×

เมื่อมัลติเวิร์สขยายตัว ความหลากหลายของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ก็เพิ่มมากขึ้น

17.08.2021
  • LOADING...
เมื่อมัลติเวิร์สขยายตัว ความหลากหลายของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ก็เพิ่มมากขึ้น

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ในแง่หนึ่งการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ถือเป็นภาพสะท้อนของบรรยากาศทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกในแต่ละยุคสมัย ส่งผลมาถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในยุคหนึ่งที่ซูเปอร์ฮีโร่ที่ถูกเลือกมาลงจอส่วนใหญ่นั้นมักเป็นชายผิวขาวชาวตะวันตก ส่วนตัวร้ายก็มักจะเป็นคนเชื้อชาติอื่นๆ 
  • เมื่อจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ของทั้ง DC และ MCU ขยายตัวในอัตราเร่ง ก็ถือเป็นการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่สมัยใหม่ ทำให้เราได้เห็นถึงความหลากหลายของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเชื้อชาติ สีผิว ไปจนถึงการเป็นตัวแทนของเพศสภาพ และความเป็นคนชายขอบต่างๆ 

การขาดแคลนความหลากหลายในภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่เป็นปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอดีตซึ่งเราเคยเห็นแต่ฮีโร่ผู้ชายผิวขาวแทบทั้งหมด เฉพาะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เท่านั้นเองที่มีคนกลุ่มอื่นๆ เริ่มได้รับการฉายภาพซูเปอร์ฮีโร่ผ่านหน้าจอเงิน และเมื่อพหุจักรวาลเริ่มขยายตัวในอัตราเร่ง เราจะได้เห็นซูเปอร์ฮีโร่ที่มีความหลากหลายกันมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน  

 

แม้แต่ใน Marvel Cinematic Universe เฟสแรกนั้นแทบจะไม่ได้รวมฮีโร่หญิงเอาไว้ด้วยเลย

  (Photo: DC & Marvel Official)

 

ในแง่หนึ่งการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ถือเป็นภาพสะท้อนของบรรยากาศทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกในแต่ละยุคสมัย ส่งผลมาถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในยุคหนึ่งที่ซูเปอร์ฮีโร่ซึ่งถูกเลือกมาลงจอส่วนใหญ่นั้นมักเป็นชายผิวขาวชาวตะวันตก ส่วนตัวร้ายก็มักจะเป็นคนเชื้อชาติอื่นๆ แล้วแต่สถานการณ์ของโลกในขณะนั้น เมื่อโลกแห่งความเป็นจริงผกผันกับโลกสมมติในภาพยนตร์ ข่าวดีก็คือนอกจากภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่สมัยใหม่จะฉายภาพที่หลากหลายสมจริงมากขึ้น ยังเป็นการรณรงค์ให้เกิดสิทธิความหลากหลายเท่าเทียมในโลกจริงๆ ที่เราอาศัยอยู่ และการมีนักแสดงที่หลากหลายยังเป็นไปเพื่อเจาะตลาดให้เข้าถึงผู้ชมเพิ่มขึ้นด้วย  

 

ในซีรีส์ The Falcon and the Winter Soldier ของ Disney+ ผู้ชมน่าจะสังเกตเห็นถึงธีมของการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบและการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำ ก่อนที่ฟอลคอน หรือ แซม วิลสัน จะตัดสินใจสืบทอดเจตนารมณ์ของกัปตันอเมริกาต่อจาก สตีฟ โรเจอร์ส เรายังได้เห็นถึงความปั่นป่วนภายในจิตใจของซูเปอร์ฮีโร่ผิวดำผู้นี้ที่บอกว่า 

 

“ผมเป็นคนผิวดำที่แบกดวงดาวและลายทาง สิ่งที่ผมไม่เข้าใจก็คือ ทุกครั้งที่ผมหยิบสิ่งนี้ขึ้นมา ผมรู้ว่ามีคนหลายล้านคนที่จะเกลียดผมเพราะเรื่องนี้ แม้แต่ตอนนี้ ที่นี่ ผมก็ยังรู้สึกได้ถึงสายตาที่จ้องมอง ตัดสิน ไม่มีอะไรที่ผมสามารถทำได้เพื่อเปลี่ยนแปลงมัน ผมไม่มีผมสีบลอนด์หรือตาสีฟ้า พลังเดียวที่ผมมีคือ…ผมเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้”

  (Photo: Marvel Official)

 

แต่ แซม วิลสัน ก็ไม่ใช่ฮีโร่ผิวสีคนแรกที่แสดงนำในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ที่มีงบประมาณสร้างสูง ก่อนหน้านี้หลายปีทาง Marvel Cinematic Universe ได้เปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง Black Panther ด้วยนักแสดงผิวสีทั้งหมด ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญแห่งการปฏิวัติภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่อย่างเป็นทางการ ทั้งยังเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมแอฟริกันอเมริกันบนหน้าจอเงินอีกด้วย

 

นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติในภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ การผลิต Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings ซึ่งเป็นซูเปอร์ฮีโร่ชาวเอเชียคนแรกของ Marvel ยังถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ สู่การมีตัวแทนฮีโร่ชาวเอเชียบนหน้าจอเงินอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประวัติก่อนหน้าของ Marvel ในอดีตซึ่งมักฉายภาพ Stereotype ของชาวเอเชีย และมักถูกผลักให้อยู่ในฝั่งวายร้าย 

 

Black Panther ที่ออกฉายในปี 2018 คือภาพยนตร์ที่มีคนผิวดำเป็นซูเปอร์ฮีโร่ตัวเอกเรื่องแรก ส่วน Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings ที่เข้าฉายในกลางเดือนสิงหาคมนี้ คือภาพยนตร์ที่มีซูเปอร์ฮีโร่ชาวเอเชียเป็นตัวเอกเรื่องแรก

  (Photo: Marvel Official)

 

มาถึงตอนนี้นับว่าเรามาไกลกันมากแล้วนับตั้งแต่สมัยที่มีแต่ซูเปอร์ฮีโร่ชายผิวขาวบนจอยักษ์ โดยเริ่มจากซูเปอร์แมน แบทแมน และไอรอนแมน ซึ่งเป็นฮีโร่คนสำคัญของ DC และ Marvel แม้ว่าจักรวาลภาพยนตร์เหล่านี้ส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่าทศวรรษนี้เอง แต่หากเทียบกับอายุของจักรวาลคอมิกที่เก่าแก่กว่านั้นมาก กลับพบว่ามีตัวละครที่หลากหลาย ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 และ 70 และถัดจากนี้เชื่อว่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาให้เห็นเรื่อยๆ 

 

เหล่าซูเปอร์ฮีโร่หญิงขอทวงคืนสิทธิ

 

แม้ นาตาชา โรมานอฟฟ์ จะมีบทบาทใน MCU ในฐานะสมาชิก Avengers มาตั้งแต่เฟสแรก แต่ก็เพิ่งกำลังจะมีภาพยนตร์เดี่ยวของเธอสตรีมมิงผ่านทาง Disney+

  (Photo: Marvel Official)

 

แม้ในภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ระยะแรกๆ จะมีตัวละครนำฝ่ายหญิง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงขาดความลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็น แมรี เจน, โลอิส เลน, เปเปอร์ พอร์ต หรือ เจน ฟอสเตอร์ ตัวละครหญิงแทบทั้งหมดนี้ (บางตัวต่อมาก็ได้เป็นซูเปอร์ฮีโร่) มักจะแสดงให้เห็นเพียงแค่แง่มุมของความรัก เป็นตัวละครสมทบที่คอยส่งบทบาทให้ชายหนุ่มของพวกเธอโดดเด่น แต่ในแง่มุมอื่นๆ กลับถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย ราวกับว่าพวกเธอไม่มีจิตวิญญาณด้านอื่น และไม่มีสิทธิที่จะกำหนดเรื่องราวชีวิตของตัวเอง 

 

Wonder Woman ของ DC และ Captain Marvel

สองภาพยนตร์เรื่องสำคัญซึ่งมีซูเปอร์ฮีโร่หญิงเป็นตัวเอก

  (Photo: DC & Marvel Official)

 

ใน Marvel Cinematic Universe เฟสแรกนั้นแทบจะไม่ได้รวมฮีโร่หญิงเอาไว้ด้วยเลย แม้จะมีการปรากฏตัวเพียงไม่กี่ครั้งของตัวละคร Black Widow หรือ นาตาชา โรมานอฟฟ์ ของ สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน ซึ่งออกจะดูฉายภาพความเย้ายวนทางเพศอยู่มาก แถมตัวละครของเธอก็มีแอร์ไทม์หน้าจอน้อยมากในเฟสแรก ทั้งยังขาดความลึกซึ้งไปอย่างน่าเสียดาย (แม้ต่อมาทาง Marvel จะมีภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่หญิงอย่าง Captain Marvel ออกมา แต่ก็ไม่ได้มีความลึกซึ้งน่าประทับใจสักเท่าไร เมื่อเทียบกับ Wonder Woman ของทางฝั่ง DC) แต่โชคดีที่ภาพยนตร์ในจักรวาล Marvel เฟสหลังๆ นั้นเรายังได้เห็นบทบาทที่มีมิติมากขึ้นของซูเปอร์ฮีโร่แม่ม่ายดำ แต่ชะตากรรมสุดท้ายของ นาตาชา โรมานอฟฟ์ ใน Avenger: End Game ก็ดูจะเป็นการทิ้งขว้างตัวละครซูเปอร์ฮีโร่หญิงที่มีบทบาทสำคัญกับทีม Avengers มาตั้งแต่ต้น ซึ่งเราคงต้องรอดูต่อไปว่าภาพยนตร์ส่งท้ายของ Black Widow ที่แม่ม่ายดำเป็นตัวเอกเต็มเรื่อง และ สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน ประกาศลั่นว่าจะไม่กลับมารับบทนี้อีก จะสามารถมอบบทบาทที่สมเกียรติให้กับ นาตาชา โรมานอฟฟ์ ในฐานะซูเปอร์ฮีโร่หญิงได้อย่างเต็มภาคภูมิหรือเปล่า อย่างไรก็ตามโชคดีที่ซีรีส์ WandaVision ของ Marvel ที่เพิ่งออกฉายทาง Disney+ นั้นได้ให้น้ำหนักและมิติกับตัวละครซูเปอร์ฮีโร่หญิงอย่าง วานดา แม็กซิมอฟฟ์ ไว้ได้อย่างน่าประทับใจ

 

WandaVision มอบโค้ดเนม Scarlet Witch ให้กับ วานดา แม็กซิมอฟฟ์ เป็นครั้งแรกใน MCU ได้รับคำชื่นชมในการให้มิติกับซูเปอร์ฮีโร่หญิง 

 (Photo: Marvel Official)

 

พหุจักรวาลขยายตัว: เปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ และความหลากหลายของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่

 

เราบอกลาเฟสที่สามของจักรวาลภาพยนตร์ Marvel กันด้วย Avengers: Endgame และ Spider-Man: Far From Home รวมถึงตัวละครอันเป็นที่รักอย่าง โทนี สตาร์ก, สตีฟ โรเจอร์ส และ นาตาชา โรมานอฟฟ์ MCU กำลังเคลื่อนเข้าสู่เรื่องราวแห่งความเปลี่ยนแปลงในเฟสที่ 4 ซึ่งหลายโปรเจกต์ในเฟสนี้ได้เปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้วยการขยายตัวของพหุจักรวาล อันจะนำมาซึ่งความหลากหลายของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ เช่น เมื่อ Loki ของ Disney+ เล่นกับประเด็นเรื่องมัลติเวิร์ส ทำให้เราเห็นตัวโลกิในหลากหลายเวอร์ชัน ทั้งผู้หญิง คลาสสิกโลกิ โลกิผิวดำ หรือแม้กระทั่งไอ้เข้! และสดๆ ไม่นานนี้เอง What If แอนิเมชันซีรีส์ที่ออกฉายทาง Disney+ ก็ยังเล่นกับประเด็นของมัลติเวิร์ส ซึ่งทำให้เราเห็นว่ามีจักรวาลที่ เพ็กกี้ คาร์เตอร์ เป็นซูเปอร์โซลเยอร์ แทนที่จะเป็น สตีฟ โรเจอร์ส กับโค้ดเนมว่า กัปตันคาร์เตอร์ 

 

 การเปิดประเด็นเรื่องพหุจักรวาลใน Loki

ทำให้เราเห็นโลกิในหลากหลายเวอร์ชัน

ซึ่งจะเปิดความเป็นไปได้และความหลากหลายของซูเปอร์ฮีโร่ได้อย่างไม่สิ้นสุด

 (Photo: Marvel Official)

 

Valkyrie ซูเปอร์ฮีโร่หญิงที่เป็น LGBTQ+ 

คนแรกของจักรวาล Marvel

 (Photo: Marvel Official)

 

แน่นอนว่า Eternals ที่กำลังจะออกฉายในเฟส 4 ก็เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่เปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายของฮีโร่อย่างเห็นได้ชัด เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องราวของกลุ่มซูเปอร์ฮีโร่ ซึ่งรับบทโดยนักแสดงหลากหลายเชื้อชาติแล้ว ยังมีตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นผู้พิการหูหนวกอย่าง Makkari และตัวละครฮีโร่เกย์คนแรกของ MCU อย่าง Phastos (แว่วว่าอาจจะมีฉากจูบของคนรักเพศเดียวกันเป็นครั้งแรกของ MCU ด้วย — ถ้าไม่แกงผู้ชม) ซึ่งในประเด็นนี้ก่อนหน้านั้น MCU ยังเคยเปิดเผยถึง Sexual Preference ของ Valkyrie ออกมาแล้วว่าเป็น Bisexual ทำให้เธอกลายเป็นตัวละครซูเปอร์ฮีโร่หญิงที่เป็น LGBTQI+ คนแรกของจักรวาลหนัง Marvel น่าเสียดายที่ซีนเปิดตัวสั้นๆ นี้ถูกตัดออกจากภาพยนตร์เรื่อง Thor Ragnarok แต่ เทสซา ธอมป์สัน เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ในฐานะของกษัตริย์องค์ใหม่ของแอสการ์ด เธอต้องการที่จะหาราชินี” เป็นที่น่าจับตามองว่าใน Thor: Love and Thunder เราจะได้เห็นแง่มุมทางด้านนี้ของวัลคีรีหรือเปล่า ซึ่งหากจะให้พูดถึงประเด็นเรื่องความหลากหลายด้านเพศของซูเปอร์ฮีโร่กันแล้ว ต้องบอกว่าทางฝั่ง DC นั้นก้าวหน้ากว่าเยอะ เมื่อ Arrowverse (จักรวาลซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่ของ DC) นั้นมีตัวละครซูเปอร์ฮีโร่หลายตัวที่เปิดตัวว่าเป็น LGBTQI+

 

Eternals ที่กำลังจะออกฉาย

กับทีมซูเปอร์ฮีโร่นักแสดงหลากหลายเชื้อชาติ

ทั้งยังจะมีฮีโร่เกย์ และฮีโร่ผู้พิการหูหนวกคนแรกใน MCU 

 (Photo: Marvel Official)

 

กลับมาที่ประเด็นเรื่องการขยายตัวของมัลติเวิร์ส Spider Man: No Way Home และ Doctor Strange in the Multiverse of Madness ที่กำลังจะมา ก็ยังใช้ความไม่สิ้นสุดของพหุจักรวาลมาสร้างเรื่องราวที่ไร้ขีดจำกัด สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซึ่งบางทีเราอาจจะได้เห็นเวอร์ชันอื่นๆ ของฮีโร่ที่เราคุ้นเคยนอกเหนือจากจักวาลหลัก อาจทำให้สร้างตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ที่มีความหลากหลายมากขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ในเฟส 4 ของ MCU ก็ยังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่น่าสนใจ และทำให้เรามองเห็นถึงความหลากหลาย อย่างการที่ เจน ฟอสเตอร์ จะได้เป็น Mighty Thor ใน ​​Thor: Love and Thunder และเรื่องราวของ Kamala Khan ซูเปอร์ฮีโร่หญิงเชื้อสายเอเชียมุสลิมใน Ms. Marvel ตลอดจนการเปิดตัว She-Hulk และ Ironheart ในจักรวาล MCU เฟส 4 นี้ ฯลฯ

 

Sasha Calle ในชุด Supergirl 

จากกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง The Flash ของ DC

 (Photo: DC Updates)

 

ด้านจักรวาลภาพยนตร์ DC ก็ไม่น้อยหน้า เมื่อภาพยนตร์ The Flash ที่กำลังถ่ายทำก็เพิ่งมีภาพของซูเปอร์เกิร์ลที่แสดงโดย Sasha Calle ซึ่งมีเชื้อสายโคลอมเบีย นอกจากนี้ Warner Bros ยังมีโครงการที่จะรีบูตซูเปอร์แมนผิวดำออกมา ซึ่งมีทฤษฎีว่าอาจจะไม่ใช่ คลาร์ก เคนต์ แต่เป็นซูเปอร์แมนจากจักรวาลอื่น ความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ของทั้ง DC และ MCU ต่างก็กำลังขยายตัว และในอนาคตเราจะได้เห็นความหลากหลายของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่กันมากขึ้นอีก

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X