม World Economic Forum ครั้งนี้มีสีสันมากขึ้น

 

4. วิเคราะห์ตามความเป็นจริงมากขึ้น

 

สำหรับประเด็นสุดท้ายที่ต้องจับตามองก็คือเหล่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย เพราะการประชุมของเหล่าชนชั้นสูงมักถูกนักวิจารณ์เบี่ยงประเด็นอยู่เสมอ โดยนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งมองว่า การประชุมดังกล่าวขาดความเข้าใจในบริบทความเป็นจริงของแต่ละประเทศ และบรรดานักธุรกิจหรือผู้นำประเทศที่เข้าร่วม มุ่งหวังผลกำไรหรือมีอำนาจมากเกินไปที่จะตอบสนองความต้องการของผู้คนทั่วไปและโลกใบนี้ได้

 

ทั้งนี้ ตลอดการประชุม World Economic Forum บรรดานักวิจารณ์และนักเคลื่อนไหวจะรออยู่นอกศูนย์การประชุมดาวอส เพื่อพยายามให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจและผู้นำธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังมากขึ้น 

 

ด้านองค์กรอิสระที่เคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่าง Greenpeace International ยังออกโรงประกาศว่า การประชุมดังกล่าวทำให้โลกร้อนขึ้น เพราะการเดินทางโดยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวหลายร้อยเที่ยวของบรรดา CEO และผู้นำประเทศทั้งหลาย ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้น ซึ่งประธาน World Economic Forum อย่าง บอร์เก เบรนด์ ยอมรับว่า มีผู้นำรัฐบาลและ CEO บางคนบินด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ก่อนแย้งว่าสาระสำคัญของ World Economic Forum คือการทำให้แน่ใจว่า ผู้นำและนักธุรกิจชั้นนำทั่วโลกมีข้อตกลงร่วมกันในการเคลื่อนไหว และผลักดันเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising