หลังจากที่งาน Movin’ On 2018 ได้ปักหมุดหมายสำคัญเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จนแนวคิดดังกล่าวถูกหยิบยกมาพูดถึงในวงกว้าง และทำให้ทั้งวงการอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจทั่วโลกต่างหันมาใส่ใจและเอาจริงเอาจังกับเรื่องดังกล่าวแล้ว THE STANDARD ได้เดินทางกลับไปที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เพื่อติดตามภาคต่อและ ‘สิ่งใหม่’ ที่เกิดขึ้นบนเวที Movin’ On 2019 เพื่อต่อจิ๊กซอว์ทางความคิดและนำเสนอต่อผู้อ่านอีกครั้ง
รถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน ยางล้อที่ผู้ใช้ไม่ต้องกังวลเรื่องหมดลม เพราะไม่ต้องใช้ลม การสัญจรแห่งอนาคต และมุมคิดของซีอีโอแบรนด์ยางรถยนต์ระดับโลก คือส่วนหนึ่งจากเค้กก้อนใหญ่ที่ถูกคัดเลือกมาเสิร์ฟผ่านบทความพิเศษชิ้นนี้
เคลื่อนที่ไปข้างหน้า เพื่อการสัญจรที่ดีกว่า
งาน Movin’ On 2019 จัดขึ้นในพื้นที่ที่แปลกไปจากปีก่อน พื้นที่ใหญ่ขึ้น แต่ก็ห่างไกลจากเมืองมากขึ้นด้วย เมื่อเดินสำรวจรอบๆ งานพบว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ายังเป็นสีสันที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นรถนั่งส่วนบุคคลธรรมดา ซูเปอร์คาร์ ไปจนถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่ ทุกวันนี้ทั่วโลกยังคงตั้งคำถามเรื่องความเป็นไปได้ของรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาแทนที่รถในรูปแบบที่ใช้กันอยู่ ทั้งการผลิตแบตเตอรี่ที่รองรับการใช้งาน ราคาของรถที่เป็นต้นทุนสำคัญ ตลอดจนสถานีชาร์จไฟที่ต้องลงทุนขนานใหญ่
มีบางธุรกิจที่มองข้ามแบตเตอรี่แบบเดิมๆ และตีโจทย์ล้ำหน้าของอนาคตด้วยไฟฟ้าที่กำเนิดจากพลังงานไฮโดรเจน
Symbio กิจการด้านพลังงานไฮโดรเจนสัญชาติฝรั่งเศส พัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงที่จ่ายกระแสไฟฟ้าได้แบบเดียวกับแบตเตอรี่ทั่วไปโดยใช้ไฮโดรเจนและออกซิเจนจากอากาศ ผ่านกระบวนการพิเศษจนทำให้ได้ไฟฟ้าออกมาพร้อมกับความร้อนและไอน้ำโดยไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม (Zero Emission) แต่อย่างใด โดยพลังงานที่ผลิตได้จะกักเก็บในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน รองรับทั้งกับรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
สิ่งที่น่าทึ่งกว่าความสะอาดของเทคโนโลยีคือระยะเวลาในการเติมไฮเดรเจนซึ่งใช้เพียง 5 นาทีเท่านั้นก็สามารถบรรจุเชื้อเพลิงได้เต็มถัง ก่อนที่ยานพาหนะจะวิ่งไปต่อได้อีกนับร้อยกิโลเมตร ถือเป็นการปิดช่องโหว่ที่สำคัญของรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารูปแบบที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการชาร์จไฟ หรืออย่างน้อย 30 นาทีสำหรับการชาร์จแบบเร่งด่วน และน่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำคัญของการสัญจรในโลกอนาคตที่แรงกดดันเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมกระชับพื้นที่ในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการยานยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ
อุปสรรคสำคัญคือการพัฒนาและผลิตเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ยังใช้เม็ดเงินมหาศาล ไม่นับรวมข้อจำกัดด้านกฎหมาย ภาษี แรงต้านจากอุตสาหกรรมใกล้เคียง และปัจจัยท้าทายอื่นๆ ซึ่ง Symbio เชื่อว่าภายในปี 2030 เทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถผลิตเพื่อการใช้งานโดยทั่วไปได้ โดยเกิดการประหยัดต่อขนาด สามารถนำเสนอด้วยต้นทุนที่ตลาดยอมรับ และเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ด้วยคุณประโยชน์ที่สำคัญคือการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น และสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน
โลกยังมีความหวังเสมอเมื่อมีใครสักคนฝันที่จะเปลี่ยนมันให้ดีขึ้น และพลังงานไฮโดรเจนก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น
นอกจากรถและพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนมอเตอร์แล้ว ยางรถยนต์คือสิ่งที่ทำให้การสัญจรเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เพียงเป็นสินค้าที่สะท้อนเทคโนโลยีขั้นสูงเท่านั้น แต่ยังมีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากการขนส่งผู้โดยสาร บรรทุกสินค้า และการเดินทางของประชาชนล้วนต้องใช้ยางล้อทั้งสิ้น หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเติบโต อุปสงค์ต่อสินค้าประเภทนี้ก็เพิ่มสูงตามไปด้วยสอดคล้องกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงในขณะนั้น
ยางรถยนต์จึงเป็นมากกว่ายางที่เราเข้าใจ
ไฮไลต์สำคัญของงาน Movin’ On 2019 คือการเปิดตัวยางต้นแบบเทคโนโลยีไร้ลม UPTIS (Unique Puncture-proof Tire System) ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากเป็นยางคอมโพสิตผสมไฟเบอร์กลาส มีความทนทานสูง ไม่ต้องใช้ลมยาง ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดเวลาของผู้ขับขี่ในการเติมลมยางแล้ว ยังลดปัญหาเวลาที่ล้อยางสัมผัสกับสิ่งแหลมคมหรือถูกตะปูตำ เนื่องจากยางรุ่นนี้จะไม่แตกหรือรั่วซึม ยางจึงยังคงทำงานได้ตามปกติ และสามารถวิ่งไปข้างหน้าได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
หากใช้งานไปสักพัก ผู้ใช้งานสามารถนำไปเติมดอกยางด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติได้ เพื่อให้ประสิทธิภาพของยางและสมรรถนะในการขับขี่ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงของเดิมที่สุด ยาง UPTIS รองรับการใช้งานทั้งรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งเป็นพาหนะที่มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในวันข้างหน้า สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสิ่งที่สำคัญคือการเชื่อมต่อของยางรถยนต์กับระบบของรถและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อรับส่งข้อมูลในยุคของอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of things – IOT) ด้วย
UPTIS พัฒนาโดยมิชลิน ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของโลก ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ในปี 2024 นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบร่วมกับรถยนต์ไฟฟ้า Chevrolet Bolt EV โดยความร่วมมือกับ General Motors และคาดว่าจะสามารถนำออกขายได้จริงภายในปี 2024 นี้ ถือเป็นสิ่งใหม่ที่จะมีผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการยานยนต์และบริการที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากไม่ต้องใช้ลมยาง และอายุการใช้งานนานกว่ายางทั่วไป ในอนาคตการ ‘เติมลมยาง’ อาจจะกลายเป็นกิจกรรมที่เด็กสมัยใหม่ไม่รู้จักก็เป็นได้
สินค้ามาและไป แต่ความคิดที่ดีอยู่เหนือกาลเวลา
นอกจากสินค้าและนวัตกรรมล้ำสมัยแล้ว THE STANDARD ยังได้พูดคุยกับ ฟลอรองต์ เมอเนโกซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมิชลินกรุ๊ป ถึงจุดยืนที่มีเสมอมาขององค์กรยักษ์ใหญ่แห่งนี้ รวมทั้งแผนธุรกิจที่สอดรับกับการสัญจรของโลกอนาคตด้วย
สร้างการสัญจรที่มากขึ้นและลดผลกระทบกับโลกใบนี้ลง
“แรงงานคนเป็นมากกว่าเครื่องจักรอยู่แล้ว เราคิดอยู่เสมอว่าคนของเราสามารถทำงานได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง ส่วนเราก็ช่วยพวกเขาให้ได้พัฒนาตนเองมากขึ้น การพัฒนาธุรกิจต้องเคารพสังคมที่คุณใช้ชีวิตอยู่ด้วย ตลาดประเทศไทยหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นพื้นที่ที่สำคัญมาก เรา (มิชลิน) เริ่มธุรกิจที่นี่จากความร่วมมือกับ SCG ถึงตอนนี้ที่เราบริหารจัดการด้วยตัวเอง เราก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอยู่
“เรามีโรงงานที่แหลมฉบัง พระประแดง และส่วนอื่นๆ ในประเทศไทย เราคำนึงเรื่องชุมชนโดยรอบโรงงานด้วย ตั้งแต่คุณภาพน้ำ คุณภาพชีวิตของผู้คน การจัดการกับของเสียจากการผลิต สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมของเราทั้งนั้น”
ฟลอรองต์เล่าให้ THE STANDARD ฟังว่ามิชลินเองก็ตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีไม่แพ้องค์กรอื่นๆ ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่มีได้จากทั่วทุกมุมโลก โจทย์ใหญ่ของผู้บริหารคือการคิดใหม่เพื่อการบริหารจัดการองค์กรและพัฒนาธุรกิจต่อไปได้ การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องพบกับความเสี่ยงอยู่เสมอ สิ่งที่ต้องทำคือยอมรับความเสี่ยงนั้นและหาวิธีจัดการกับมัน
ซีอีโอของมิชลินกรุ๊ปเน้นย้ำว่ายางรถยนต์ยังเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจอยู่เสมอ นอกจากนี้มิชลินยังได้พัฒนาธุรกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างธุรกิจพลังงานไฮโดรเจน การสร้างวัสดุโลหะจากเครื่องพิมพ์สามมิติ ซึ่งสามารถนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีไปใช้สร้างรายได้ใหม่ๆ ในอนาคตได้ เขาเชื่อว่าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และบทบาทของพลังงานไฮโดรเจนจะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมิชลินลงทุนในธุรกิจดังกล่าวมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว และเตรียมที่จะทำตลาดต่อไปในอนาคต
“เรา (มิชลิน) เชื่อว่าการสัญจรทำให้โลกก้าวหน้าไปได้ เพราะเชื่อมโยงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและโอกาสของผู้คน ที่ผ่านมาเมื่อเราเพิ่มปริมาณการสัญจรขึ้นก็จะเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย บางคนจึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราลดการสัญจรลงดีไหม เพื่อจะได้ลดผลกระทบดังกล่าวลง แต่เราคิดต่างออกไป เราควรจะเพิ่มการสัญจรที่ดีโดยลดผลกระทบให้น้อยลงมากกว่า (More mobility with less impact) จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีและการจัดการที่ดีขึ้นเพื่อทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น”
‘ยั่งยืน’ มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่าคำว่า ‘ยืนยาว’ อยู่พอสมควร
งาน Movin’ On จะยังจัดต่อเนื่องหมุนเวียนไปตามจุดต่างๆ ของโลก เทคโนโลยีใหม่ยังจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่นเดียวกับชีวิตที่ยังต้องเดินต่อไปข้างหน้า รถทุกคัน เมืองทุกเมือง ก้าวทุกก้าวของผู้คนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และนี่คือความประทับใจบางช่วงบางตอนที่ต้องการตอกย้ำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้โลกใบนี้ยังหมุนรอบตัวเองต่อไปได้อีกนานเท่านาน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: