วันนี้ (8 พฤษภาคม) พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงความผิดปกติของการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเมื่อวานนี้ (7 พฤษภาคม) ว่าตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งล่วงหน้า ผู้สมัครของพรรคก้าวไกลได้พบความผิดปกติในการทำงานของ กกต. เช่น บางหน่วยเลือกตั้งไม่มีรูปผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล หรือการส่งเอกสารแนะนำผู้สมัครไปที่บ้านของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบางเขตเลือกตั้งไม่มีรูปและหมายเลขแนะนำผู้สมัครพรรคก้าวไกล
ที่ผ่านมาเราคาดหวังว่า กกต. จะปรับปรุงการทำงานให้ไม่เกิดความผิดพลาดในวันเลือกตั้ง แต่สุดท้ายจากที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามากลับพบความผิดปกติจำนวนมากที่ไม่แน่ใจว่าเป็นการทุจริตหรือเป็นความผิดพลาดในการจัดการเลือกตั้งกันแน่ วันนี้จึงต้องตั้งคำถามและหวังให้ กกต. ชี้แจงต่อสาธารณะให้ชัดเจน
พิจารณ์กล่าวว่าความผิดปกติดังกล่าวมีหลักๆ 4 รูปแบบ ประกอบด้วย
- กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ไม่กรอกข้อมูลและตัวเลขหน้าซองใส่บัตรเลือกตั้ง บางคนกรอกเลขเขตเลือกตั้งผิด โดยซองเหล่านี้จะถูกส่งไปที่ศูนย์ของไปรษณีย์ ก่อนคัดแยกส่งไปตามแต่ละเขตเลือกตั้ง คำถามคือ ถ้าเจ้าหน้าที่กรอกเลขเขตเลือกตั้งผิดหรือกรอกไม่ครบ เจ้าหน้าที่จะส่งซองนั้นไปที่ไหน ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นความผิดพลาดในการออกแบบระบบที่ทำให้ กปน. แค่คนเดียวเปลี่ยนเลขแค่หลักเดียว ทำให้คะแนนของประชาชนอาจหายไปทันที หรือเลวร้ายกว่านั้นคือการไปเติมคะแนนให้พรรคอื่นที่ประชาชนไม่ได้ตั้งใจเลือก
- กกต. ไม่ติดรูปภาพและข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. ก้าวไกล หน้าหน่วยเลือกตั้ง โดยเขตที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือเขตเลือกตั้งที่ 1 และ 2 ของจังหวัดน่าน จึงต้องส่งเสียงดังๆ ไปถึง กกต. ว่าในวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม บนบอร์ดต้องมีแนะนำผู้สมัครของพรรคก้าวไกล อย่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ขอให้กำชับและสั่งการ กปน. ให้ตรวจสอบ เพราะการไม่มีชื่อและหมายเลข อาจทำให้ประชาชนสับสนและเข้าใจว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งดังกล่าว
- ความผิดปกติของจำนวนประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ในบางจังหวัดมีผู้ออกมาใช้สิทธิในสัดส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ และยังพบว่าผู้ที่ออกไปใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุซึ่งไม่ได้ทำงานอยู่ในจังหวัดอื่นที่แตกต่างจากทะเบียนบ้านของตัวเอง จึงต้องตั้งคำถามว่ามีอะไรเหตุผลทำให้ต้องออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า รวมถึงการใช้รถขนพี่น้องประชาชนไปหน่วยเลือกตั้ง ถือเป็นการซื้อเสียงผ่านการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือไม่ กกต. ต้องลงไปตรวจสอบ ทำงานเชิงรุกเพื่อตรวจจับการซื้อเสียง
- ประชาชนจำนวนไม่น้อยลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้ว แต่เมื่อไปตรวจสอบหน้าหน่วยเลือกตั้งกลับไม่พบชื่อของตัวเอง
พิจารณ์กล่าวว่า จากความผิดปกติทั้งหมดนี้ ขอให้ กกต. ออกมาชี้แจงรายละเอียดและแนวทางแก้ไขปัญหาว่า จะทำอย่างไรให้ผลการเลือกตั้งสามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ให้การลงคะแนนเป็นไปตามที่เขาตั้งใจออกมาใช้สิทธิ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด หาก กกต. ไม่สามารถชี้แจงได้ ตนและประชาชนจำนวนมากขอตั้งคำถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
“วันนี้ความนิยมของพรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากนโยบายและจากความชัดเจนในจุดยืนของผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคและของแคนดิเดตนายกฯ มาถึงวันนี้อาจกล่าวได้ว่าเลือกตั้งครั้งนี้เราไม่ได้แข่งกับใคร แต่กำลังแข่งกับการทำงานของ กกต. ว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม นำคะแนนเสียงและเจตนารมณ์ของประชาชนออกมาเป็นคะแนนที่ถูกต้องได้หรือไม่” พิจารณ์กล่าว
พิจารณ์กล่าวอีกว่า ขอฝากไปถึงผู้สนับสนุน หัวคะแนนธรรมชาติของพรรคก้าวไกลทุกคน อีกไม่กี่วันจะถึงวันเลือกตั้ง เรามีภารกิจสำคัญ 2 ประการร่วมกัน
ภารกิจที่หนึ่งคือ การขยายแนวคิด ช่วยบอกต่อคนในครอบครัว เพื่อนฝูง คนข้างบ้าน ว่าเพราะอะไรจึงอยากให้พรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาล ให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ภารกิจที่สองคือ ช่วยกันปกป้องคะแนนของพวกเรา เพราะชัยชนะในวันที่ 14 พฤษภาคม จะไม่ใช่ชัยชนะของพรรคก้าวไกลหรือของพิธา แต่เป็นชัยชนะของพี่น้องประชาชน โดยสามารถร่วมเป็นอาสาสมัครของหน่วยงานภาคประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์การนับคะแนนเลือกตั้งของ กกต. ได้