กนง. ชี้ ดอกเบี้ยไทยเข้าสู่ Neutral Zone แล้ว ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยในระยะสั้น แต่ยังจับตาแนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจได้แรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ คาดมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตช่วยดัน GDP โตไม่ต่ำกว่า 4%
ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยในการแถลงข่าวหลังจาก กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 2.50% ต่อปี ว่า ดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวถือเป็นระดับที่มีความสมดุลและเป็นกลาง หรือเรียกได้ว่าเป็น Neutral Rate ที่มีความเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวของประเทศแล้ว
“ถ้าในระยะสั้นเศรษฐกิจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ดอกเบี้ยปัจจุบันก็เป็นระดับที่มีความเหมาะสม อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ ตัวเลขนักท่องเที่ยวและเงินเฟ้อที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนในแง่ของรูปแบบ ขนาดเม็ดเงิน และช่วงเวลาที่จะเริ่มดำเนินการ” ปิติกล่าว
อย่างไรก็ดี เลขาฯ กนง. ประเมินว่า ไม่ว่ามาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจะออกมาในรูปแบบใด GDP ไทยในปีหน้าก็น่าจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 4% เนื่องจากเศรษฐกิจในปีหน้าโดยเฉพาะภาคส่งออกและการท่องเที่ยว จะได้รับอานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศก็จะฟื้นตัวได้ดีขึ้นเช่นกันจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ทำให้ กนง. ประเมินตัวเลข GDP ของปี 2567 เอาไว้ที่ 4.4%
“ผลการศึกษาการหมุน หรือ Multiplier Effect ของเงินโอนที่ผ่านมาพบว่า เม็ดเงินหมุนเวียนที่จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 0.3-0.6 เท่า แต่ประมาณการในรอบนี้ของเรามีการคำนึงถึงมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วย ไม่เฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต”
เมื่อถามถึงสถานการณ์การอ่อนค่าของเงินบาทและการปรับเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา ปิติยอมรับว่า ตลาดการเงินไทยในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูงขึ้น โดยเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยสำคัญเกิดจากทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ประกอบกับการที่นักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่อาจมีนัยต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต
“รัฐบาลเองตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า รูปแบบและวิธีการไฟแนนซ์โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและน่าจะหาทางออกที่ดีที่สุด ภาพรวมเสถียรภาพการคลังของไทยในขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดีและมีเสถียรภาพ เพราะหนี้เราไม่ได้อยู่ในระดับสูง” ปิติกล่าว