×

‘ถอดรหัสไทย’ นิทรรศการใหม่ของ ‘มิวเซียมสยาม’ ที่มาพร้อมกับ ‘หมุดคณะราษฎร’ ที่สาบสูญ

19.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • หลังจากการศึกษาวิจัยข้อมูลกว่า 4 ปี รวมไปถึงการปิดสถานที่เพื่อรีโนเวตและติดตั้งงานแสดงชิ้นใหม่อีกกว่าปีครึ่ง มิวเซียมสยามและนิทรรศการถาวรเรื่องใหม่ ‘ถอดรหัสไทย’ พร้อมให้บุคคลทั่วไปเข้าชมแล้วในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่กำลังจะถึงนี้
  • ความน่าสนใจในห้องหมายเลข 3 ที่ชื่อว่า ‘ไทยตั้งแต่เกิด’ คือการใช้เทคโนโลยี ‘Hydraulic Module’ นำเสนอเรื่องราวความเป็นไทยที่รวบรวมมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคฟองสบู่แตก และมีแม้กระทั่งนางงามจักรวาล พี่ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก
  • ห้องหมายเลข 9 ‘ไทยวิทยา’ คือห้องที่ขอสรรเสริญว่า ‘กล้าเล่า’ และ ‘ประเด็นดี’ อย่างน่าชื่นชม ด้วยเรื่องของพัฒนาการทางการศึกษาไทยตั้งแต่ยุค 2475 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ที่สอดแทรกประเด็นเรื่องแนวคิดการสร้างชาติไว้
  • ความ ‘พีค’ ที่สุดของห้องเบอร์ 2 ‘ไทยแปลไทย’ คือเราจะได้เห็น ‘หมุดคณะราษฎร’ ในตำนานที่หายสาบสูญกันแบบเต็มๆ ตา ซึ่งทางมิวเซียมสยามยังขออุบเอาไว้ก่อนว่าจะมาในรูปแบบไหน

     ขึ้นชื่อว่าพิพิธภัณฑ์แล้ว คนไทยส่วนใหญ่คงนั่งหาวอ้าปากหวอ พร้อมทั้งเชื่อไว้ก่อนว่าน่าเบื่อก่อนก้าวเท้าเดินเข้าไป แต่กับ ‘มิวเซียมสยาม’ นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีแฟนๆ จำนวนหนึ่งชื่นชอบในแง่ของการเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สนุก และมีอะไรต่อมิอะไรให้ผู้ชมได้ซึมซับความรู้แบบมีส่วนรวมไปกับเรื่องราวพร้อมๆ กันได้

     หลังจากการศึกษาวิจัยข้อมูลกว่า 4 ปี รวมไปถึงปิดสถานที่เพื่อรีโนเวตและติดตั้งงานแสดงชิ้นใหม่อีกกว่าปีครึ่ง มิวเซียมสยามและนิทรรศการถาวรเรื่องใหม่ก็พร้อมให้บุคคลทั่วไปเข้าชมแล้วในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่กำลังจะมาถึงนี้

     แต่ก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบนั้น THE STANDARD มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมส่วนหนึ่งของนิทรรศการใหม่แกะกล่องนี้ก่อนใคร บอกได้ว่าเต็มไปด้วยความหวือหวา น่าขบคิด และร่วมสมัยกว่าเดิม เป็นภาพใหม่ๆ ที่น่าสนใจและอยากให้คุณได้ไปเยี่ยมเยือนสักครั้ง

 

ไขรหัส ถอดความลับความเป็นไทย

     อย่าเพิ่งเอียนกับเรื่องราวของการสร้างชาติ ความเป็นไทย หรือการสืบรากชาติพันธุ์ เพราะนิทรรศการครั้งนี้จะค่อนข้างคล้ายคลึงกับนิทรรศการก่อนหน้าที่ชื่อ ‘เรียงความประเทศไทย’ ที่จัดแสดงมากว่า 8 ปี แต่ครั้งนี้มิวเซียมสยามได้สรุปย่นย่อและเพิ่มเติมประเด็นที่น่าสนใจเข้ามาให้ร่วมสมัยมากขึ้นกับ ‘ถอดรหัสไทย’ ห้องนิทรรศการจำนวน 14 ห้องที่จะพาคุณเข้าไปรับรู้ถึงกระบวนการการสร้างชาติ และความเป็นไทย พร้อมชวนคุณตั้งคำถามกับเรื่องราวเหล่านั้นในทุกๆ แง่ ตั้งแต่ชาติ การศึกษา อาหาร ศิลปะ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยเลือกวิธีการนำเสนอที่ทันสมัยขึ้น ให้คุณได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับทุกๆ สิ่งในมิวเซียมแห่งนี้ได้มากขึ้น

     โดยในการเปิดตัวส่วนหนึ่งของ ‘ถอดรหัสไทย’ ในครั้งนี้ มิวเซียมสยาม เปิดให้เราได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศใหม่ๆ ของมิวเซียมใน 6 ห้องที่มีคาแรกเตอร์โดดเด่นและน่าสนใจที่สุด

 

 

ห้องหมายเลข 1: ไทยรึเปล่า?

     เมื่อเริ่มต้นเดินเข้าไปในนิทรรศการห้องแรก เราจะพบกับหุ่นตั้งโชว์หมุนอวดเรือนร่างในชุดสีดำสุดเซ็กซี่พร้อมทั้งสวมชฎาไว้บนศีรษะ แค่เปิดตัวเราก็สัมผัสได้ถึงความน่าสนใจในระดับ ‘พีค’ และค่อนข้าง ‘ส่งผลกระทบ’ ต่อความคิด สามารถเรียกร้องความน่าสนใจได้ในระดับหนึ่ง กับการหยิบยกเอาประเด็นการสวมชฎาขึ้นเวทีของศิลปินสาวเลดี้ กาก้า (Lady Gaga) เมื่อครั้งมาทัวร์คอนเสิร์ตที่เมืองไทยเมื่อ 5 ปีก่อน มาเป็นเรื่องราวหลักของห้องลำดับแรกนี้

     นอกจากนี้ยังมีข้อความอีกมากมายที่ทิ้งเรื่องราวไว้ทั่วบริเวณห้องสีดำแสงทะมึนนี้ เพื่อให้คุณได้ตั้งคำถามว่า ‘หุ่นนี้มีความเป็นไทยหรือเปล่า?’ ‘ความเป็นไทยวัดกันตรงไหน’ ซึ่งคำตอบก็แล้วแต่วิจารณญาณและทัศนคติของผู้ชมแต่ละคน

 

 

ห้องหมายเลข 2: ไทยแปลไทย

     คุณจะได้ทำตัวเป็นนางร้ายในละครหลังข่าว ที่กำลังตามหามรดกลับจากเจ้าคุณปู่ซึ่งแอบซ่อนไว้ในตู้ เพราะในห้องที่สองนี้เต็มไปด้วยลิ้นชักจำนวนมากที่แอบซ่อนเรื่องราวของความเป็นไทยต่างๆ เอาไว้ พร้อมทั้งนำเสนอประเด็นว่าด้วยเรื่อง ความเป็นไทยที่ถูกสร้างขึ้น เปลี่ยนแปลง และหมดอายุไปในแต่ละช่วงเวลา ทั้งของเล่น ภาพยนตร์ไทย รูปแบบศิลปะของพระพุทธรูป ธงชาติ รอคอยให้คุณมารื้อค้นเปิดลิ้นชักความคิดกันอย่างสนุกสนาน

 

 

     ส่วนความ ‘พีค’ ที่สุดของห้องเบอร์สองนี้ เราจะได้เห็น ‘หมุดคณะราษฎร’ ในตำนานที่หายสาบสูญกันแบบเต็มๆ ตาอย่างแน่นอน ซึ่งทางมิวเซียมสยามยังขออุบไว้ก่อนว่าจะมาในรูปแบบไหน (อาจจะมาในรูปแบบ Mock-Up เสมือนจริง เอ๊ะ! หรือจะมีของจริงอยู่ที่นี่กันนะ?) คงต้องรอตอนเปิดเต็มรูปแบบอีกทีหนึ่ง

 

 

ห้องหมายเลข 3: ไทยตั้งแต่เกิด

     ‘ความเป็นไทย’ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในประเด็นทางสังคมต่างๆ ตั้งแต่เรื่อง 3 สถาบันหลัก ชาตินิยม การท่องเที่ยว การค้าขาย วัฒนธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งห้องลำดับที่ 3 นี้จะเป็นผู้ไขความกระจ่างในเรื่อง ‘การสร้างชาติ’ และความเป็นไปของ ‘ความเป็นไทย’ ในแต่ละยุคสมัย ผ่านผู้เล่าเรื่องและ ‘สิ่งของ’ ต่างๆ ที่จะถูกยกขึ้นมาจากแผ่นไม้ขนาดใหญ่ตรงหน้าคุณ เรียกได้ว่าห้องนี้เป็นไฮไลต์ที่เก๋ที่สุดของนิทรรศการครั้งนี้

 

 

     ความน่าสนใจอยู่ตรงที่คุณจะได้พบกับการใช้เทคโนโลยี ไฮดรอลิก โมดูล (Hydraulic Module) ซึ่งเป็นครั้งแรกในแวดวงพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยนี้มานำเสนอ สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้ 15 นาทีในห้องนี้มีแต่ความสนุกอันน่าประทับใจ แอบบอกว่ามีอะไรน่าสนใจเยอะมากตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ ยุคล่าอาณานิคม จอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงโมเดลพระบรมโกฏของในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่วนในแง่ของป๊อปคัลเจอร์ ก็มีตั้งแต่การกำเนิดผัดไทย การไหว้ เรื่อยมาจนถึงยุคฟองสบู่แตก แคมเปญ Amazing Thailand และมีแม้กระทั่ง พี่ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก!

 

 

ห้องหมายเลข 11: ไทยดีโคตร

     ‘ความเป็นไทยคือการรับมา ปรับเปลี่ยน และปรับใช้’ ซึ่งประเด็นนี้มิวเซียมสยามเลือกนำเสนอเรื่องราวผ่านพัฒนาการของศิลปะไทยในยุคสมัยต่างๆ ผ่านแก้วใสอะคริลิกที่มีภาพร่างของเจดีย์และพระปรางค์ในศิลปะแต่ละยุคตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา เรื่อยมาจนถึงศิลปะในยุคสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยลูกเล่นในห้องนี้ก็เรียกว่าเรียบง่ายแต่ได้มาก ด้วยการให้คุณสามารถชมวิวัฒนาการทางศิลปะได้ด้วยมือของคุณเอง โดยการโยกแผ่นอะคริลิกใสไปมาเพื่อเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

     อีกทั้งในห้องนี้ยังมีการเล่าเรื่องวิวัฒนาการของตัวอักษรไทย ชุดไทย และตุ๊กตุ๊กไทยอีกด้วย

 

 

ห้องหมายเลข 10: ไทยชิม

     ถ้าพูดถึงความเป็นไทย เรื่องราวง่ายๆ ที่คุณเองก็พอจะเข้าใจและสามารถหยิบยกไปพูดให้คนชาติอื่นๆ ฟังได้ก็คงเป็นเรื่อง ‘อาหารไทย’ โดยห้องไทยชิมนี้จะเต็มไปด้วยเมนูต่างๆ ที่ไท้ยไทย ตั้งแต่ต้มยำกุ้ง มัสมั่น ไก่ย่าง หรือแม้แต่ไข่เจียวไทย โดยให้ข้อมูลในรูปแบบที่เก๋ไก๋ ซึ่งคุณจะต้องหยิบจานเปล่าบนชั้นมาวางลงบนช่องที่กำหนดให้ ก่อนที่ระบบจะแสดงภาพความงามของเมนูและเรื่องราวออกมา

 

 

     และที่สำคัญห้องนี้ยังมีความสนุกให้คุณได้ประลองความรู้ความเข้าใจผ่านคำถามง่ายๆ ที่ชวนให้ขบคิด อย่างเช่น ‘ไก่ย่างที่เรากินนั้นทำไมบ้างก็เรียกไก่ปิ้ง บ้างก็เรียกไก่ย่าง’ หรือ ‘ทำไมปลากริม ไข่เต่า ไม่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์’ เราไม่ขอตอบ แต่เก็บเอาไว้ให้คุณได้ไปหาคำตอบกันเอาเอง

 

 

ห้องหมายเลข 9: ไทยวิทยา

     ห้องสุดท้ายที่เราได้เข้าชม เราบอกได้เลยว่าเป็นห้องที่ ‘กล้าเล่า’ และ ‘ประเด็นดี’ อย่างน่าชื่นชม ว่าด้วยเรื่องของพัฒนาการทางการศึกษาไทย ห้องนี้จัดแสดงเรื่องของการศึกษาไทยตั้งแต่ปี 2475 อันเป็นยุคของชาตินิยม เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่เป็นการศึกษาไทยในยุคพอเพียง เห็นภาพชัดแจ้งด้วยโต๊ะนักเรียนหลากรุ่น แบบเรียน สมุดจด รวมไปถึงมีชุดนักเรียนให้คุณได้เปลี่ยนตัวเองกลับไปสู่วัยประถม มัธยม

     ที่เราบอกว่าประเด็นดีและกล้าเล่า ก็เพราะห้องนี้เล่าเรื่องการสร้างรัฐ และประเด็นเรื่อง ‘ชาตินิยม’ ผ่านการศึกษาไทยซึ่งทำได้อย่างแยบยลและเข้มข้นจนเผลอนึกไปถึงสมัยเรียนที่เราไม่เคยได้สังเกตเรื่องราวเหล่านี้เลย ซึ่งเรารอคอยให้คุณมาตีความเรื่องราวเหล่านี้ด้วยตนเอง

 

 

     นี่เป็นเพียง 6 น้ำจิ้ม จากทั้งหมด 14 ห้องจัดแสดงของนิทรรศการ ‘ถอดรหัสไทย’ นิทรรศการถาวรชุดใหม่จากมิวเซียมสยาม โดยอีก 8 ห้องที่เหลือ มิวเซียมสยามได้เกริ่นอย่างคร่าวๆ ว่าจะเป็นการจัดแสดงวัตถุมากเสียหน่อย แต่พวกเขายืนยันว่าเป็นการจัดแสดงที่หวือหวาพอๆ กับหกห้องแรกนี้อย่างแน่นอน ทั้งยังออกแบบให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมกับทุกๆ จุดในนิทรรศการนี้ให้ได้มากที่สุด

     ‘ถอดรหัสไทย’ นิทรรศการถาวรชิ้นใหม่นี้คือเรื่องราวที่มิวเซียมต้องการสื่อสารให้คุณได้เข้ามาตั้งคำถาม ตีความเรื่องราว และประเด็นของความเป็นไทยให้กระจ่างยิ่งขึ้น พกทัศนคติและวิจารณญาณมาให้พร้อม โดยจะเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์เต็มรูปแบบในวันที่ 2 ธันวาคมที่จะถึงนี้

 

FYI
  • มิวเซียมสยามเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยอยู่คู่ถนนสนามไชยและคนกรุงเทพฯ มากว่า 9 ปี หลังจากนิทรรศการเรื่องเดิม ‘เรียงความประเทศไทย’ จัดแสดงนานราว 8 ปี และปิดปรับปรุง นิทรรศการ ‘ถอดรหัสไทย’ นับเป็นครั้งแรกที่มิวเซียมสยามปรับเปลี่ยน และนำเสนอนิทรรศการถาวรเรื่องใหม่
  • ไฮดรอลิก โมดูล (Hydraulic Module) คือเทคโนโลยีที่นำระบบไฮดรอลิกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของส่วนจัดแสดง โดยใช้แรงดันในการยกหรือเคลื่อนไหววัตถุ ซึ่งสอดคล้องกับระบบและระยะเวลาของการเล่าเรื่องที่พิพิธภัณฑ์ออกแบบไว้
  • ป้ายเล่าเรื่องราวในนิทรรศการใหม่นี้ออกแบบมาเพื่อคนทุกวัย โดยคำนึงถึงผู้สูงวัยเป็นหลัก ด้วยตัวอักษรที่ใหญ่และอยู่ระดับสายตา คุณปู่คุณย่าไม่ต้องก้มๆ เงยๆ

 

Maps:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising