“ใช่…ผมต้องการเฉลิมฉลองให้กับสิ่งที่ผมต่อสู้มาตลอด 5 ปี และต้องการให้พวกคุณรู้ว่ากัญชาเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในสังคมไทยมา 100 กว่าปี เพียงแต่มันโดนกดทับให้อยู่ในมุมมืดของสังคม”
ถ้าคุณติดตามผลงานของ บอน หรือ MUEBON (มือบอญ) ศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังมาสักระยะ น่าจะคุ้นชินกับวิธีการทำงานของเขาที่มักจะวิพากษ์การเมือง ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านงานศิลปะ “วิธีการของผมนำเสนอบนหลักฐานความเป็นจริงเสมอ” เขาบอกเช่นนั้น
MUEBON’S SOLO ART EXHIBITION ‘MAKE SIAM SMILE AGAIN!’ นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่กำลังจัดขึ้นที่ Cannabis Museum สยามสแควร์ ซอย 2 เพื่อเฉลิมฉลองในวันที่ ‘กัญชา’ ไม่ถูกตีตราว่าเป็นปีศาจและไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงวิธีการทำงานบนหลักฐานความเป็นจริงเหมือนที่เขาบอก
กว่าจะเป็นงานศิลปะที่ร้อยเรียงเรื่องราววัฒนธรรมกัญชาผ่านยุคสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มือบอญเดินทางไปค้นคว้าหาข้อมูลยังแหล่งชุมชนที่กัญชาถูกกฎหมายในหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และเดนมาร์ก อีกทั้งที่ผ่านมาตัวเขาเองเคยมุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องกัญชากับองค์กรที่มีทั้งผู้เชี่ยวชาญทางแพทย์ นักสมุนไพร และเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้ผลที่ได้จะไม่เป็นตามที่หวัง แต่เขาก็สู้ไม่ถอย ประกาศตนเป็นหนึ่งในประชาชนที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องของกัญชา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกขึ้นในไทย และในที่สุดวันที่ ‘กัญชา’ ไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทยก็เกิดขึ้นจริง
“ถ้าใครมาถามว่าทำไมผมต้องเฉลิมฉลอง ผมบอกเลยว่าความสำเร็จครั้งนี้ผมอยากป่าวประกาศ เพราะมันจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กยุคใหม่ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรแย่ๆ ในสังคม”
เราถามมือบอญว่ามีข้อมูลอะไรที่ควรต้องรู้เพื่อเพิ่มความรื่นรมย์ในการชมนิทรรศการ ‘MAKE SIAM SMILE AGAIN!’ เขาบอกว่า “เปิดใจครับ และยอมรับว่าโลกใบนี้มีความแตกต่าง
“สิ่งที่ผมทำไม่ใช่สิ่งใหม่ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในสังคมไทย เพียงแต่มันโดนกดทับให้อยู่ในมุมมืดมาตลอดเวลา 100 กว่าปี นิทรรศการนี้จะบอกตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลที่เราไม่เคยรู้ หรือข้อมูลที่โดนบิดเบือนจากรัฐและสื่อต่างๆ”
ย้อนรอย ‘สิทธิ์’ ของ ‘กัญชา’ ที่เคยถูกปกปิด ซุกซ่อน และบิดเบือน ผ่านงานศิลปะ 3 ซีรีส์
เพื่อให้เรื่องราวทั้งหมดถูกปะติดปะต่อกันอย่างสมบูรณ์ เราแนะนำให้คุณเดินย้อนรอยไปพร้อมๆ กับเรา โดยเริ่มจาก
ซีรีส์ ‘ศิลปะไทย’: ขุดรากวัฒนธรรมไทยจากอดีตสู่ยุคที่ใครๆ ก็ตีตราว่ากัญชาคือปีศาจ “มีไม่กี่ประเทศบนโลกนี้ที่มีประวัติศาสตร์กัญชาอยู่ในวัฒนธรรมทุกชนชั้น หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย เรานี้มีประวัติศาสตร์กัญชาที่ยาวนานมาก ซีรีส์ชุดนี้ผมค้นคว้าจากจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งน่าจะเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาในประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจน จะเห็นว่าคนทุกชนชั้นใช้กัญชาเป็นยา มีหลักฐานปรากฏอยู่ในตำรับยาพระนารายณ์ว่ามีส่วนผสมของกัญชากว่าพันชนิด รวมถึงตำนานที่เล่าขานปากต่อปากจากครูช่างเขียนว่า ในสมัยก่อนมีไพร่ทำหน้าที่พันกัญชาให้กับขุนนางโดยเฉพาะ
“หรือภาพที่ทหารพักรบล้อมวงใช้กัญชา อีกวงดื่มสุรา มันบ่งบอกว่ากัญชาถูกใช้เป็นเครื่องปลอบประโลมใจไม่ต่างกับการดื่มสุราย้อมใจของทหารหลังเสร็จศึก”
ซีรีส์นี้เล่าเรื่องไล่เรียงประวัติศาสตร์ไทยเชื่อมโยงไปจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่ยุคที่กัญชากลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกาและถูกตราหน้าว่าเป็นปีศาจ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก มีการสร้างภาพร้านและความเกี่ยวข้องระหว่างกัญชากับอาชญากรรม
“ผมใช้ถุงบรรจุกัญชาขนาดใหญ่สะท้อนแนวคิดในช่วงเวลานั้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากคำว่า ‘Cannabis’ ซึ่งจริงๆ มาจากคำว่า ‘Q’aneh-bosm’ ที่ปรากฏในคัมภีร์เก่าของคำภาษาฮีบรู แปลว่า ควันพวยพุ่งออกมาจากนาสิกของพระเจ้า ผมเลยอุปมาอุปมัยให้เป็นควันกัญชาสะท้อนให้เห็นว่ามันคือสิ่งที่พระเจ้ามอบให้ จำลองภาพ The Creation of Adam ของไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) ภาพที่พระเจ้ากำลังให้ชีวิตกับอดัม เปลี่ยนเป็นให้ชีวิตชีวากับนกตาโตสีดำที่แต่งตัวเหมือนฮิปปี้”
ซีรีส์ ‘แวนโก๊ะ’: สัญลักษณ์แห่งความหวัง
การเดินทางของ ‘กัญชา’ มาถึงช่วงที่ UN ประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่าการต่อสู้กับยาเสพติดด้วยการใช้ความรุนแรงไม่ส่งผลดี แต่กลับทวีจำนวนผู้ติดยาและอาชญากรมากขึ้น และหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ขานรับความคิดเห็น ยกเลิกการต่อสู้กับยาเสพติด เปลี่ยนมุมมองว่าคนที่ใช้กัญชาไม่ใช่อาชญากรแต่เป็นผู้ป่วยคือ ‘เนเธอร์แลนด์’
“เนเธอร์แลนด์ทำให้ผมเชื่อมโยงกับแวนโก๊ะ เพราะเขาเองก็เป็นผู้ป่วยที่ใช้งานศิลปะเยียวยาตัวเอง ภาพดอกทานตะวันจึงเป็นสัญลักษณ์ของความหวังให้กับผู้ป่วย เหมือนกับตอนที่เพื่อนผมเป็นมะเร็งแล้วเขาอยากใช้น้ำมันกัญชาเป็นทางเลือกสุดท้ายก่อนที่เขาจะตาย มันคือความหวังที่ต้องการจะมีชีวิตต่อ แต่รัฐกลับปิดประตูนั้น”
ซีรีส์ ‘Smiley’: จงยิ้มให้กับอิสรภาพ
ซีรีส์สุดท้ายของนิทรรศการ มือบอญต้องการใช้ Smiley เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ใหม่ของกัญชาในยุคปัจจุบันที่กลายเป็นยารักษา ซึ่งใครจะตีความรอยยิ้มว่าเป็นความสุขหลังผ่านพ้นความเจ็บปวดของผู้ป่วยก็ถูก หรือจะตีความว่าเป็นรอยยิ้มแห่งชัยชนะหลังได้รับอิสรภาพก็ยินดี แต่สำหรับคนที่เคยสัมผัสความลึกซึ้งของกัญชา อาจจะตีความรอยยิ้มที่อยู่ตรงหน้าว่าเกิดจากฤทธิ์ของกัญชาที่สั่งให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขก็เป็นได้
‘นกตาโตสีดำ’ นกที่บินไม่ได้แต่จิกกัดเก่ง!
อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ถูกสอดแทรกลงไปในทุกซีรีส์คือ ‘นกตาโตสีดำ’ ที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องด้วยท่าทีที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของภาพ
“มันอดไม่ได้หรอกครับที่งานทุกชิ้นจะไม่ถูกจิกกัด และในงานแต่ละชิ้นมันก็เล่าทำหน้าที่ต่างกัน อย่างในซีรีส์ศิลปะไทยมันเป็นตัวแทนของปัจจุบัน เช่น ภาพที่ล้อมวงดื่มสุรา นกที่แต่งตัวเป็นทหารใส่นาฬิกาหรูๆ ผมตั้งใจสะท้อนข่าวนักการเมืองกับนาฬิกานั่นแหละครับ”
“หรือภาพสตาร์วอร์สที่ลิงกำลังจะตายแล้วมีนกฮิปปี้มาจุดไฟแช็กให้กับลิง เพราะเขากำลังพูดเรื่องศึกรามเกียรติ์กันอยู่ ก่อนตายก็อยากจะสูบกัญชา อันนี้คืออารมณ์ขันของช่างเขียน แต่ผมดึงออกมาเล่นโดยใช้นกฮิปปี้เป็นตัวแทนเชื่อมโยงยุค 60 ของสหรัฐอเมริกาที่มีการประท้วงรณรงค์ให้ยุติสงครามเวียดนาม คนที่ขับเคลื่อนก็คือกลุ่มคนที่ถูกสังคมตีตราว่าเป็นขี้ยา ติดกัญชา ส่วนไฟแช็กผมเน้นให้มันเด่นๆ เพื่อสะท้อนถึงไฟของปัญญา เราจะทำสงครามกันทำไมถ้าเราไม่มีปัญญา”
จะให้เล่าทั้งหมดก็คงไม่สนุก เพราะสารที่ศิลปินบอกกับสารที่คนดูแต่ละคนได้รับอาจต่างกัน หน้าที่ของเราคือไปดูแบบเปิดใจแล้วเดาเอาเองซิ! ว่าสิ่งที่คุณเห็นสะท้อนมุมมองและความเชื่ออะไร
ความน่าสนใจของงานนี้ยังอยู่ที่การใช้เทคนิคที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรมขนาดใหญ่ หรือการดุลเหล็ก
“ภาพที่จัดแสดงในงานผมใช้เทคนิคสีน้ำมัน สีสเปรย์ สีอะคริลิก ซึ่งเป็นเทคนิคที่ผมทำอยู่แล้ว อย่างในซีรีส์ภาพเก่าก็ทำโปรดักชันแบบงานสมัยก่อน ตามหาช่างเขียนงานไทยโบราณมาให้เขาช่วยทำให้ภาพเหมือนออกมาจากกำแพงวัดพระแก้วจริงๆ ทำให้คนเชื่อว่ามันมีภาพนี้อยู่จริง หรือนกตาโตตัวใหญ่ที่นั่งอยู่กลางห้องจัดงาน ใช้วัสดุเรซิ่นไฟเบอร์กลาส ส่วนบ้องกัญชา มีดโบราณ ผมเพนต์เป็นกราฟฟีตี้ เป็นตัวแทนของยุคสมัยใหม่มาทับซ้อนกับภาพลักษณ์ที่น่ากลัวของบ้องกัญชาและมีด เพื่อทำลายความเชื่อเดิมๆ ว่าสิ่งที่คุณรู้มาอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป”
อย่างที่รู้นิทรรศการครั้งนี้สารหลักๆ ที่เขาต้องการส่งให้กับคนที่มาเดินชมงานคือ เปิดมุมมอง ทัศนคติ ชุดความคิด และข้อมูลข่าวสารใหม่ของ ‘กัญชา’ และด้านบวกที่หลายคนไม่เคยรู้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เขาเชื่อว่านิทรรศการนี้จะทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักในเรื่องของ ‘สิทธิ์’ ที่ควรรู้
“ที่แน่ๆ คือคุณมี ‘สิทธิ์’ รับรู้ข้อมูลที่ไม่เคยมีใครบอก ข้อมูลที่ถูกบิดเบือน ต่อมาคือ สิทธิ์ในการเข้าถึงยา สิทธิ์ของการมีชีวิต”
“นอกจากจะเฉลิมฉลองให้กับอิสรภาพของกัญชา ผมยังต้องการเฉลิมฉลองความสำเร็จให้คนอีกเจเนอเรชันเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพราะเราขับเคลื่อนมันจริงๆ และจะเป็นหมุดหมายหนึ่งของประเทศไทยที่ไม่ว่าสิ่งใดที่เราคิดว่ามันยากต่อการเปลี่ยนแปลงคนได้ มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้จะเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย ถ้าเราลงมือ มันมีโอกาสแน่นอน”