วันนี้ (8 พฤศจิกายน) แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลมีมติขับ วุฒิพงศ์ ทองเหลา สส. ปราจีนบุรี และไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. กทม. สองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกจากพรรค เนื่องจากถูกกล่าวหาในประเด็นคุกคามทางเพศว่า จะต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน โดยพรรคการเมืองที่ไม่มี สส. ในปัจจุบันก็สามารถรับเข้าสังกัดได้ แต่หากไม่สามารถหาพรรคได้ จะต้องพ้นสภาพการเป็น สส. และต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ สำหรับมติการขับออกนั้นเป็นเรื่องภายในพรรคที่ต้องชอบด้วยข้อกฎหมายและข้อบังคับของพรรค
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ระบุไว้ว่า หาก สส. คนใดพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคจากมติของพรรค ถ้า “มิได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วัน…ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพ (การเป็น สส.) นับแต่วันที่พ้น 30 วันดังกล่าว
ย้อนเหตุการณ์ สส. ถูกขับออกจากพรรค ตั้งแต่ปี 2562-2566 พบว่าเกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่มีมติขับ สส. 4 คนออกจากพรรค เนื่องจากทั้ง 4 คนสวนมติพรรคโดยไม่ลงคะแนนโหวตในหลายครั้ง ได้แก่
- กวินนาถ ตาคีย์ สส. ชลบุรี ย้ายไปสังกัดพรรคพลังท้องถิ่นไท
- พ.ต.ท. ฐนภัทร กิตติวงศา สส. จันทบุรี ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ
- จารึก ศรีอ่อน สส. จันทบุรี ย้ายไปสังกัดพรรคพลังท้องถิ่นไท
- ศรีนวล บุญลือ สส. เชียงใหม่ ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 พรรคเพื่อไทยมีมติขับ สส. 2 คน ออกจากพรรค เนื่องจากมีพฤติการณ์กล่าวหาทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงของพรรค ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพรรค ได้แก่
- ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ สส. อุตรดิตถ์ ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อชาติ
- พรพิมล ธรรมสาร สส. ปทุมธานี ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 พรรคพลังประชารัฐมีมติขับ สส. 21 คน จากกลุ่ม ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า โดยเหตุผลคือมีการเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพรรคขนาดใหญ่ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ความเป็นเอกภาพ และเสถียรภาพของพรรค ความขัดแย้งในพรรค ซึ่งทั้ง 21 สส. ได้ย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ก่อนจะย้ายกลับมายังพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง
ครั้งที่ 4 ในช่วงต้นปี 2566 ก่อนรัฐบาลจะหมดวาระ และประกาศยุบสภา วันที่ 30 มกราคม 2566 บุญญาพร นาตะธนภัทร สส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมแผ่นดิน และวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลเมืองไทย ทั้ง 2 คนถูกขับออกพ้นพรรค และย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ
ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 พรรคก้าวไกลมีมติขับ ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส. พิษณุโลก และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค พร้อมแถลงการณ์ระบุว่า พรรคก้าวไกลต้องการทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ และให้ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคคนใหม่ ทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน แต่เนื่องด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่ห้ามพรรคการเมืองที่เป็นหัวหน้าฝ่ายค้านต้องไม่มี สส. เป็นประธานสภาหรือรองประธานสภา เมื่อพรรคได้คุยกับปดิพัทธ์แล้วยังยืนยันที่จะทำหน้าที่รองประธานสภาต่อ จึงเป็นเหตุผลให้ต้องขับปดิพัทธ์ออกจากพรรค และปดิพัทธ์ก็สามารถสังกัดใหม่คือพรรคเป็นธรรมได้ภายใน 30 วัน
ทว่าหากครบกำหนด 30 วันแล้ว แต่ 2 สส. ยังหาพรรคสังกัดไม่ได้ ก็จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมือง เพราะที่ผ่านมายังไม่มี สส. คนใดที่ถูกขับออกจากพรรคแล้วไม่สามารถหาพรรคใหม่ได้ภายในระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
จุดหมาย 2 สส. พรรคไหนจะอ้าแขนรับ
แต่ทั้งนี้หาก 2 สส. สามารถหาพรรคใหม่ได้ตามกำหนดภายใน 30 วัน สิ่งที่น่าจับตาคือ พรรคที่รับ 2 สส. เข้ามานั้นเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่หรือพรรคใหม่ที่เพิ่งจัดตั้ง หากเป็นพรรคเล็กแล้วมี สส. เพิ่มเข้ามา จะส่งผลให้พรรคมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น กลายเป็นว่าจากพรรคเล็กที่ไม่มีใครรู้จัก อาจจะสร้างตัวตนขึ้นมาในช่วงโอกาสนี้ก็ได้ และเสียงในการโหวตวาระต่างๆ ในสภาก็จะถูกจับตามอง
อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นพรรคใหญ่หรือพรรคเก่าแก่ เปอร์เซ็นต์การรับ 2 สส. เข้ามานั้นน้อยมาก เพราะถือว่าไม่คุ้มกับการที่จะต้องตอบคำถามกับประชาชนว่าทำไมถึงรับเข้ามา เนื่องจาก 2 สส. ถูกขับออกเกี่ยวกับกรณีการคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องตอบกับสังคมได้ และคิดว่าพรรคใหญ่น่าจะใช้โอกาสนี้รอการเลือกตั้งใหม่มากกว่า เพราะสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใหม่ของพรรคตัวเองเข้าไปชิงเก้าอี้ สส. ในพื้นที่ดังกล่าวได้
อ้างอิง: